หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ย้ำร่างรัฐธรรมนูญต้องมีกระบวนการทำประชามติ ไม่เช่นนั้นถือว่าไม่เป็นธรรมกับเจ้าของประเทศ พร้อมระบุ กรธ.ยังไม่มีคำตอบว่าหากประชามติไม่ผ่าน ขั้นตอนต่อไปจะไปทางไหน แจง คสช.อย่าไปมองนักการเมืองอยากเลือกตั้ง แต่ให้การเมืองเดินไปข้างหน้า โต้กลับโซเชียลฯ ย้ำพรรคสนับสนุนปราบปรามคอร์รัปชัน แต่ตัวร่างมีปัญหาอื่น
วันนี้ (26 ม.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ในประเด็นการทำประชามติว่า ตนคิดว่าเรามีกระบวนการประชามติเพื่อที่จะให้เจ้าของประเทศเป็นผู้รับรองกติกาสูงสุด ซึ่งควรจะมีทางเลือกที่ชัดเจนในการตัดสินใจว่าสิ่งที่ให้เขาดูจะเห็นชอบหรือไม่ประชาชนควรจะได้รู้ว่าถ้าเขาเห็นชอบแล้วทางเลือกคืออะไร มิเช่นนั้นจะถือว่าไม่เป็นธรรมกับเจ้าของประเทศ เพราะประชาชนจะต้องตัดสินในเรื่องสำคัญมาก แต่เข้าไม่รู้ว่าเขาเลือกระหว่างอะไร กับอะไร แล้วการตัดสินใจจะออกมาในลักษณะที่ทำให้เราเอาไปใช้ว่าเป็นความชอบธรรมไม่ชอบธรรมได้อย่างไร
“ผมจึงเรียกร้องว่าตรงนี้มีความจำเป็นที่ต้องกำหนดทางเลือกกับประชาชนชัดเจน เพราะถ้าไม่กำหนดเท่ากับประชาชนไม่รู้ทางเลือก และไม่สามารถไปบอกได้ว่าเห็นชอบ ไม่เห็นชอบเพราะอะไร อาจจะกลายเป็นว่าเห็นชอบเพราะกลัวว่าไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อย่างนี้ก็ไม่ได้ช่วยเป็นภูมิคุ้มกันของรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ไม่เช่นนั้นประชามติก็จะสับสน” นายอภิสิทธิ์กล่าว
ส่วนที่นายมีชัยระบุว่าหากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะต้องกลับมาใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาเกิดว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราว 57 ไม่ได้บอกว่าหากไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแล้ว กระบวนการที่จะเดินต่อไปคืออะไร ไม่เหมือนกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะทราบว่าถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะไปสู่การตั้งคณะกรรมการร่างชุดใหม่ ซึ่งวันนั้น สปช.ก็ตัดสินใจได้ แต่วันนี้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ไม่มีคำตอบและไม่รู้เลยว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านนั้น แปลว่าอะไร จะร่างกันใหม่ หรือหยิบฉบับไหนขึ้นมาใช้ หรือแล้วแต่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตรงนี้ถือว่าไม่เป็นธรรมกับผู้มีสิทธิที่จะไปออกเสียงประชามติ และไม่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นในสังคมโลกด้วย ว่าเรามีกติกาสูงสุดที่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนและ ซึ่งตรงนี้น่าจะมีเป้าหมายหลักของการมีประชามติตั้งแต่ต้น
เมื่อถามว่านายกรัฐมนตรีระบุว่า ไม่ว่าจะอย่างไรก็จะต้องมีการเลือกตั้งในปี 2560 นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การเลือกตั้งอย่างไรก็ต้องมี แม้กระทั่งพวกตนที่เป็นนักการเมืองไม่ได้มองว่าสักแต่เลือกตั้ง ถ้าเลือกตั้งแล้วรัฐธรรมนูญมีปัญหาจนทำให้เกิดความขัดแย้งเกิดวิกฤติใหม่ ขอถามว่าเป็นไปตามเจตนาของ คสช.หรือไม่ ดังนั้นจะมาพูดเพียงแค่ว่ามีการเลือกตั้งนั้นไม่ได้ สิ่งที่เราต้องการคือเมื่อประชาธิปไตยเดินหน้า กติกาที่กำหนดระบอบประชาธิปไตย เป็นกติกาที่ประชาชนยอมรับ ไม่เป็นกติกาที่จะสร้างขัดแย้งรอบใหม่ ไม่เช่นนั้นทุกสิ่งทุกอย่างที่ คสช.ทำมาก็จะไม่มีความหมาย ดังนั้น อย่าไปมองว่านักการเมืองเรียกร้องการเลือกตั้งนั้น ไม่ใช่ เพราะเราต้องการให้การเมืองดินไปข้างหน้า ถ้าเลือกตั้งแล้วย้อนหลังกลับไปเราก็ไม่ต้องการให้เป็นแบบนั้น
“ทุกคนต้องยอมรับความจริงและช่วยกันแก้ไขเหมือนกับตอนนี้ที่ส่งข้อความกันในโซเชียลมีเดีย กล่าวหาว่าพรรคการเมืองสุ่มหัวกันต่อต้านรัฐธรรมนูญ เพราะกลัวเรื่องการปราบทุจริตคอร์รัปชัน ผมบอกได้เลยว่า สำหรับพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนทุกบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการปราบปรามการคอร์รัปชัน แต่ขอให้แก้ในส่วนที่มีปัญหาเราก็จะสามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้สมควรสนับสนุน แต่ที่ยังไม่สามารถแสดงจุดยืนได้ชัด เพราะยังมีบทบัญญัติที่ยังเป็นปัญหา ซึ่งไม่เกี่ยวกับการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน เช่น ความสัมพันธ์ขององค์กรทางการเมืองต่างๆ ระบบการเลือกตั้งที่ให้ลงคะแนนใบเดียว เห็นว่าน่าจะทำให้เกิดการซื้อเสียงและแข่งขันที่รุนแรง” นายอภิสิทธิ์กล่าว