กสม. เข้าเสนอความเห็นต่อ กรธ. ฝากแก้กฎหมายให้สอดคล้องและเชื่อมโยงจากภาคประชาสังคม พร้อมให้ความคุ้มครองการรับผิดทางแพ่งและอาญา ด้านที่ประชุม กรธ. เปิดโอกาสให้ตรวจสอบกฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 5 วันก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี นำขึ้นทูลเกล้าฯ ใช้ ส.ส. และ ส.ว. เข้าชื่อให้ได้ 1 ใน 10 ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย อีกด้านให้ ส.ส. ตั้งกระทู้ถามได้ แต่กำหนดให้บางเรื่องนายกฯ ต้องตอบด้วยตัวเอง ปฏิเสธหารือเพิ่มมาตรการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินญาตินักการเมือง
วันนี้ (14 ธ.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 13.30 น. มีการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยมี นายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธาน กรธ. เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณาเรื่องคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จาก กสม. ทั้ง 7 คน นำโดยนายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม. ได้เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะต่อการร่างรัฐธรรมนูญ
โดย นายวัส กล่าวว่า ขอฝากประเด็นให้ที่ประชุม กรธ. พิจารณากรณีที่องค์กรสิทธิมนุษยชนระดับสากล (ICC) ลดเกรดของ กสม. ไทย จากระดับเอ เป็นบี จากการพิจารณาพบว่า มี 3 สาเหตุสำคัญของการลดเกรด คือ 1. กรรมการสรรหา กสม. ขาดกรรมการที่มาจากภาคองค์กรพัฒนาเอกชน หรือภาคประชาชน ดังนั้น หากแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องและเชื่อมโยงจากภาคประชาสังคม เชื่อว่า กสม. ไทย จะพ้นจากการลดเกรดดังกล่าวได้
2. กรณีกฎหมายที่เกี่ยวกับ กสม. ไม่ให้ความคุ้มครองการรับผิดทางเพ่งและอาญาต่อกรณีทำหน้าที่อย่างสุจริต ซึ่งไอซีซีพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่สอดคล้องกับกติกาของไอซีซีและหลักการปารีส ซึ่งตนมองว่าหากปรับกฎหมายให้มีเนื้อหาดังกล่าวเชื่อว่าจะไม่ถูกลดเกรด และ 3. การทำรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนประจำปีที่ล่าช้า โดยกรณีดังกล่าว กสม. ชุดใหม่จะวางแผนต่อการทำรายงานตั้งแต่ต้นปี เพื่อให้การทำรายงานดังกล่าวเสร็จทันกำหนดเวลาและไม่ล่าช้า
ต่อมาเวลา 15.00 น. นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. แถลงว่า กรธ. ได้กำหนดหลักการกระบวนการควบคุมการตรากฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้เมื่อร่างกฎหมายใดที่ผ่านการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติแล้วจะต้องทิ้งไว้ 5 วันก่อนส่งให้ ครม. นำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมาย เพื่อเปิดโอกาสให้ตรวจสอบว่าร่างกฎหมายดังกล่าวมีถ้อยคำที่ขัดแย้ง หรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ก่อน โดยกระบวนการเกี่ยวกับการตรวจสอบดังกล่าวจะกำหนดให้ ส.ส. และ ส.ว. เข้าชื่อให้ได้ 1 ใน 10 เพื่อยื่นให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายฉบับนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่
นอกจากนี้ ในเรื่องของการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ผ่านการให้ฝ่ายนิติบัญญัติตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี กรธ. ยังกำหนดให้ ส.ส. สามารถตั้งกระทู้ถามได้ ทั้งการทำเป็นหนังสือ และวาจาเหมือนปกติ แต่เตรียมจะกำหนดแนวทางใหม่ขึ้นมา คือ การกำหนดไว้กระทู้ถามประเภทใดบ้างจะเป็นกระทู้ถามที่นายกฯ จะต้องมาตอบด้วยตัวเอง เนื่องจากที่ผ่านมามักจะเกิดกรณีที่นายกฯ ไม่ได้มาตอบกระทู้สำคัญบางเรื่องด้วยตัวเองแต่มอบหมายให้คนอื่นมาตอบแทน โดยหลักการเกี่ยวกับประเภทของกระทู้อาจให้ไปกำหนดรายละเอียดไว้ในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ซึ่งคณะ กรธ. จะกำหนดเฉพาะหลักการเท่านั้น
นายอุดม กล่าวว่า สำหรับกรณีที่มีการเผยแพร่ในสื่อมวลชนว่า คณะ กรธ. จะเพิ่มมาตรการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของญาติผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยืนยันว่า กรธ. ยังไม่มีการหารือกันในเรื่องนี้ เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของ กรธ. บางคนที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเท่านั้น