รองนายกฯ เผยเตรียมนำเนื้อหารัฐธรรมนูญร่างแรกเข้า ครม.อังคารนี้ เชื่อเหตุให้อำนาจองค์กรอิสระมาก จะได้ไม่ต้องมี คปป. เบื้องต้นยังไม่พบให้อำนาจองค์กรใดมากเกินไป รับคง ม.44 เพราะห่วงการเลือกตั้งมีปัญหา
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกว่า การส่งความเห็นเสนอแก้ไขร่างฯแรกของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แม้เป็นเวลาที่เร่งรัด แต่ก็เข้าใจเพราะ กรธ.จะต้องแก้ไขเนื้อหาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 29 มีนาคมนี้ ตนได้หารือเรื่องนี้กับเลขาธิการ ครม.แล้ว ถ้าได้รับร่างฯ อย่างเป็นทางการก็จะแจ้งต่อที่ประชุม ครม.ในวันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อจะได้หารือว่าจะมีข้อเสนอให้ กรธ.แก้ไขอย่างไร เบื้องต้นยังไม่มีความเห็นว่าจะแก้ไขอย่างไร เพราะต้องรอฟังความเห็นจาก ครม. ส่วนความเห็นของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น ยังไม่ทราบ เพราะยังไม่รู้ว่า คสช.จะดำเนินการอย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า เนื้อหาโดยรวมให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญค่อนข้างมาก นายวิษณุกล่าวว่า เป็นการให้อำนาจไม่เพียงเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ แต่หมายถึงองค์กรอิสระทั้งหลายเฉลี่ยกันไปทั้ง ป.ป.ช., กกต., กสม., ผู้ตรวจการแผ่นดิน ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะไม่ต้องมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ซึ่งองค์กรอิสระเหล่านี้มีอำนาจเฉพาะหน้าที่ที่ตัวเองรับผิดชอบ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจก็ต่อเมื่อได้รับคดีมาแล้วให้มีหน้าที่ชี้ขาด
ทั้งนี้ จากการอ่านเนื้อหายังไม่เห็นว่าจุดใดที่ให้อำนาจมากเกินไปจนผิดปกติ เพราะให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามตัวบทกฎหมายและเจตนารมณ์ ซึ่งหากไม่สามารถวินิจฉัยตามเจตนารมณ์ได้ก็สามารถวินิจฉัยตามประเพณีการปกครองของประเทศ นั่นหมายความว่าเป็นการค้นหาเจตนารมณ์แล้วอุดช่องว่าง ไม่ใช่จู่ๆ จะไปชี้ขาดหรือไม่เสนอแนะการบริหารประเทศ การออกกฎหมาย ประเด็นนี้คือการป้องกันเอาไว้ก่อนดีกว่าปล่อยให้ทำความผิดแล้วค่อยมาบอกทีหลัง ทั้งนี้ไม่ใช่ทุกเรื่องที่จะมายังศาลได้ ยืนยันว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายการทำงานของฝ่ายบริหาร
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากรัฐธรรมนูญใหม่ถูกประกาศใช้ คณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ตั้งโดยมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 จะยังคงอยู่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า โดยหลักปฏิบัติที่เคยทำกันมาอย่าว่าแต่คำสั่งตามมาตรา 44 แต่คำสั่งที่ คสช.เคยออกตอนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ก่อนมีรัฐธรรมนูญ ถ้ารัฐธรรมนูญเขียนให้มีผลบังคับใช้ต่อไปก็สามารถใช้ต่อได้จนกว่าจะมีการยกเลิก ซึ่งในบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าให้ยังบังคับใช้จนกว่าจะมีการยกเลิกโดย พ.ร.บ. เว้นแต่คำสั่งในเชิงบริหาร เช่น การตั้งกรรมการ จึงให้ ครม. หรือนายกฯ ออกคำสั่งยกเลิก และหากคำสั่งออกโดย คสช.ก็ให้ ครม.ยกเลิก แต่หากเป็นคำสั่งที่ออกจากหัวหน้า คสช. ก็ให้นายกฯ เป็นผู้ออกคำสั่งยกเลิก แต่เรามีความตั้งใจว่าก่อนมีรัฐบาลชุดใหม่จะมีการพิจารณาว่าคำสั่งหรือประกาศใดจะยังอยู่ หรือคำสั่งใดจะมีการยกเลิก
ส่วนหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ มีความจำเป็นหรือไม่ ที่ กรธ.ให้คงมาตรา 44 จนกว่ามีรัฐบาลใหม่ นายวิษณุกล่าวว่า ถ้าคิดว่ามาตรา 44 มีขึ้นเพื่อให้เกิดอันตรายก็คงไม่จำเป็น และไม่สมควร แต่การใช้มาตรา 44 ที่ผ่านมาต่างถูกใช้อย่างสร้างสรรค์ สามารถแก้ปัญหาที่กฎหมายปกติมิอาจแก้ไขได้ และยังใช้เพื่อบูรณาการในหลายเรื่อง จึงเชื่อว่าเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้วมาตรา 44 จะถูกใช้อย่างระมัดระวังกว่าเดิมหลายเท่า เพราะบทบัญญัติที่คุ้มครองหลายประการจะหายไป
ส่วนที่ยังคงมาตรา 44 เป็นเพราะกังวลการเลือกตั้งด้วยใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า “หรือคุณไม่กังวล” ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะแก้อย่างไร แต่ต้องมีคำตอบถ้าประชามติไม่ผ่านเราจะทำอย่างไร ซึ่งมาตรา 44 ไม่สามารถใช้ได้กับเรื่องนี้จึงไม่ต้องเป็นกังวล
ผู้สื่อข่าวถามว่า การคงมาตรา 44 ไว้เช่นนี้ จะกระทบต่อการเลือกตั้งหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่ตอบตอนนี้ ทำไมไม่คิดว่าจะเอาไว้ใช้เพื่อทำให้การเลือกตั้งสงบเรียบร้อย บริสุทธิ์ ยุติธรรม วันนี้มีปัญหาหลายอย่างที่จะทำให้การเลือกตั้งไม่เรียบร้อยหากออกกฎหมายไม่ทัน ซึ่งมาตรา 44 อาจจะช่วยได้ แต่อะไรที่สถาปนาโดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 ไม่สามารถล้มล้างได้ เช่น เมื่อเกิดการทุจริตเลือกตั้ง มาตรา 44 ก็ไม่สามารถสั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เป็นต้น แต่ใช้ได้เพื่อทดแทนการออกกฎหมาย จะทดแทนหรือล้มล้างรัฐธรรมนูญไม่ได้
เมื่อถามว่า ร่างรัฐธรรมนูฉบับใหม่นี้มีความเป็นประชาธิปไตยร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า มีรัฐธรรมนูญที่ใดในโลก หรือรัฐธรรมนูญไทยฉบับใดเป็นประชาธิปไตยร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วจะมาเค้นอะไรจากฉบับนี้ให้เป็นประชาธิปไตยร้อยเปอร์เซ็นต์ ในอดีตฉบับที่เคยถูกปรามาสว่าเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบหรือน้ำครึ่งแก้ว กลับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งที่ใช้มานาน ตั้งแต่ พ.ศ. 2521-2534 ตอนที่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกฯ ถูกปฏิวัติ ขณะที่รัฐธรรมนูญที่เราบอกว่าดีที่สุดใน พ.ศ. 2517 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 กลับถูกบังคับใช้เพียง 2 ปี ก็โดนยึดอำนาจล้มไป
“แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญฉบับหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 10 ธ.ค. 2475 จนกระทั่งวันที่ 10 ธันวาคม กลายเป็นวันรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ดีเด่นหรือเป็นประชาธิปไตยอะไร แต่ถูกกับรสนิยมของคนไทยและประวัติศาสตร์ไทย เป็นฉบับที่ใช้นานที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่ 10 ธ.ค. 2475-2489 ผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งใช้นาน 14 ปี และไม่คิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับใดจะใช้ได้นานขนาดนี้”
ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกชัดเจนแล้ว คาดว่าในเร็ววันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.จะเรียกประชุมร่วม ครม.-คสช.เพื่อหารือเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญก่อนส่งความเห็นและข้อเสนอแนะกลับไปยัง กรธ.