xs
xsm
sm
md
lg

ขาป่วนส่อหนาว คสช.งัดยาแรงถอนประกัน-ออก กม.ห้ามปลุกระดม !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา

“ใช้ความคิดเห็นดูถูก เหยียบย่ำผมเนี่ยนะ ด่ารัฐบาลทุกวันผิดหรือเปล่า ไม่ใช่เรื่องของผม ผมไม่ต้องสั่ง คสช. ฝ่ายกฎหมายเขาดูอยู่ ผิดก็ดำเนินการตามกฎหมาย เพราะกฎหมายได้ประกาศไว้ก่อนแล้ว ถ้าเขาด่าสื่อแบบนี้โกรธไหม แล้วผมไม่มีสิทธิปกป้องตัวผมเองหรือไง คุณก็เข้าข้างไอ้คนอย่างนี้อยู่ได้ ดูถูกดูแคลนคนทุกคน ตัวเองทำความผิดคดีความอยู่ ถ้าทำมาก ๆ เดี๋ยวเขาก็หมั่นไส้เอาอีก ถอนประกันอีกก็วุ่นอีก แล้วคุณจะไปเป็นเครื่องมือให้เขาหรืออย่างไร”

คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวถึง จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ที่ถูกทหารเรียกไปรายงานตัวเมื่อสองสามวันก่อน หลังจากออกมาวิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างเผ็ดร้อน

จากคำพูดข้างต้นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดังกล่าวย้อนสะท้อนให้เห็นท่าทีบางอย่างออกมาให้เห็นชัดเจน โดยเฉพาะท่าทีที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาก่อนมีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่นานนัก เนื่องจากหากกำหนดเวลาตามโรดแมปไม่เปลี่ยนแปลง การลงประชามติจะเกิดขึ้นในเดือนเมษายนปีนี้

ดังนั้น หากนับช่วงเวลาก็ต้องบอกว่านับจากนี้เป็นต้นไป มันสำคัญชี้ไปถึงอนาคตของใครหลายคนกันเลยทีเดียว สิ่งไหนที่พอควบคุมได้ก็ต้องรีบจัดการดสียก่อน ประเภทตัดไฟตั้งแต่ต้นลมอะไรประมาณนั้น อีกทั้งหากเป็นการย้อนดูจากประวัติศาสตร์การเมืองเก่า ๆ ช่วงเวลาแบบนี้แหละที่เป็นช่วงพัฒนาขยายวงออกไปได้เรื่อย ๆ ถ้าไม่มีการขีดวงจำกัดขอบเขตเอาไว้ก่อน

ถ้าย้อนกลับไปพิจารณาเทียบเคียงเหตุการณ์กันแบบเดียวกันหรือไม่ก็ใกล้เคียงที่สุดก็ต้องยกตัวอย่างกรณีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ในยุคของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และเป็นยุครัฐบาล ที่มี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในตอนนั้นถ้าพิจารณาจากบรรยากาศทางลึกก็จะพบว่า “หมิ่นเหม่” อย่างยิ่งว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นจะไม่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน เพราะ คมช. ในยุคคนั้นดันดัจริตคิดไปว่าเป็นประชาธิปไตย ปล่อยให้พวกหัวโจกคนเสื้อแดงลูกน้องของ ทักษิณ ชินวัตร ก่อหวอดปลุกระดมมาอย่างต่อเนื่อง ปล่อยเสรีให้ตั้งวงบิดเบือนกันได้ทุกวัน

แน่นอนว่า เหตุผลที่ยกขึ้นมาอ้างอิงก็ต้องหนีไม่พ้นเรื่องประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ความหมาย “แผ่นเสียงตกร่อง” ก็ไม่ได้แตกต่างจากการโจมตีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แต่อย่างใด คนพวกนี้ก็ยังเรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ที่ตัวเองได้ประโยชน์สามารถผูกขาดอำนาจให้นำมาปัดฝุ่นใช้ใหม่อยู่ตลอดเวลา ขณะที่อีกฝ่าย คือ ทั้ง คมช. และรัฐบาล “ขิงแก่” ในตอนนั้นก็ตามเกมไม่ทันอ่อนปวกเปียก “จนเกือบไป” เหมือนกันเมื่อเจอกระทุ้งเรื่อง “เขายายเที่ยง” เข้าไป

แต่ในที่สุดแล้วร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ก็ผ่านมาได้แบบใจหายใจคว่ำ ทั้งที่ฝ่ายหนุนแทบจะไม่ได้รณรงค์ชี้แจงอะไรเลย มีแต่ฝ่ายทักษิณ เท่านั้นที่สร้างกระแสโจมตีอยู่ฝ่ายเดียว

ดังนั้น เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาจากท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ยกมาให้เห็นในตอนต้นก็คงพอมองออกว่านี่อาจเป็นการ “สรุปบทเรียน” เก่า ๆ ในอดีต ไม่ให้ซ้ำรอย จึงต้องจำกัดขอบเขตเอาไว้ก่อนเป็นการตัดไฟเสียแต่ต้นลม การขู่ถอนประกัน จตุพร พรหมพันธุ์ หากยังปากมาก อยู่ต่อไป และแน่นอนว่า ยังเป็นการส่งสัญญาณปรามไปถึงคนอื่น ๆ ที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกันอีกด้วย เนื่องจากคนพวกนี้ล้วน “มีเงื่อนไขประกัน” เป็นชนักปักหลังอยู่ ว่า “อย่าขยับ” เป็นอันขาด ซึ่งวัดจากนาทีนี้ยังเดาไม่ออกว่าแค่ขู่หรือเอาจริง เพราะเป็นไปได้ทั้งสองทาง รู้แต่ว่าถ้าเอาจริง นอกจากนอนคุกยาวแล้วยังเลวร้ายกว่านั้นคือ “คำสั่งห้ามทำธุรกรรมทางการเงิน” ถูกอายัดบัญชีทรัพย์สินนี่แหละเรื่องใหญ่กว่า ดังนั้น ประเภทที่คิดว่า “ต้องพูดโชว์นาย” สักหน่อยอาจต้องหุบปาก เพราะคิดว่าอาจไม่คุ้มค่าก็ได้

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าจับตาไม่แพ้กัน เพราะเดินมาในเส้นทางเดียวกัน ก็คือ การที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)เตรียมที่จะเสนอร่างกฎหมาย “ห้ามการปลุกระดม” คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ออกมาในเร็ว ๆ นี้ ทุกอย่างมันจึงดูสอดคล้องกันอย่างบังเอิญ

หากพิจารณากันแบบแยกส่วนเน้นกันเฉพาะจุดที่ต้องการล็อกคอพวกเตรียมป่วนเอาไว้แต่เนิ่น ๆ มันก็พอมองเห็นแล้วว่าคราวนี้ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คงต้องการสรุปบทเรียนเก่า ๆ ไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำรอยอีก จึงต้องสั่งปิดปาก ขู่ใช้มาตรการเข้มข้นมาลงทัณฑ์ อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาแบบนี้ เพื่อป้องกันความสับสน และทำลายความน่าเชื่อถือของเนื้อหาสาระไปแบบคนละเรื่อง

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณากันถึงผลกระทบที่จะตามมาในอนาคตมันก็คุมเข้มรัดกุมเอาไว้ก่อน แม้ว่าในที่สุดแล้วสุดท้ายก็ต้องปล่อยให้วิจารณ์แบบ “เปิดช่อง” ให้คลายความอึดอัดกันบ้าง แต่ก็คงไม่ปล่อยให้เคลื่อนไหวโดยพลการ

อีกด้านหนึ่งทางฝ่าย ทักษิณ ชินวัตร แม้ว่าต้องหากทางดิ้นรนอย่างหนัก เพราะเดิมพันคราวนี้มันสูงมากอย่างที่รู้ ๆ กันอยู่ แต่ตราบใดที่ฝ่าย “อำนาจใหม่” คือ คสช. ยังไม่เพลี่ยงพล้ำมันก็ยังโค่นยาก ขณะเดียวกัน สถานการณ์ในเวลานี้ก็ไม่เอื้ออำนวย ศรัทธาจากชาวบ้านยังไม่มาถูกเหมารวมในกลุ่มนักการเมือง มีแต่ภาพลบ มวลชนถดถอยกว่าเดิมเมื่อเทียบกับยุคเฟื่องฟูในอดีต แม้ว่าเวลานี้ ทางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะพยายามเดินสายเคลื่อนไหวในภาคอีกสาน ภาคเหนือ แต่เมื่อถูก “บล็อก” เอาไว้อย่างเข้มงวดมันก็ขยับยากอยู่ดี

ดังนั้น นาทีนี้ถ้าพิจารณากันเป็นตอนๆแบบช่วงสั้น ๆ ไปก่อน ก็ต้องบอกว่า ฝ่ายคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคุมเกมได้อยู่ ขณะเดียวกันก็ต้องปิดปากฝ่ายตรงข้าม พร้อมกับการเร่งชี้แจงอย่างเต็มสูบ ล่าสุด จะมีรายการ “แกะกล่องรัฐธรรมนูญใหม่” มองตามรูปการณ์ตอนนี้ต้องบอกว่าแนวร่วมป่วนท่าจะหนาว !!
กำลังโหลดความคิดเห็น