xs
xsm
sm
md
lg

งดให้เอกสิทธิ"ส.ส.-ส.ว."ในคดีทุจริต "ปู"ลงสมัครส.ส.ต้องรอ5ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (1ธ.ค.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึง การกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส. ว่า เราแบ่งการทำความผิดที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งไว้ 2 ระดับ
ระดับแรก เกิดการทำผิดเลือกตั้งระหว่างการเลือกตั้ง ก็เป็นอำนาจของ กกต.ที่จะมีสิทธิให้ใบเหลือง ใบแดง ถ้าใบเหลือง ก็จะมีการเลือกตั้งใหม่ ถ้าใบแดง ก็ต้องดูว่าความผิดรุนแรงหรือไม่ โทษก็จะแบ่งไปตามฐาน ซึ่งตรงนี้จะเป็นไปตามกฎหมายลูก ว่าจะกำหนดไว้อย่างไร เช่น คนถูกใบแดง ถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง 1 ปี ก็จะต้องถูกตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง 1 ปี ด้วย เมื่อพ้นก็สามารถมาลงสมัครใหม่ได้
ส่วนอีกระดับคือ การทุจริตต่อการเลือกตั้งที่รุนแรง ก็จะต้องถูกฟ้องทางอาญาด้วย หากกกต.ไปฟ้องศาล ศาลมีคำพิพากษาว่า ผิดจริง คนนั้นก็จะถูกตัดสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ซึ่งหมายถึง ห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย เช่น หาก กกต.พบความผิดฐานซื้อเสียง ก็แจกใบแดง ตัดสิทธิผู้สมัครฯ แล้วฟ้องศาลเป็นคดีอาญา ถ้าศาลชี้ว่าผิด ผู้สมัครฯคนนั้นก็กลับมาไม่ได้อีก
สำหรับกรณี บ้านเลขที่ 109 และ 111 นั้น ไม่เข้าข่าย คุณสมบัติต้องห้าม ตามเนื้อหานี้ เพราะโทษที่พวกเขาได้รับ คือถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง ทำให้ลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ 5 ปีไปแล้ว และโทษพวกเขาตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา ก็ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว
เมื่อถามว่า หากผู้สมัครฯ ต้องคดีเล็กน้อยอย่างคดีหมิ่นประมาท หรือคดีลหุโทษ จะถูกตัดสิทธิหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า ปกติคดีลหุโทษ ศาลมักพิพากษาแต่โทษปรับ แล้วให้โทษจำ รอลงอาญา แต่หากศาลพิพากษาคดีอะไรก็ตามให้จำคุก ไม่รอลงอาญา ก็จะเข้าข่ายคุณสมบัติต้องห้ามนี้
ส่วนกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูก สนช. ลงมติถอดถอน จากกรณีปล่อยปละละเลยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายโครงการจำนำข้าว จะเข้าข่ายคุณสมบัติต้องห้ามข้อ 17 หรือไม่ ช่วงนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ลงสมัครไม่ได้ เพราะเป็นที่รับรู้กันว่าถูกสนช. ลงมติถอดถอน ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้ถูกตัดสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งตลอดไป ยังลงสมัครได้เมื่อพ้นโทษ เพราะถูกตัดสิทธิเพียง 5 ปีเท่านั้น เว้นแต่ไปโดนอย่างอื่นอีก
ส่วนที่นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกกรธ. แถลงเมื่อวันที่ 30 พ.ย. ที่ผ่านมาว่าให้ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลฎีกาวินิจฉัย หมายถึงกรณีที่สงสัยว่า ผู้สมัครฯ เข้าข่ายตามคุณสมบัติต้องห้าม หรือไม่

**งดให้เอกสิทธิ์ส.ส.-ส.ว.ในคดีทุจริต

นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. แถลงความคืบหน้าในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรัฐสภา ที่ประกอบด้วย ส.ส. และ ส.ว. โดยหลักการส่วนใหญ่บทบัญญัติจะเหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่มีบทบัญญัติที่แตกต่างไป 2 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1. กำหนดหลักการเกี่ยวกับการห้ามมิให้จับกุม คุมขัง หรือหมายเรียกตัว ส.ส.และ ส.ว.ในสมัยประชุมจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับพรรคการเมือง เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติการเป็น ส.ส.และ ส.ว. 2. มีคดีทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถดำเนินคดีในสมัย ประชุมนั้นได้ ซึ่งจะแตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ ส.ส.และ ส.ว. สามารถใช้เอกสิทธิคุ้มครอง โดยขอความเห็นชอบจากประธานในแต่และสภาได้ ไม่ให้นำตัวไปดำเนินคดีได้
นายอุดม กล่าวต่อว่า กรธ.ยังได้เปลี่ยนแปลงสมัยประชุม ที่จากเดิมกำหนดให้เป็น 2 สมัยประชุม คือ การประชุมสมัยสามัญ และสมัยนิติบัญญัติ โดยยังคงให้มีการประชุม 2 สมัยเช่นเดิม แต่ไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นสมัยสามัญ และสมัยนิติบัญญัติ ซึ่งจะสามารถดำเนินการกิจการในฝ่ายนิติบัญญัติได้ทุกเรื่อง ทั้งการตั้งกระทู้ถาม การเสนอญัตติ การพิจารณากฎหมาย โดยการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ยังทำได้ปีละ 1 ครั้ง ตามเดิม ซึ่งจะเป็นช่วงไหนของการประชุมก็ได้

** "มาร์ค"หนุนกรธ.กันคนโกงลงเลือกตั้ง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี กรธ. ได้กำหนด 17 ข้อต้องห้ามผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ว่า เรื่องคุณสมบัติ หรือลักษณะต้องห้ามเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูป และการเข้มงวดกวดขันเพื่อมิให้คนไม่ดีเข้าสู่การเมือง ถือว่าเป็นสิ่งที่ควรสนับสนุน
ส่วนที่มีการมองไปถึงคนที่เคยถูกถอดถอนนั้น ตนเห็นว่า เราไม่ควรมองที่ตัวบุคคล แต่ควรจะดูที่หลักว่า คุณสมบัติที่เหมาะสม คืออะไร ลักษณะต้องห้าม คืออะไร ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวจะเขียนเอาไว้ว่า คนที่เกี่ยวข้องหรือมีการกระทำที่เกี่ยวกับการทุจริต ไม่ให้เข้าสู่การเมืองนั้นเป็นหลักการที่ดี
เมื่อถามว่า จะทำให้คนใกล้ชิดกับคนที่ถูกถอดถอน มองว่าที่ผ่านมาถูกกลั่นแกล้งหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องถอดถอน เป็นเรื่องที่เคยกำหนดเอาไว้ก่อนแล้วในของเดิมไม่ใช่เรื่องใหม่ ตอนนี้ที่ไม่แน่ใจกันคือ กรณีของบุคคลที่อาจจะถูกตัดสิทธิ์ โดยผลของกฎหมาย ฟังดูจากกรธ.ก็เหมือนกับว่าเขาไม่ได้ครอบคลุมตรงนั้น เอาเฉพาะคนที่มีพฤติกรรม หรือการกระทำโดยตรง ที่เป็นลักษณะต้องห้าม
เมื่อถามว่าการที่ กรธ.กำหนดเช่นนี้ เหมือนเป็นการกลั่นแกล้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กระบวนการต่างๆทำกันมายาวนาน ในเรื่องการถอดถอน หรือการต้องไปต่อสู้คดีต่างๆ ก็เปิดโอกาสให้มีการต่อสู้มาตลอด ซึ่งก็ดูจะยอมรับกระบวนการนี้มาตลอด

**ดันตั้งศาลทุจริตช่วยงาน ป.ป.ช.

พล.อ.นคร สุขประเสริฐ สปท.ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สปท. กล่าวว่า คณะ กมธ.ได้จัดทำข้อเสนอในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อเสนอแก่ กรธ.ว่าควรมีกลไกในการขจัดปัญหาทุจริตอะไรใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญบ้าง ข้อเสนอที่น่าสนใจคือ การตั้งศาลทุจริตและคอร์รัปชัน ซึ่งกมธ. มีแนวความคิดว่า จะตั้งศาลนี้ขึ้นมาเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระงานของ ป.ป.ช. และจะวางกรอบการทำงานให้ชัดเจนโดยจะตัดสินคดีทุจริตในส่วนของข้าราชการ และนักการเมืองท้องถิ่น ส่วนนักการเมืองระดับชาติ หรือข้าราชการระดับสูง จะยังให้ ป.ป.ช. ดำเนินการเป็นหลักตามเดิม แนวทางแบบนี้ จะช่วยให้คดีทุจริตที่อยู่ในมือป.ป.ช. จำนวนมากได้สะสางรวดเร็วมากขึ้น งานจะไม่ไปกระจุกตัวที่ ป.ป.ช. อย่างเดียว
ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถส่งความเห็นให้ กรธ.ได้ภายในสัปดาห์นี้ ส่วนกรธ. จะนำไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็แล้วแต่การตัดสินใจของกรธ.
กำลังโหลดความคิดเห็น