อุบลราชธานี - เวทีสัมมนาภาคอีสานของ กรธ. พบส่วนใหญ่เสนอเพิ่มโทษผู้ทุจริตการเลือกตั้ง ทั้งตัดสิทธิ์ตลอดชีวิต ประหารชีวิตนักการเมือง ให้พรรครับผิดชอบค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง ตัดสินคดีโกงเลือกตั้งครั้งเดียวไม่ต้องรอศาล ส่วนที่มา ส.ส. - ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้ง เสนอระบบ “ไพรมารี โหวต” ให้คนพื้นที่โหวตก่อน ด้านโฆษก กรธ. เผยจะเน้นระบบพรรค ชี้ คนดีต้องอยู่ในพรรคดี พร้อมเสนอยกเลิกถอดถอน ส.ว. เพราะทำแล้วไม่ได้ผล ใช้วิธีกำหนดคุณสมบัติเข้มแทน
วันนี้ (20 ธ.ค.) ที่ห้องทับทิมสยาม โรงแรมสุนีย์แกรนด์ แอนด์ คอนเวนชันเซ็นเตอร์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้จัดเวทีสัมมนาระดมความคิดเห็นจากประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลังจากจัดเวทีที่ภาคเหนือ ภาคใต้ผ่านพ้นไปแล้ว โดยมีผู้ร่วมสัมมนา 211 คน ประกอบด้วย ผู้แทนส่วนราชการ 15 คน ภาคเอกชน 10 คน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 20 คน ประชาสังคม และวิชาการ 16 คน ผู้นำชุมชน และประชาชนทั่วไป 130 คน สื่อมวลชน 20 คน
โดยพบว่าในประเด็นกลไกการป้องกันการทุจริตเลือกตั้ง โดยการเพิ่มโทษตัดสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งของผู้ทุจริตการเลือกตั้งตลอดชีวิต พบว่า ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีคนเห็นด้วย เช่นเดียวกับความเห็นร่วมในภาคเหนือและภาคใต้ แต่มีบางส่วนที่เสนอให้มีการประหารชีวิต ละเว้นการได้รับรัฐสวัสดิการใด ๆ และไม่ให้มีบทบาทในสังคม เพื่อสะท้อนถึงความรังเกียจที่มีต่อการทุจริตการเลือกตั้ง โดยก่อนหน้านี้ มีความคิดแปลก ๆ ของชาวบ้านในเวทีภาคอื่น ๆ มาแล้ว เช่น ภาคเหนือมีบางส่วนเสนอให้ตัดหัวแม่มือ ไม่ให้วัดให้ยืมจานชามไปใช้ หรือภาคใต้ เสนอให้ยืดทรัพย์ทั้งตระกูล เป็นต้น
นายฐาปนพงศ์ เรืองไชย ชาว จ.ยโสธร อายุ 52 ปี อาชีพนักวิจัย กล่าวว่า ตนขอเสนอว่า หากมีผู้กระทำการทุจริตการเลือกตั้ง ให้ประหารชีวิตไปเลย เพราะเรายังไม่เคยมี แบบนี้พรรคการเมืองก็ต้องระวัง
นอกจากนี้ ในประเด็นการลงโทษผู้ทุจริตการเลือกตั้ง ยังมีข้อเสนอของประชาชน อาทิ ให้พรรคการเมืองต้องรับผิดชอบการเลือกตั้งใหม่รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการหาเสียง กรณีลูกพรรคทุจริตเลือกตั้ง, ให้มีองค์กรตัดสินการทุจริตเลือกตั้งเพียงขั้นตอนเดียว แก้ปัญหาการวินิจฉัยคดีเลือกตั้งที่แตกต่างกันระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับศาล คงอำนาจ กกต. ให้ใบแดงเพิกถอนสิทธิ์ก่อนเลือกตั้ง และให้ขยายช่วงเวลาการห้ามทุจริตซื้อเสียงก่อนการเลือกตั้ง 1 ปี เพราะมีการจ่ายเงินพาฐานเสียงไปเที่ยวล่วงหน้า เป็นต้น
สำหรับกลุ่มย่อยที่หารือในหัวข้อ การได้มาซึ่งผู้แทนที่พึงปรารถนาของเวทีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับความสนใจจากสื่อมากเป็นพิเศษ พบว่า มีแนวคิดที่น่าสนใจ อาทิ ส่วนใหญ่เห็นว่าทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ควรมาจากการเลือกตั้ง และคัดค้านการแต่งตั้งมากที่สุด ขณะที่ส่วนหนึ่งเสนอว่าเห็นด้วยกับการคัดเลือกกันเองจากกลุ่มอาชีพ เพราะการเลือกตั้งยากที่จะได้ตัวแทนของกลุ่มวิชาชีพจริง จึงให้มี ส.ว. ทั้งเลือกตั้งระดับจังหวัดและสรรหาผสมกัน โดยมีแนวคิดการเลือกตั้งกลุ่มอาชีพในระดับจังหวัด และไปเลือกกันเองในระดับชาติ รวมทั้งอาจมาจากการเลือกกันของกลุ่มวิชาชีพ โดยกำหนดคุณสมบัติการคัดกรอง ทั้งนี้ ผู้แทนทั้งหมดควรมีการกำหนดสัดส่วนชาย และหญิง
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการพิจารณาคุณสมบัติของ ส.ส. มีข้อเสนอต่าง ๆ เช่น ต้องกำหนดวุฒิการศึกษา กำหนดสถานะว่าต้องอยู่ในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 10 ปี และหาวิธีให้ได้คนดีมาเป็นผู้แทน จนเกิดข้อถกเถียงบานปลาย ในที่สุดมีผู้ร่วมเสวนาชาว จ.สุรินทร์ อายุราว 30 ปีเศษ เป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอกผู้ไม่ประสงค์ออกนาม เสนอแนวคิดว่า การกำหนดคุณสมบัติต่างๆ ยิ่งมากยิ่งเป็นการจำกัดสิทธิ์ และไม่มีหลักประกันที่จะได้คนดี แต่ควรมีระบบที่ให้ประชาชนในพื้นที่เป็นผู้คัดเลือกตัวผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งของแต่ละพรรค หรือ (ไพรมารี โหวต) ก่อน เพราะไม่มีใครรู้ว่าผู้สมัครเป็นคนดีหรือไม่ดี เท่ากับประชาชนในพื้นที่
นายสุทวิส สุพรรณ ชาวอุบลราชธานี อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปไตย ปี 2519 เสนอว่า ที่มาของ ส.ส. ต้องเลือกตั้งอย่างเดียว พรรคการเมืองต้องมีไพรมารี โหวต ให้ประชาชนกำหนดผู้ลงสมัครก่อน ห้าม ส.ส. ลงหาเสียง แต่ให้ประชาชนดูเอง
ภายหลัง นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. กล่าวถึงผลสรุปความคืบหน้าของ กรธ. ว่า ตามกรอบความผิดมาตรา 35 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว วางกรอบไว้สำหรับการยกร่างรัฐธรรมนูญ 3 ประเด็นใหญ่ คือ 1. หลักการที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น ประเทศไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จะแบ่งแยกไม่ได้ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์พระประมุข
2. นำรัฐธรรมนูญในอดีตมาเป็นบทเรียนให้ได้รัฐธรรมนูญที่เหมาะสมกับบ้านเมือง โดยกลไกพื้นฐานที่มีปัญหาค่อนข้างมาก คงเป็นสายการเมือง ไม่ว่าจะฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายบริหาร ว่าเราจะมีผู้แทนมาทำหน้าที่จัดทำกฎหมาย หรือบริหารราชการแผ่นดินอย่างไรที่ตอบสนองต่อประโยชน์สุขของประชาชนและชาติบ้านเมือง ซึ่ง กรธ. จะเน้นส่วนนี้มาก ขณะที่ฝ่ายตุลาการนั้น เราจะให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาทำหน้าที่ดูแลการบริหารของฝ่ายการเมืองมากขึ้น
3. เรื่องของการปฏิรูป รัฐธรรมนูญนี้จะไม่เป็นแค่กติกาธรรมดา แต่จะต้องมีแนวคิดพัฒนาสังคมเราให้ก้าวทันสังคมโลกภายใต้วิถีชีวิต บริบทของบ้านเราจริง ๆ จึงต้องช่วยกันคิด ไม่ว่าการศึกษากระบนการยุติธรรม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญา ศิลปะท้องถิ่น จะมีแนวทางพัฒนาอย่างไร
นายอุดม กล่าวต่อว่า ในระบอบประชาธิปไตยต้องมีการเลือกตั้งแน่นอน แต่วิธีการเลือกตั้งอย่างไรจะได้ทั้งคนดีและคนมีความรับผิดชอบ คนดีคงอยากพูดว่าแบบไหนดีสำหรับใคร แต่คนที่มีความรู้บริหารได้ดีจะมายังไง กรธ. ได้เน้นที่ระบบพรรคการเมือง เราคิดว่าการบริหารบ้านเมืองจะอาศัยคนเดียวหรือไม่กี่คนไม่ได้ จะต้องพัฒนาจากความคิดของคนเป็นกลุ่ม เราจึงมุ่งเน้นระบบการเมืองในรูปแบบของพรรคการเมือง จึงเป็นที่มาของการจัดรูปแบบเลือกตั้ง จากเลือกคนเลือกพรรคในระบบกาสองบัตร เราจึงบอกว่าทั้งคนทั้งพรรคต้องรักชอบด้วยกันทั้งคู่ คนที่ดีต้องอยู่ในพรรคที่ดี พรรคที่ดีต้องคัดเลือกคนดีเท่านั้น นี่คือ สิ่งที่ต้องย้ำให้เกิดความรับผิดชอบในพรรคการเมือง อาจไม่สัมฤทธิ์ผลในวันเดียว แต่เชื่อว่า เป็นระบบที่พัฒนาบ้านเมืองในอนาคต
“เราคาดหวังว่า คนดีคนเก่งไม่ใช่คนเดียว แต่ประชาชนจะต้องร่วมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน จึงเน้นระบบพรรค การเน้นระบบพรรคที่จะทำให้พรรคทำงานดี จึงต้องมีตัวช่วยคือวุฒิสภา กรธ. เห็นว่าต้องเป็นกรอบความคิดเชิงความรู้ความสามารถ เป็นกลุ่มสังคมที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ จึงเสนอให้ปลอดจากระบบพรรคการเมือง ให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญสนใจเรื่องต่างๆ เราจึงพยายามจัดกลุ่มให้ประชาชนที่สนใจเข้ามาร่วมคัดเลือก ซึ่งจะมี 200 คน ระบบนี้จะช่วยให้การเมืองเรามีเหตุมีผลมากขึ้น” นายอุดม กล่าว
โฆษก กรธ. กล่าวว่า วุฒิสภาจะนำไปสู่กลไกที่สำคัญที่เคยมีแต่ต้องการให้ดียิ่งขึ้น คือ องค์กรอิสระ การบริหารบ้านเมืองเราอาศัยคน แต่คนเฉไฉเปลี่ยนตามเวลาหรือผลประโยชน์ได้ จึงต้องอาศัยระบบตรวจสอบที่ดีด้วย กรธ. จึงเน้นย้ำให้องค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน, สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.), คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แม้แต่อัยการ ให้ทำหน้าที่ดูแลการบริหารชาติบ้านเมืองในเชิงตรวจสอบ และเสนอความคิดเห็นในสิ่งที่เขาได้ไปพบเห็น หรือจากข้อร้องเรียนของประชาชน
นายอุดม กล่าวว่า เราพยายามทำให้การทำงานของฝ่ายการเมืองและฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิ ฝ่ายผู้ตรวจสอบไปด้วยกันได้ จึงต้องอาศัยกฎกติกาที่เราเน้นย้ำในยุคนี้ คือ เราต้องมีการคัดเลือกคัดสรรผู้บริสุทธิ์สะอาด ไม่มีประวัติด่างพร้อย ประชาชนไว้เนื้อเชื่อใจได้ เป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าสู่องค์กรตรวจสอบ สู่วุฒิสภา เราจึงไปเน้นการตรวจคุณสมบัติด้วย
ทั้งนี้ เรายกเลิกระบบถอดถอนของวุฒิสภา แม้ประชาชนจะคุ้นชิน แต่เราพบว่าตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นต้นมา ไม่เคยทำสำเร็จ จึงสรุปว่า ควรแปลงสภาพเป็นเรื่องของคุณสมบัติของบุคคลที่มารับผิดชอบบ้านเมือง โดยจะเป็นหน้าที่ของกลไกตุลาการหรือของศาลแทนวุฒิสภา
สำหรับประเด็นการปฏิรูปนั้น นายอุดม กล่าวว่า การปฏิรูปต้องทำตลอดเวลา แต่บางเรื่องต้องทำอย่างรวดเร็วรอไม่ได้ กรธ. เห็นสองเรื่องที่ต้องรีบ คือ 1. การปฏิรูปการศึกษา ให้วิธีคิดของคนในบ้านเมืองแล้วทำให้เกิดมรรคผล เกิดประโยชน์มีความรับผิดชอบ 2. การบังคับใช้กฎหมาย เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมต้องอาศัยกลไกที่ทำให้บ้านเมืองอยู่ใต้ระบบนิติธรรม ให้เกิดความเสมอหน้า ทุคนอยู่ใต้กฎหมายโดยไม่รู้สึกวาถูเลือกปฏิบัติ นี่คือสองเรื่องเบื้องต้น หากประชาขนเห็นว่ายังมีเรื่องอื่นก็ช่วยกันเสนอ
“กรธ. ตั้งใจอยากเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นติกาของบ้านเมือง อันเป็นผลงานของพี่น้องประชาชนจริงๆ สามารถใช้และทำให้มีการพัฒนาชาติบ้านเมือง ซึ่งจะสำเร็จไม่ได้ถ้าประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ ไม่เอาภูมิปัญญาของประชาชนมาส่งมอบให้ หลังยกร่างแรกก็ยังมีเวลาให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น” โฆษก กรธ. กล่าว
อ่านประกอบ : เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่าง รธน.โซนภาคอีสาน