xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ลุยลดอุบัติเหตุทั้งปี สั่งทุกจังหวัดหา 5 จุดเสี่ยงเร่งแก้ปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. เดินหน้าลดอุบัติเหตุจราจร หันรณรงค์ตลอดปี เพิ่มจากรณรงค์แค่ช่วงเทศกาลปีใหม่ - สงกรานต์ มอบทุกจังหวัดหา 5 จุดเสี่ยงทุกไตรมาส เสนอ ศปถ. แก้ปัญหาในพื้นที่ ประเมินผลทำงานทุก 3 เดือน ชู “ด่านชุมชน” ช่วยลดอุบัติเหตุเจ็บตายได้

วันนี้ (5 พ.ย.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าว “อุบัติเหตุป้องกันได้” ว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรปีละกว่า 22,000 ราย สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยมีผู้บาดเจ็บต้องเข้ารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกปีละกว่า 1 ล้านราย บาดเจ็บรุนแรงต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลปีละกว่าแสนราย จำนวนนี้เกิดความพิการถึงร้อยละ 4.6 ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายกรัฐมนตรีก็ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องเจ็บตายจากอุบัติเหตุ โดยเฉพาะเรื่องรถทัวร์ต้องมีความปลอดภัย เช่น ตัวรถต้องมีการติดจีพีเอสทุกคัน คนขับรถต้องหยุดพักรถทุก 8 ชั่วโมง โดยขณะนี้รัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม และ สธ. ก็พร้อมร่วมมือกันแก้ปัญหาเต็มที่ รวมถึงบูรณาการทำงานร่วมกับชุมชน

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ในส่วนของ สธ. ได้กำหนดเรื่องอุบัติเหตุจราจรเป็นวาระสำคัญ และปรับแผนการรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุจราจรจากทุกเทศกาล เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ เป็นต้น มาเป็นการรณรงค์ตลอดทั้งปี โดยให้ทุกจังหวัดวิเคราะห์ข้อมูลทางระบาดวิทยา หาจุดเสี่ยงอันตรายในพื้นที่อย่างน้อยจังหวัดละ 5 จุดทุกไตรมาส รวม 385 จุดทั่วประเทศ เพื่อเสนอต่อศูนย์ความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) และหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การวางแผนแก้ปัญหาร่วมกันในพื้นที่ เช่น เพิ่มไฟส่องสว่างในถนนที่มืด ติดไฟเตือนบริเวณทางร่วมทางแยก การปิดจุดกลับรถ เป็นต้น โดยจะประเมินผลการทำงานทุก 3 เดือน นอกจากนี้ ช่วงเทศกาลจะเสนอให้หน่วยงานในพื้นที่เพิ่มมาตรการด่านชุมชนในกว่า 7,000 ตำบลทั่วประเทศ เพื่อสกัดกั้นผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น เมา ไม่สวมหมวกนิรภัย เป็นต้น ไม่ให้ออกสู่ถนนใหญ่ ซึ่งพบว่าด่านชุมชนจะช่วยลดอุบัติเหตุได้มาก

“การทำงานจะใช้กลยุทธ์ 5 ส. คือ บูรณาการข้อมูล “สารสนเทศ” เกี่ยวกับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาวิเคราะห์สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยง โดยชี้ “จุดเสี่ยง” อันตรายที่ได้จากการวิเคราะห์ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของ “สหวิชาชีพ” ใช้ทรัพยากรในพื้นที่แก่ปัญหาอย่าง “สุดคุ้ม” และดำเนินงานอย่างมี “ส่วนร่วม” ของประชาชน ชุมชน หน่วยงานในพื้นที่” รมว.สธ. กล่าว

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. กล่าวว่า การดำเนินการลดการบาดเจ็บ เสียชีวิต และพิการจากอุบัติเหตุจราจร สธ. วางแผน 4 ด้าน คือ 1. ระบบข้อมูล ที่บูรณาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเสนอต่อ ศปถ. 2. การป้องกัน ทั้งแก้ไขจุดเสี่ยง การบังคับใช้กฎหมาย ได้แก่ สวมหมวกนิรภัย เมาไม่ขับ ไม่ขับรถเร็ว คาดเข็มขัดนิรภัย เป็นต้น มาตรการองค์กร และด่านชุมชน 3. การรักษาพยาบาล จะเพิ่มคุณภาพห้องฉุกเฉิน เปิดช่องทางด่วนรองรับผู้บาดเจ็บ เพิ่มคุณภาพงานการแพทย์ฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุให้ได้มาตรฐาน และ 4. การบริหารจัดการ โดยเปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับกระทรวง และระบบบัญชาการในภาวะฉุกเฉินระดับโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป

จากการถอดบทเรียนในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ปี 2558 ที่มีการตั้งด่านชุมชน 206 ด่าน พบว่า ช่วยสกัดไม่ให้ผู้ที่เมาแล้วขับอออกสู่ถนนใหญ่ และตักเตือนผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ไม่สวมหมวกนิรภัย ขับรถเร็ว ทำให้ลดการเสียชีวิตและบาดเจ็บได้ร้อยละ 82 ลดผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลได้ร้อยละ 77 ยกตัวอย่าง จ.นครราชสีมา ในช่วงปีใหม่และสงกรานต์นั้น พบว่า การตั้งด่านชุมชนช่วยลดอุบัติเหตุจาก 109 ครั้งในปี 2557 ลดเหลือ 68 ครั้งในปี 2558 และผู้บาดเจ็บจาก 123 คนในปี 2557 ลดเหลือ 21 คนในปี 2558 ” ปลัด สธ. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น