“จาตุรนต์” โต้ “ประยุทธ์” อ้างปฏิรูปการศึกษามีไว้ที่กระทรวงแล้ว แต่รัฐบาลชุดนี้ไม่ทำต่อเอง ท้าแน่จริงเชิญออกใหม่ อย่าตีกรอบคำถามอีก ชี้คนคุม ศธ. ขาดความเข้าใจ ระบุการปฏิรูปที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนไม่เกิดขึ้นจริงภายใต้การปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ กล่าวชี้แจงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ว่า ตนพูดเรื่องการปฏิรูปการศึกษาในรายการเดินหน้าปฏิรูป ว่า รู้ปัญหา แต่จับต้องแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมไม่ได้นั้น ก่อนอื่นต้องขอบคุณนายกฯที่อุตส่าห์ดูรายการนี้ และจับประเด็นได้หลายประเด็น ทั้งยังได้ตั้งคำถามที่เป็นประโยชน์ ที่อยากอธิบายคือตอบคำถามนายกฯที่ว่าใครจะทำ ทำเมื่อไร ทำยังไง งบประมาณที่ไหน มีภาระให้กับประเทศชาติแค่ไหน ตรงไหน ไม่พูดนั้น เมื่อเป็นการออกรายการ ไปตอบคำถาม ไม่ใช่อยากพูดอะไรก็ให้พูดตามอัธยาศัย ผู้ที่ไปออกรายการ รวมทั้งตนก็ตอบไปตามคำถาม คำถามที่นายกฯถาม พิธีกรเขาถามอยู่บ้างแต่ไม่มาก ตนก็ต้องรักษามารยาท คือ ตอบตามคำถาม ถ้าจะตอบคำถามนายกฯแบบสั้น ๆ นอกรายการก็ต้องบอกว่า ก็คิดวางแผนกันไว้แล้วเป็นส่วนใหญ่และอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการอยู่แล้ว แต่รัฐบาลของท่านไม่ได้ทำต่อเอง ถ้าจะให้อธิบายเพิ่มเติมก็ต้องจัดรายการใหม่แล้วตั้งคำถามอย่างที่นายกฯถามและต้องมีเวลาให้มากขึ้น
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ยังมีอีกหลายประเด็นที่ไม่ได้ถาม และถ้าถามก็จะได้คำตอบที่ไม่ทราบว่า ท่านพร้อมจะฟังหรือไม่ เช่น ถ้าถามว่า เกิดการปฏิรูปการศึกษาขึ้นบ้างหรือยัง ก็จะตอบว่า สิ่งที่ทำมาหนึ่งปีกว่าไม่ใช่การปฏิรูปการศึกษา เป็นเพียงทำโน่นนิดนี่หน่อยอย่างไม่มีทิศทาง ผู้รับผิดชอบขาดความเข้าใจและขาดการมีส่วนร่วม ถ้าถามว่า ควรมีการวางแผนปฏิรูประยะยาวไว้หรือไม่ คำตอบก็คือ ไม่ควร เพราะปัจจุบันไม่มีบรรยากาศของการรับฟังความเห็น จึงไม่มีทางเกิดแผนปฏิรูปที่ดีได้ ควรให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้วางแผนจะดีกว่า
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า สำหรับการเชิญนักการเมืองไปออกทีวีที่กำลังทำอยู่นั้น เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ แต่ยังเป็นประโยชน์ไม่มาก เนื่องจากตั้งหัวข้อผิดคือ “เดินหน้าปฏิรูป” ซึ่งผู้ที่ยืนยันหลักการประชาธิปไตยจะเห็นว่า การปฏิรูปใหญ่ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนไม่อาจเกิดขึ้นได้ภายใต้การปกครองระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ความเข้าใจจึงต่างกันโดยพื้นฐาน ที่ตนไปร่วมรายการก็ต้องการให้ความร่วมมือและเพื่อจะไปสื่อสารประเด็นนี้ด้วย ทั้งนี้ หากต้องการให้หลาย ๆ ฝ่ายไปออกทีวีให้เป็นประโยชน์จริง ควรเลือกหัวข้อที่เป็นประโยชน์มากกว่านี้ เช่น การแก้ปัญหาสำคัญของบ้านเมือง ความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ การคืนประชาธิปไตยให้ประชาชน การแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดอง เป็นต้น