โฆษกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เผยวาระพรุ่งนี้อภิปรายทั่วไปเพื่อส่งข้อเสนอให้ กรธ. รวมถึงประเด็นยุทธศาสตร์ชาติ ด้านอดีต สปช.บุญเลิศ งงจู่ๆ จะประชุมร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พฤหัสนี้ ทั้งๆ ที่ไร้วี่แววชง แนะเอาข้อเสนอ สปช.มาพิจารณาก่อน เตือนส่อปฏิรูปสื่อล้มเหลว สับแก้ พ.ร.บ.คอมพ์ไม่ใช่หน้าที่ แถมไม่ใส่ใจคุ้มครองสิทธิวิชาชีพ
วันนี้ (5 ม.ค.) ที่รัฐสภา นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในฐานะโฆษก สปท. เปิดเผยว่า ในวันที่ 6 มกราคม เวลา 13.30 น.จะมีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) หนึ่งในวาระสำคัญคือจะเป็นการพิจารณากำหนดวันอภิปรายทั่วไปของ สปท.เพื่อส่งข้อเสนอไปยังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่าสมควรบรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับกรอบและแนวทางในการปฏิรูปประเทศที่จำเป็นต้องบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งประเด็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้วย ทั้งนี้ตามที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ได้สอบถามมาเมื่อปลายปี 2558
“เนื่องจากเป็นวาระเร่งด่วน อาจกำหนดให้มีการอภิปรายใน สปท.ในการประชุมวันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม เพิ่มเติมจากวาระปกติ หรืออย่างช้าไม่เกินการประชุมวันจันทร์ 11 มกราคม” นายคำนูณกล่าว
โฆษก สปท.กล่าวว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณได้เคยบัญญัติเนื้อหาเกี่ยวกับกรอบและแนวทางในการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ตกไปรวม 4 มาตราตั้งแต่มาตรา 264-267 โดยเป็นการทำงานร่วมกับคณะกรรมาธิการ 18 คณะของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่หมดวาระไปพร้อมกันเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2558 สปท.จะนำมาเป็นตัวอย่างประกอบการพิจารณาหรือไม่ วิปสปท.จะได้มีการหารือกันในการประชุมบ่ายวันพุธนี้
ด้านนายบุญเลิศ คชายุทธเดช อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านสื่อสารมวลชน เปิดเผยว่า มีความรู้สึกแปลกใจและมึนงงอย่างยิ่งที่อยู่ๆ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะประชุมพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 เรียกกันว่า กฎหมาย กสทช.ในวันที่ 8 มกราคมนี้ที่คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านสื่อสารมวลชน สปท.เสนอ เนื่องจากไม่มีวี่แววมาก่อน โดยหลักแล้ว สปท.ควรนำข้อเสนอของสปช.มาพิจารณา และก่อนจะเสนอแก้ไขร่างกฏหมาย ทางคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนฯ จะต้องประชุมกันแล้วเชิญผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาเสนอความเห็นและให้ข้อเสนอแนะ แต่คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนฯ ด้านสื่อฯ ไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด
นายบุญเลิศกล่าวว่า ได้อ่านแผนการปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชนที่เสนอโดยคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนฯ ของ สปท.ด้านการสื่อสารมวลชนแล้ว ไม่มั่นใจว่าการเปลี่ยนผ่านอย่างสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นกับระบบสื่อสารมวลได้ดังที่คาดหวัง เพราะดูเหมือนการขับเคลื่อนฯ กำลังเดินผิดทาง อาจนำไปสู่ความล้มเหลวในการปฏิรูปสื่อ นั่นคือ คณะกรรมาธิการของ สปท.แบ่งประเด็นการขับเคลื่อนการปฏิรูปสื่อฯ ออก 3 ประเภทสื่อ คือ 1. ด้านสื่อออนไลน์ 2. ด้านสื่อวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และด้านโทรคมนาคม 3. ด้านสื่อสิ่งพิมพ์ แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับของ สปช.ที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งแบ่งการปฏิรูปออกเป็น 3 ยุทธศาสตร์ คือ 1. เสรีภาพบนความรับผิดชอบ 2. การกำกับดูแลสื่อที่มีประสิทธิภาพ 3. การป้องกันการแทรกแซงสื่อ เปรียบเป็น 3 ฟันเฟืองที่ขบเกลียวเครื่องจักรเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปสื่อฯ ให้ก้าวรุดไปข้างหน้า
นายบุญเลิศกล่าวว่า แผนของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนฯ ด้านสื่อสารมวลชน สปท.ในด้านสื่อออนไลน์ได้ขยายประเด็นเกินเลยจากสื่อมวลชนไปครอบคลุมบุคคลทั่วไป ที่ใช้สื่อออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย โดยจะแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้ยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งไม่ใช่ภารกิจของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนฯ ด้านสื่อ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อสารมวลชนซึ่ง สปช.เคยให้ความสำคัญอย่างยิ่งและได้ยกร่าง พ.ร.บ.ไว้เรียบร้อยแล้ว ถือเป็นร่างกฏหมายหลักของการปฏิรูปสื่อฯ แต่กรรมาธิการขับเคลื่อนด้านสื่อฯ สปท.กลับเห็นเป็นเรื่องธรรมดา
“ผมไม่คาดหวังว่าการปฏิรูปสื่อฯ โดย สปท.จะสัมฤทธิผลโดยเร็ว ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อฯ และองค์กรสื่อฯ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคควรติดตามการทำงานของกรรมาธิการขับเคลื่อนฯ ด้านสื่อฯ ของ สปท.อย่างใกล้ชิด ร่วมกันแสดงความคิดเห็นเพื่อให้การปฏิรูปสื่อฯ ประสบความสำเร็จ เอื้อต่อการประกอบวิชาชีพของสื่อฯ ในยุคความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีการสื่อสาร ซึ่งธุรกิจสื่อต้องอยู่รอด มีมาตรฐานเพื่อประโยชน์ของประชาชน คนทำสื่อฯ ต้องมีจริยธรรม ได้รับการคุ้มครองด้านสวัสดิภาพและสวัสดิการ” นายบุญเลิศกล่าว