คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชี้แจงสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลดสถานะ กังวลกระบวนการการสรรหาและการแต่งตั้ง กสม. ของไทย การจัดทำรายงานสถานการณ์ทางด้านสิทธิมนุษยชนล่าช้า และร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ถูกคว่ำ เชื่อ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเผยร่างแรก ถือว่าก้าวหน้า และยังคงเดินหน้าปฏิบัติหน้าที่
วันนี้ (4 ก.พ.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงชี้แจงทำความเข้าใจกรณีสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ ICC ลดสถานะของ กสม. ระบุว่า เหตุผลที่คณะอนุกรรมการประเมินสถานะของ ICC หรือที่เรียกว่า คณะอนุกรรมการ SCA มีข้อเสนอแนะให้ลดระดับสถานะของ กสม. เนื่องมาจากความกังวลใน 3 ประเด็น ประเด็นแรก เป็นเรื่องกระบวนการการสรรหาและการแต่งตั้ง กสม. ซึ่ง SCA เห็นว่า บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องขาดหลักประกันการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในกระบวนการสรรหาและการได้มาซึ่งกรรมการสิทธิมนุษยชนที่มีความหลากหลาย โดยคำนึงถึงคุณสมบัติของผู้สมัครเป็นสำคัญ
ประเด็นที่สอง ได้แก่ การจัดทำรายงานสถานการณ์ทางด้านสิทธิมนุษยชนล่าช้า ซึ่งรวมถึงรายงานการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 และในช่วงระหว่างปลายปี 2556 ถึงกลางปี 2557 และประเด็นสุดท้าย ได้แก่มีการขาดบทบัญญัติที่ชัดเจนในกฎหมายเพื่อให้ความคุ้มกันจากการถูกดำเนินคดีทางกฎหมายในกรณีการทำหน้าที่โดยสุจริตและเป็นการปฏิบัติงานตามหน้าที่ ซึ่งถือเป็นหลักประกันกันความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของ กสม.
โดยในช่วงระยะเวลา 1 ปีภายหลัง ต.ค. 2557 ซึ่งคณะอนุกรรมการ SCA ได้เปิดโอกาสให้ กสม. ชี้แจงความคืบหน้าและข้อมูลเพิ่มเติม กสม. ได้พยายามดำเนินการในประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นข้อห่วงกังวลของ SCA ข้างต้นมาโดยตลอด โดยได้เร่งรัดการจัดทำรายงานการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2556 - 2557 จนแล้วเสร็จเมื่อ ส.ค. 2558
ส่วนการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับกระบวนการสรรหาและแต่งตั้งและการให้ความคุ้มกันแก่ กสม. ในการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตนั้น กสม. ได้มีการชี้แจงและให้ข้อเสนอแนะในประเด็นดังกล่าวไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญที่เริ่มมาตั้งแต่ พ.ย. 2557 อย่างต่อเนื่องในหลายโอกาส อย่างไรก็ดี การดำเนินการของ กสม. ในเรื่องนี้ยังไม่มีผลเป็นรูปธรรม เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (ชุดแรก) ไม่ผ่านการรับรองของสภาปฏิรูปแห่งชาติ
อย่างไรก็ตาม เมื่อครบกำหนดเวลา 1 ปี ที่คณะอนุกรรมการ SCA ให้เวลา กสม. ในการชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม กสม. ชุดปัจจุบัน ซึ่งเข้ารับหน้าที่เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2558 นอกจากจะได้เข้าพบกับประธานกรรมการ และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อชี้แจงความจำเป็นในการปรับปรุงรัฐธรรมนูญ และกฎหมายภายในของไทย ตามข้อห่วงกังวลของ SCA แล้ว ยังได้เสนอหาแนวทางที่จะให้มีการออกกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาในประเด็นดังกล่าว ที่จะมีผลในทันที ในระหว่างที่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังไม่แล้วเสร็จด้วย
โดยได้เสนอให้มีการปรับเพิ่มผู้แทนจากองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนและสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนด้านสิทธิมนุษยชนในองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาเดิมตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 และเพิ่มบทบัญญัติเรื่องความคุ้มกันการปฏิบัติหน้าที่ของ กสม. ในทำนองเดียวกับที่ปรากฏในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 และ กสม. ได้ชี้แจงการดำเนินการของ กสม. ในเรื่องนี้ไปยังประธาน ICC เพื่อพิจารณาเพิ่มเติม แต่การชี้แจงดังกล่าวก็ไม่มีผลต่อลดสถานะของ กสม. โดย ICC ตามข้อเสนอแนะของ SCA
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ ICC ได้ตัดสินใจลดสถานะของ กสม. แล้ว คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกต่อสาธารณชนเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2559 โดยบทบัญญัติที่เกี่ยวกับ กสม. ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้กำหนดให้ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนมีส่วนร่วมในการสรรหา กสม. ด้วยดังปรากฏในร่างมาตรา 242 วรรคสาม ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางที่ กสม. ได้เสนอไปยังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้และนับเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญ
ทั้งนี้ แม้ กสม. จะถูกลดสถานะโดย ICC จาก “เอ” เป็น “บี” แต่ กสม. จะยังคงดำเนินการเพื่อให้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่และการดำเนินงานของ กสม. ที่จะประกาศใช้ในอนาคตมีความสอดคล้องกับหลักการปารีสในประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นข้อห่วงกังวลของ SCA และแม้ว่าการถูกปรับลดสถานะอาจส่งผลกระทบต่อสถานะและบทบาทของ กสม. ในเวทีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอยู่บ้าง แต่ กสม. จะยังคงปฏิบัติหน้าที่เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่ต่อไป ทั้งการดำเนินงานในประเทศเพื่อให้ทุกภาคส่วนในสังคมไทยเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการเคารพสิทธิมนุษยชน ตลอดจนดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้ได้รับการเยียวยาอย่างเป็นธรรม และการดำเนินความร่วมมือกับสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศต่างๆ ในกรอบ ICC ซึ่งเป็นเครือข่ายสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในระดับสากล กรอบความร่วมมือในระดับภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก และระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงการร่วมมือกับกลไกด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ อาทิ การเสนอรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามกระบวนการ UPR และต่อคณะกรรมการประจำสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนฉบับต่าง ๆ ที่ประเทศไทยเป็นภาคี