สนช.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 59 วงเงิน 2.7 ล้านล้าน วาระ 2-3 พรุ่งนี้ กมธ.วิฯ เพิ่มงบกลาง 2 หมื่นล้าน เตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมทั้งหมดได้ 4.2 แสนล้าน ขอปฏิรูปการจัดทำ ยึดผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริง-ให้รัฐกำหนดเป้าหมายระดับชาติรายกระทรวง-เร่งรัดการใช้จ่ายภารกิจสำคัญ-ค่าอบรมสัมมนาต้องไม่ซ้ำซ้อน มีเป้าหมายชัด คุ้มค่า ส่วนตั๋วบิน เน้นชั้นประหยัด-ทบทวนสร้างศูนย์ราชการในพื้นที่รอยเลื่อน มีความเสี่ยงสูง
วันนี้ (26 ส.ค.) มีรายงานว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันพรุ่งนี้ (27 ส.ค.) จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 วงเงิน 2.7 ล้านล้านบาท เป็นรายมาตราในวาระที่ 2 และเห็นชอบในวาระที่ 3 ภายหลังคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่มี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นประธานได้พิจารณาเสร็จแล้ว
ทั้งนี้ ในรายงานของคณะ กมธ.วิสามัญฯ ระบุว่า มีการเพิ่มงบประมาณในส่วนของรายจ่ายงบกลางที่อยู่ในการควบคุมของกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณอีกจำนวน 20,582,050,500 บาท ซึ่งเป็นงบประมาณตามแผนงานเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เนื่องจากเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมไว้ให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐที่มีบทบาทหน้าที่ต้องแก้ไขปัญหาเร่งด่วน และใช้จ่ายตามความจำเป็น หรือสภาพเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยมิได้คาดหมายไว้และไม่สามารถประมาณการค่าใช้จ่ายที่แน่นอนได้ และเพื่อเป็นการเตรียมสำหรับการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ส่งผลให้งบกลางมียอดรวมทั้งหมดจำนวน 422,721,462,800 บาท
ขณะเดียวกัน คณะ กมธ.วิสามัญฯ ยังมีข้อสังเกตและข้อเสนอต่อภาพรวมของงบประมาณประจำปี 2559 พอสังเขป ดังนี้ 1. ขอให้มีการปฏิรูประบบการจัดทำงบประมาณ โดยต้องยึดหลักการที่นำไปสู่การจัดทำงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริง โดยประสานความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานกลางหลักที่มีหน้าที่ด้านยุทธศาสตร์ นโยบาย และการบริหารทรัพยากร
2. รัฐบาลควรกำหนดเป้าหมายระดับชาติที่ต้องการให้กระทรวงบรรลุถึงเป้าหมายแต่ละด้าน และควรมีการทบทวนตัวชี้วัดของส่วนราชกการทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งตัวชี้วัดในการจัดทำงบประมาณเพื่อให้การบริหารทรัพยากรของหน่วยงาน สามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม 3. การติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณของส่วนราชการต่างๆ เป็นภารกิจที่สำคัญประการหนึ่ง และควรมีการรายงานผลการปฏิบัติงานและการใช้จ่ายงบประมาณที่สามารถเปรียบเทียบระหว่างปีปัจจุบันและปีที่ผ่านมา โดยจัดทำรายงานผ่านระบบสารสนเทศที่สามารถรายงานความก้าวหน้าได้อย่างต่อเนื่องและเป็นปัจจุบัน
4. ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม สัมมนา หลักสูตร ระยะเวลา และจำนวนคนต้องไม่มีความซ้ำซ้อนและมีเป้าหมายที่ชัดเจน ตอบสนองต่อภารกิจหลักของหน่วยงาน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับและความคุ้มค่าของการใช้จ่ายงบประมาณ เช่น ใช้สถานที่ของทางราชการ ขอความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการจัดฝึกอบรม การเดินทางโดยเครื่องบินให้ดำเนินการเฉพาะที่จำเป็นและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้และควรใช้ชั้นประหยัด 5. ควรพิจารณาทบทวนการออกแบบก่อสร้างอาคารส่วนราชการในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงและตั้งอยู่ในแนวรอยเลื่อนของแผ่นดินไหว เพื่อให้มีแบบแปลนที่เหมาะสมสอดคล้องกับพื้นที่ในแต่ละภูมิภาค โดยจะต้องมีการติดตามสถานการณ์การสำรวจพื้นที่ที่มีความเสี่ยงให้เป็นปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง