xs
xsm
sm
md
lg

กสม.ร่ายยาวผลงาน 6 ปี ชี้สังคม-สื่อยังเข้าใจบทบาทผิด “หมอนิรันดร์” แนะบทเรียนอย่าใช้การทหารแก้การเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรรมการสิทธิฯ แถลงส่งท้าย 6 ปี การทำงาน ชี้สังคม-สื่อยังเข้าใจผิดบทบาทกรรมการสิทธิฯ ด้าน “หมอนิรันดร์” แนะถอดบทเรียนความขัดแย้ง อย่าใช้การทหารแก้การเมือง หวั่นปัญหาบานปลาย เปิดรายงานผลสรุปตรวจสอบการชุมนุม กปปส. ระบุแม้ภาพรวมจะเป็นการชุมนุมโดยสงบในกรอบรัฐธรรมนูญปี 50 แต่ชี้บางกิจกรรมกระทบสิทธิเสรีภาพบุคคล แกนนำไม่สามารถควบคุมผู้ชุมนุมที่ก่อความรุนแรงได้ ชงข้อเสนอรัฐ แนะอย่าใช้กฎหมายความมั่นคงต่างๆ คุมสถานการณ์ เหตุไม่มีประสิทธิภาพ

วันนี้ (16 พ.ย.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นำโดยนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธาน กสม. ร่วมกันแถลงผลการดำเนินงานตลอด 6 ปี ของ กสม. ชุดที่ 2 ว่า ในส่วนการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียน นับแต่คณะกรรมการชุดนี้เข้ามารับหน้าที่เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2552 มีคำร้องค้างการพิจารณาจากคณะกรรมการชุดแล้ว 1,563 คำร้อง ทำเสร็จสิ้น 1,555 คำร้อง และระหว่างเข้ารับหน้าที่เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2552 - 30 ก.ย. 2558 มีคำร้องยื่นเข้ามาจำนวน 4,143 คำร้อง ทำเสร็จ 3,185 คำร้อง ทำให้เหลือคำร้องที่จะส่งต่อให้ กสม. ชุดใหม่ 958 คำร้อง อย่างไรก็ตาม การทำหน้าที่ที่ผ่านมาคิดว่าสังคม และสื่อมวลชนไม่ค่อยเข้าใจในอำนาจหน้าที่ของกรรมการสิทธิฯ มีทั้งชื่นชมติติงก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็อดน้อยใจไม่ได้ บางครั้งเข้าใจอำนาจหน้าที่เราผิด ได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน แต่ก็วิพากษ์วิจารณ์เรา จึงอยากให้ก่อนนำเสนอหรือวิจารณ์ได้มีการตรวจสอบข้อมูลก่อน ส่วนในเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ก็ไม่ขอเปรียบเทียบผลงานระหว่างชุดที่ 1 กับชุดที่ 2 ว่าชุดไหนดีกว่ากัน และในขณะที่กำลังมีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็อยากให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้พิจารณาในเรื่องอำนาจหน้าที่ โดยให้กรรมการสิทธิฯ สามารถหยิบยกกฎหมายที่เห็นว่าขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนขึ้นมาพิจารณาและฟ้องต่อศาลให้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าวได้ โดยไม่ต้องมีผู้ร้องเหมือนเช่นปัจจุบัน

ทั้งนี้ นางอมรายังกล่าวถึงกรณีองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับสากล หรือ ICC กำลังจะมีการประชุม และจะพิจารณาประเมินระดับการทำงานของ กสม.ไทย ว่าก่อนหน้านี้ที่ ICC มีการปรับลดระดับ กสม. จากเกรดเอมาเป็นเกรดบี มาจากการที่เขาได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งเมื่อทางไทยมีการแก้ไขไปเขาก็รับ ที่เหลือเป็นประเด็นอยู่มีอยู่ 2 เรื่อง คือ เรื่องพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และการสรรหากรรมการสิทธิฯ ซึ่งทั้งสองเรื่องอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของ กสม. ดังนั้น เรื่องไทยจะถูกปรับลดเกรดอีกหรือไม่ ก็อยู่ที่รัฐบาล

ขณะที่ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กสม. ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กล่าวว่า กสม.ได้เข้าไปตรวจสอบการชุมนุมทางการเมืองและการใช้ความรุนแรงทางการเมือง 2 ครั้ง คือปี 2553 และปี 2556-2557 มีข้อสรุปว่า การชุมนุมทั้ง 2 ครั้ง มีปัญหาเรื่องสิทธิการรับรู้ความจริง และการยอมรับความจริงร่วมกัน แม้ว่าจะมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างประเทศเข้ามา แต่ยังไม่มีการถอดบทเรียนจากเหตุการณ์อย่างแท้จริง ต้องมีการจัดการการชุมนุมหรือความขัดแย้งอย่างเหมาะสม และไม่ควรใช้กฎหมายที่รุนแรงทั้งกฎอัยการศึก, พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน, พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง หากแก้ปัญหาด้วยการทหาร ยิ่งทำให้ปัญหาขยายตัวเหมือน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้จะต้องมีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบต่อการชุมนุมอย่างเหมาะสมตามหลักกฎหมาย รวมทั้งต้องสรุปบทเรียนว่า การที่จะทำให้ประเทศไทยไม่ตกหลุมความขัดแย้ง จำเป็นต้องคิดถึงปัญหาต้นตอ เพราะประเทศไทยติดกับดักบ้านเมือง ต้องการปฏิรูป ซึ่งมองไม่เห็นเค้างลางการการปฏิรูปประเทศไทยจะเกิดขึ้นจริง

นพ.นิรันดร์กล่าวอีกว่า ระยะ 1 ปีเศษที่ผ่านมามีปัญหาการละเเมิดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ภายใต้สถานการณ์รัฐประหาร ต้องยอมรับว่าภายใต้กฎอัยการศึกแม้จะยกเลิกไปแล้ว สังคมไทยยังมีปัญหาด้านเสรีภาพในการแสดงความเห็น เช่น เสรีภาพของสื่อ และนักวิชาการ เป็นต้น แม้กระทั่งการที่ประชาชนอยากมีส่วนร่วมปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ เช่น ปัญหาปฏิรูปพลังงาน การจัดการทรัพยากร ก็ถูกสกัดกั้น ถูกมองว่าทำลายความสงบสุข ในความเป็นจริงเป็นสิทธิของพลเมือง

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการแถลงข่าวครั้งนี้ กสม.ยังได้มีการแจกหนังสือรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดที่ 2 ที่ภายในจะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนทั้งการตรวจสอบ ส่งเสริม ซึ่งที่น่าสนใจคือในบทที่ 3 การดำเนินงานของ กสม. ต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่มีผลกระทบในวงกว้าง โดยเป็นการระบุผลการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนต่อกรณีการชุมนุมทางการเมืองทั้งของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อเดือน มี.ค.-พ.ค. 2553 ที่ได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะไปก่อนหน้านี้แล้ว และมีการตรวจสอบกรณีเสรีภาพในการชุมนุมที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย สิทธิในทรัพย์สิน สิทธิการเลือกตั้ง และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในระหว่างการชุมนุมทางการเมือง เดือน ก.ค. 2556 - พ.ค. 2557 หรือที่เรียกว่าการชุมนุมของ กลุ่ม กปปส. ซึ่งในรายงานนอกจากจะมีการสุรปสถานการณ์การชุมนุม การดำเนินการของ กสม. ต่อกรณีดังกล่าว ยังมีการสรุปบทเรียนและมีข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย

โดย กสม.เห็นว่า การชุมนุมของ กปปส. และกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอื่นๆ ในภาพรวมจะเป็นการใช้เสรีภาพที่เป็นไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญ แต่ยังปรากฏว่า มีการดำเนินกิจกรรมบางอย่างที่ส่งผลกระทบต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น อาทิ กิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดขวางไม่ให้มีการเลือกตั้ง การปิดล้อมสถานที่รับสมัคร ส.ส. รวมถึงการปฏิบัติการปิดกรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมในที่สาธารณะที่เกินความจำเป็น ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของุบคคลอื่น และพบว่า มีการทำลายทรัพย์สิน การใช้สิ่งเทียมอาวุธ โดยแกนนำไม่สามารถควบคุมผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ที่ก่อความรุนแรงได้ หรือผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ที่เห็นความรุนแรงเกิดขึ้นจากการกระทำของผู้ชุมนุมบางกลุ่ม แต่ก็ไม่มีการห้ามปราม และมีท่าทีสนับสนุนการกระทำนั้น อาทิ การชุมนุมที่บริเวณสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง เป็นต้น ก็ถือได้ว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ และไม่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ส่วนการชุมนุมที่ปรากฏภาพการใช้ความรุนแรงอันเกิดจากพฤติกรรมของผู้ชุมนุมเพียงบางคนนั้น ถือได้ว่าเป็นกระทำความผิดตามกฎหมาย ตามลักษณะฐานความผิดทีได้กระทำเป็นเฉพาะราย ไม่ส่งผลต่อการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ที่ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

โดยจากกรณีนี้ กสม.มีข้อเสนอเชิงนโยบายไปยังรัฐบาล คือ รัฐต้องดูแลการชุมนุมให้เป็นไปอย่างสงบ ป้องกันไม่ให้กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกฝ่าย โดยคำนึงถึงกรอบแห่งกฎหมาย มาตรฐานสากล และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ และมีหน้าที่ในการตรากฎหมาย บังคับใช้และตีความกฎหมายเพื่อให้การค้มครองบุคคลจากการใช้สิทธิเและเสรีภาพนั้น ควรหลีกเลี่ยงการประกาศใช้กฎหมายพิเศษทั้งประกาศกฎอัยการศึก, พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน, พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม เพราะไม่สามารถเป็นเครื่องมือในการดูแลสถานการณ์ชุมนุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีมาตรการ กฎหมายที่เหมาะสม หรือกลไกเฉพาะเพื่อดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม มีหน่วยงานรับผิดเป็นการเฉพาะซึ่งต้องมีแผนปฏิบัติการ ขั้นตอนการปฏิบัติและเจ้าหน้าที่ที่มีทักษะในการทำงาน และรัฐโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงและติดตามผู้กระทำผิด ไม่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ชุมนุม หรือบุคคลอื่น มาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม และการสลายการชุมนุมของตำรวจที่ผ่านมายังไม่สอดคล้องกับหลักสากลในการสลายชุมนุม ขณะที่ผู้จัดการชุมนุมและผู้ร่วมชุมนุมจะต้องสร้างเจตจำนงร่วมในการชุมนุม ภายใต้หลักการรัฐธรรมนูญ ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ และผู้ร่วมชุมนุมต้องใช้เสรีภาพเท่าที่ไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น





เผยเหตุม็อบโรงพักถลางบานปลาย! กำลังน้อย เมา อาวุธเกลื่อน ไม่ให้เจ็บ-ตายเพิ่ม
เผยเหตุม็อบโรงพักถลางบานปลาย! กำลังน้อย เมา อาวุธเกลื่อน ไม่ให้เจ็บ-ตายเพิ่ม
ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ผู้ว่าฯ ภูเก็ต เปิดแถลงข่าวสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว หลังเกิดม็อบรุนแรงหน้าโรงพักถลาง เตรียมรื้อระบบการดูแลความปลอดภัย ตั้งคณะทำงานถอดบทเรียนจากเหตุม็อบเสนอรัฐบาลปรับปรุงทั้งระบบ เผยเหตุค้างคาใจปล่อยจนเกิดจลาจลเพราะกำลังไม่พอ ม็อบมึนเมา มีอาวุธ ไม่ต้องการให้เกิดความสูญเสียเพิ่ม ทำได้แค่รักษาฐานที่มั่น รอกำลังเสริมจากนอกจังหวัด ผู้ว่าฯ ลั่นหลังจากนี้เอาจริงใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดต่อทุกม็อบ เมื่อเวลา 14.00 น.วันนี้ (12 ต.ค.) ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายโชคดี อมรรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ร่วมกันแถลงข่าว การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวเรื่องความปลอดภัย ภายหลังเกิดเหตุการณ์ม็อบที่บริเวณหน้าสถานีตำรวจถลาง จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนจากตำรวจ ทหาร เข้าร่วม เพื่อสร้างความเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น