“พรเพชร” นำทีม สนช.ลงพื้นที่ จ.พะเยา เพื่อรับฟังปัญหาส่วนราชการ ขณะที่ กรธ.-สปท.ร่วมรับทราบความเห็นร่างรัฐธรรมนูญ “อภิชาต” ยันมีไม่เกิน 200 มาตรา หวังประชาชนผ่านประชามติ ขณะที่ “คำนูณ” มั่นใจปฏิรูปสำเร็จหลังมี 6 คกก.ขับเคลื่อนฯ ผลักดัน
ที่หอประชุมภูกามยาว ศาลากลาง จ.พะเยา เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ (19 ธ.ค.) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กว่า 30 คน นำโดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พร้อมด้วยนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 ลงพื้นที่ตามโครงการ สนช.พบปะประชาชน เพื่อหารือร่วมกับส่วนราชการต่างๆ โดยมีนายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการ จ.พะเยา และหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ให้การต้อนรับ พร้อมได้สะท้อนปัญหาในพื้นที่คือการพัฒนากว๊านพะเยา เนื่องจากขณะนี้มีความตื้นเขิน เก็บกักน้ำได้เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือไหลลงสู่แห่งน้ำอื่น จึงต้องการทำประตูกั้นน้ำเพื่อปัญหาภัยแล้ง เพราะขณะนี้น้ำจะสามารถใช้ได้ถึงเดือน เม.ย. 59 เท่านั้น ปัญหาการพัฒนาและการยกระดับจุดถาวรผ่านแดนบ้านฮวก ปัญหาการพัฒนาคมนาคม และโครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา
ทั้งนี้ยังมีแม่น้ำ 3 สาย คือ นายอภิชาต สุขัคคานนท์ รองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ คนที่ 2 เข้าร่วมรับฟังข้อคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ รวมทั้งนายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และนายจิรายุ นันท์ธราธร หัวหน้าผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมด้วย
นายอภิชาตกล่าวว่า ขณะนี้ได้ร่างรัฐธรรมนูญมา 2 เดือนเศษแล้ว โดยร่างไปได้ 250 มาตรา ทั้งที่ความตั้งใจเดิมจะทำให้สั้นกะทัดรัดไม่เกิน 200 มาตรา ดังนั้น ทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้นัดหมายกันในวันที่ 11-18 ม.ค.ประชุมหารือกัน7 วัน7คืน เพื่อปรับปรุงร่างแรกให้สั้นปรับปรุงร่างให้สั้นไม่เกิน 200 มาตรา รัฐธรรมนูญใหม่จะต้องรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งประชาชนหากมีความเห็นหรือต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นอย่างไรก็สามารถเสนอความคิดเห็นไปยัง กรธ.ได้ภายในเดือน ม.ค. 2559
นายอภิชาตกล่าวว่า รัฐธรรมนูญให้ความสำคัญกับประชาชน ถือเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน และจะทำให้การบริหารบ้านเมืองต่อไป กรอบการร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปตามความมุ่งหมายของ คสช.และเป็นที่ยอมรับของมาตรฐานสากล เป็นไปตามประเพณีวิถีชีวิตของคนไทย และป้องกันการเมืองแสวงหาผลประโยชน์ และขจัดการทุจริตประพฤติมิชอบให้ได้ผล
ทั้งนี้ ร่างรัฐธรรมนูญต้องทำเสร็จภายใน 4 เดือน ครั้งนี้ถือเป็นการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 2 ก็ไม่อยากให้เกิดปัญหา จึงขอฝากพี่น้องประชาชนช่วยลงประชามติด้วย
ด้านนายคำนูญกล่าวว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน จำนวน 6 คณะ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และรองนายกรัฐมนตรีทั้ง 6 คนเป็นรองประธานแต่ละคณะนั้น จะนำแผนการปฏิรูปของ สปท.มาพิจารณาว่า ส่วนใดที่จะดำเนินการได้อย่างไร หากเป็นเรื่องกฎหมายก็จะมีการร่างกฎหมายเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. แต่ถ้าเป็นเรื่องอำนาจของ ครม.ก็จะส่งต่อไปยัง ครม.ดำเนินการหรือหากจำเป็นต้องใช้มาตรา 44 ก็ต้องให้นายกฯ สั่งการ ซึ่งภายในปี 60 ทั้งประชาชน ข้าราชการระดับส่วนกลางและจังหวัดต้องรับรู้ถึงแผนการปฏิรูปทั้งหมดเพื่อดำเนินการปฏิรูปประเทศก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไป เพื่อเป็นหลักประกันว่า หลังการเลือกตั้งรัฐบาลที่เข้ามาต้องเดินตามแผนปฏิรูปประเทศเพื่อไม่ให้บ้านเมืองกลับไปสู่ความขัดแย้งเหมือนเดิม