xs
xsm
sm
md
lg

กรธ.ให้ 18 ปีมีสิทธิเลือกตั้งเพิ่ม เข้ม ขรก.เอี่ยวโกงงบ เล็งแยกสอบสวนไว้ใน กม.ลูก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรธ.เล็งให้สิทธิเยาวชน 18 ปีเต็ม มีสิทธิเลือกตั้งเพิ่มขึ้น พร้อมคุมเข้มเอาผิดข้าราชการเอี่ยวโกงงบประมาณ ขณะที่ปฏิรูปตำรวจส่อแยกงานสอบสวนออกจาก สตช.ไว้ในกฎหมายลูก

วันนี้ (28 ธ.ค.) นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กรธ.ได้พิจารณาผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติ โดยได้พิจารณานับอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ให้ผู้ที่มีอายุ 18 บริบูรณ์ มีสิทธิเลือกตั้งตรงความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่กระทรวงมหาดไทยได้ทำบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งในวันที่ 1 ม.ค.ของทุกปี ทั้งนี้จึงทำให้คนที่มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์หลังจากนั้น ก่อนวันเลือกตั้งทั้งที่อายุครบตามกำหนดก็หมดสิทธิการเลือกตั้งในครั้งนั้นทันที อย่างไรก็ตาม กรธ.กำลังพิจารณาว่าจะใช้เกณฑ์อายุครบ 18 ปีบริบูรณ์จะนับตั้งแต่วันประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง หรือวันเลือกตั้ง ซึ่งเชื่อว่าหากแก้ปัญหาดังกล่าวสำเร็จจะมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพิ่มขึ้นหลักแสนคน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาผลการดำเนินการของคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการปฏิรูปการศึกษาและการบังคับใช้กฎหมาย โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้ แนวทางการปฏิรูปการศึกษาควรให้มีแผนการศึกษาของชาติ และกฎหมายว่าด้วยแผนการศึกษาของชาติโดยเร็ว รวมทั้งควรกำหนดให้มีคณะกรรมการศึกษาทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และกำกับดูแลตามแผนดังกล่าว พร้อมทั้งควรมีการควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณด้านการศึกษาให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามแผนการศึกษาของชาติที่กำหนด จากเดิมที่งบประมาณด้านการศึกษาหมดไปกับการบริหารการศึกษาและเงินเดือนครูอาจารย์

ส่วนแนวทางการปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมายควรมุ่งอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน พร้อมทั้งปรับปรุงกฎเกณฑ์การเข้ารับราชการให้มีความชัดเจน เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจคัดเลือกบุคคล นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาเรื่องของการปฏิรูปตำรวจในแง่ของการทำงาน ส่วนจะแยกงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) หรือไม่ ที่ประชุมได้มีการพูดกัน แต่คงไม่ได้เอามาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อาจนำมาไว้ในกฎหมายรองๆ ซึ่งขณะนี้กำลังรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังได้มีพิจารณาทบทวนหลักการของร่างรัฐธรรมนูญ ในส่วนที่เกี่ยวข้องการตราร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ โดยควรกำหนดโทษแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้รู้ว่ามีการดำเนินการอันเป็นการฝ่าฝืนหลักการของรัฐธรรมนูญกำหนด แล้วอนุมัติหรือจัดสรรงบประมาณ หรือดำเนินการไปโดยมิได้บันทึกข้อโต้แย้งไว้ในหนังสือ ทั้งนี้ ความผิดดังกล่าวจะให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดในการตัดสินความผิด


กำลังโหลดความคิดเห็น