หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันไม่ได้แทงกั๊กร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก แต่แนะทบทวนว่าบ้านเมืองถึงจุดไหน หากบีบให้รับหรือไม่รับเกิดการเผชิญหน้าไม่เป็นผลดี แนะหาทางออกทำอย่างไรให้เป็นที่ยอมรับ ตอก “มีชัย” ไม่ใช่เรื่องเกมโชว์ ชี้แม้เนื้อหาจะปราบโกงแต่เพิ่มโทษอย่างเดียวแก้ไม่ได้ แนะทำให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง หนำซ้ำพบเรื่องสิทธิชุมชนถดถอย
วันนี้ (2 ก.พ.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้แทงกั๊กต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับเบื้องต้น แต่อยากให้สังคมทบทวนให้ดีว่าบ้านเมืองเราอยู่ที่จุดไหน และกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญอยู่ขั้นตอนไหน การพยายามบีบให้คนออกมาพูดว่ารับไม่รับ แล้วเกิดการเผชิญหน้ากันนั้นไม่เป็นผลดีต่อประเทศและสังคมไทย เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด เราเสียเวลากับรัฐธรรมนูญในประเทศไทยนี้มามาก ตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา ไม่นับที่มันไม่ผ่านอีก จึงหวังว่าในที่สุดการเมืองมันจะเข้ารูปเข้ารอย คสช.เองก็ต้องการเข้ามาแก้ปัญหาบ้านเมือง ทำให้สงบเรียบร้อย วางกติกา วางรากฐาน เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าได้
“ดังนั้นทุกคนควรจะมาช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรให้ได้รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด เป็นที่ยอมรับ เพราะหากรัฐธรรมนูญผ่าน แต่เป็นการผ่านโดยคนมีความรู้สึกว่ามันไม่มีทางเลือก ถูกฝืนใจ หรือไม่รู้เลยว่าถ้าไม่รับแล้วจะเกิดอะไรขึ้น แล้วมีจุดอ่อน จุดบกพร่องมีปมที่อาจจะมีปัญหาในอนาคต สุดท้ายเราจะเสียเวลาอีก แต่ถ้าไม่ผ่านมันก็เป็นปัญหาในตัวของมันเองอีก ประเทศไทยก็จะยังคงมาเสียเวลากับเรื่องของรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่วันนี้ทุกคนก็วิตกกังวลอยู่แล้วว่าประเทศไทยจะสามารถลุกขึ้นเดิน หรือที่นายกฯ บอกต้องก้าวกระโดด กลับต้องมาสูญเสียไปในการวางรากฐาน หากร่างฯ นี้ไม่ผ่านประชามติ จะส่งผลกระทบทางการเมืองต่อทาง คสช. ผู้มีอำนาจ และจะทำให้สิ่งที่ คสช.ทำมาทั้งหมดนี้เหมือนกับสูญเปล่าไป” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ท่าทีของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่พูดว่าอย่าตกใจหากร่างไม่ผ่าน และมีท่าทีติดตลกว่ารู้แล้วจะเป็นลม แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล่น และการจะเดินเข้าสู่การทำประชามติในอีกครึ่งปีคร่าวๆ นี้ โดยที่ไม่บอกเจ้าของประเทศเจ้าของสิทธิว่าเขาเลือกระหว่างอะไรกับอะไรนั้นไม่เป็นธรรม และจะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการที่จะให้ความชอบธรรมกับตัวรัฐธรรมนูญ
“มันไม่ใช่เล่นเกมโชว์ที่มาบอกว่าคุณจะเอาอันนี้ หรือคุณจะเอาที่มีผ้าคลุมเอาไว้ แต่คุณกำลังเอากฎหมายสูงสุดมาบอกว่าประชาชนยินยอมพร้อมใจที่จะให้กติกานี้เป็นกติกาที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเขากับรัฐ ต่อไปในอนาคตต่อไปหรือไม่ ผมขอเรียกร้องว่าถ้าต้องการให้กระบวนการประชามติเป็นกระบวนที่สร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐธรรมนูญ เป็นภูมิคุ้มกันและจะลดปัญหาในวันข้างหน้า ในการที่จะหยิบเอาปมรัฐธรรมนูญมาเป็นปมความขัดแย้งนั้น เราต้องให้ทางเลือกกับประชาชนที่ชัดเจนว่าถ้าไม่รับ อะไรจะเกิดขึ้น ซึ่งต้องไปแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวก่อนที่มีการจัดทำประชามติ ที่ก่อนหน้านี้มีการพูดว่าควรจะต้องแก้ เนื่องจากถ้อยคำในรัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้นมีคนจำนวนมากเข้าใจได้ว่า เสียงที่ต้องใช้ในการเห็นชอบต้องเป็นเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิซึ่งจะเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะถ้าเกิดไม่ผ่าน ไม่ใช่ประชาชนจะตกใจอย่างเดียวแต่จะมีความไม่นอน ความสับสน มันตกใจกันหมด รวมทั้ง คสช. ด้วย เพราะจะจัดทำกติกาให้กับบ้านเมืองมา 2 รอบแล้วไม่ผ่านสักที จะต้องตัดสินใจแล้วว่าจะทุบโต๊ะ เอาตามใจชอบ หรือต้องเผชิญกับสิ่งที่อาจจะตามมา หรือจะต้องไปเริ่มกระบวนการใหม่ ที่สุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียโรดแมปที่เคยวางไว้ ดังนั้นทำไมเราไม่ถอยกลับมาสักนิด แล้วดูว่าถ้าอยากให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า ทุกฝ่ายควรจะมาช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรให้ได้รัฐธรรมนูญที่ดี และผ่านมากกว่าที่จะมานั่งตั้งป้อมกันว่า ฝ่ายนึงจะต้องให้ผ่าน อีกฝ่ายนึงจะต้องไม่ให้ผ่าน” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า จุดแข็งที่ถูกชูขึ้นมาว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่พยายามขนานนามว่าปราบโกง แต่การเพิ่มโทษอย่างเดียวยังไม่ใช่หลักประกันในเรื่องการป้องกันปราบปรามการทุจริต ซึ่งการจะลดการโกงได้ต้องเป็นสังคมที่ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนมาก ต้องทำให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพราะคนที่จะโกงคือคนที่อยู่ในอำนาจ ประชาชนต้องสามารถ 1. ได้รับข้อมูล 2. แสดงความคิดเห็น ตีแผ่ข้อมูลต่างๆ ในกรณีที่เห็นว่าผู้มีอำนาจนั้นกำลังจะใช้ไปในทางที่ผิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุจริต หรือเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ หรือทำความเสียหายให้แก่บ้านเมือง หากภาคประชาชนอ่อนแอ ถึงโทษหนักก็เป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะจับคนโกงให้มาถูกลงโทษได้ ซึ่งตนแปลกใจว่าทำไมรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึง เขียนหมวดในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ แนวนโยบายรัฐต่างๆ ในลักษณะที่ถดถอยอย่างมาก เช่น เกี่ยวกับสิทธิชุมชนในมาตรา 53 ที่รัฐธรรมนูญเดิมบัญญัติเป็นรูปธรรมเลยว่า หากมีการทำโครงการขนาดใหญ่มีผลกระทบ จะมีการระบุขั้นตอนที่จะต้องทำคืออะไรบ้าง แต่ฉบับนี้เขียนแบบรวมๆ คือ มีสิทธิในการที่จะมีส่วนร่วม สิทธิในการแสดงความคิดเห็น แต่ไม่มีเรื่องที่เป็นรูปธรรม ขั้นตอน กลไกต่างๆ และตนคิดว่าคนที่กลัวที่จะเขียนในนี้มากไป และจะให้ไปเขียนในกฎหมายธรรมดา แต่กฎหมายเหล่านั้นรัฐบาลแต่ละยุคเขามีเสียงข้างมากสามารถกำหนดได้ เหตุผลที่หลายเรื่องต้องเขียนในรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันว่าไม่ให้รัฐบาลทำอะไรได้ตามใจ