รองนายกฯ แจง กรธ.ให้ประธาน 3 ศาลผ่าทางตันการเมือง แค่โยนหินถามทาง รับเห็นความพยายามใช้กลไกปกติ แต่ก็ถูกค้านใช้แต่ตุลาการ ยันไม่เกี่ยว คปป. ชี้บางเรื่องสภาแก้เองไม่ได้ ยกร่างฯ ห่วงให้ ปชช.พอใจไม่งั้นเขียนยังไงก็ได้ ต้องแก้ปัญหาที่เคยเกิด ขอฟังเสียงองค์อรอิสระก่อน หลัง “วิลาศ” ชงเลิกอบรมพิเศษ แจงคงใช้มติ ครม.ไม่ถึงขั้น ม.44 บอกรอ คกก.สอบราชภักดิ์ ก่อนถึงขยายผล
วันนี้ (14 ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอของคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) บางคน ที่เสนอให้ประธาน 3 ศาลเข้ามาผ่าทางตันทางการเมืองว่า ยังเป็นเพียงข้อเสนอเหมือนโยนหินถามทาง สุดท้ายจะเป็นอย่างไรยังไม่ทราบ ตอนนี้สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพราะมีทั้งข้อดีข้อเสียข้อดี ทำให้เห็นถึงความพยายามของ กรธ.ที่หาทางออกโดยใช้กลไกปกติที่มีอยู่ แต่ก็มีผู้ออกมาตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดใช้แต่ตุลาการ ไม่เอาฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่ง กรธ.ก็จะบอกว่าปัญหานั้นมาจากฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติ จึงต้องให้ฝ่ายตุลาการเข้ามา ถือว่ามีเหตุผลทั้งคู่ ตนไม่มีความเห็นอื่น ขอรับฟังก่อน แต่ความคิดที่จะให้มีองค์กรใดมายุติความขัดแย้งนั้นเป็นเรื่องที่ดี และมองว่าไม่เกี่ยวอะไรกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) เพราะต่อให้มี คปป.มีหน้าที่ในการนำการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง ไม่ได้มีหน้าที่ชี้ทางออกเมื่อมีความขัดแย้ง และประธานศาลก็ไม่สามารถเข้าทำบทบาทนำการปฏิรูปและสร้างความปรองดองได้ เพราะต้องทำเรื่องคดีความที่มีอยู่
“การนำศาลลงมาเพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่ง ไม่ใช่มาแทน คปป. ผมก็ได้รับมอบหมายให้เป็นกรรมการขับเคลื่อนในการปรองดอง ก็อยากฟังว่า กรธ.จะเสนออย่างไร ส่วนตัวคิดว่าในรัฐธรรมนูญ คงไม่พูดถึงการปรองดองมาก อย่างมากคือวางกลไกไว้ คนที่จะพูดเรื่องการปรองดองได้ คือ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)” นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามว่าเหตุใด ไม่ให้สภาแก้ปัญหาของตัวเอง เพราะมีการวางกลไกคานอำนาจฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ นายวิษณุกล่าวว่า บางเรื่องสภาแก้ปัญหาเองได้ดี แต่บางเรื่องที่เป็นคู่กรณีหรือไม่เป็นที่ยอมรับเหมือนในอดีตที่ผ่านมา สภาแก้ก็คงไม่ได้ ซึ่งเป็นเพียงการยกตัวอย่าง เช่น การแก้รัฐธรรมนูญ การโหวตตีสามตีสี่เป็นปัญหาที่เกิดในสภาเอง หากมีคนบอกว่าผิดจะให้สภาแก้ก็คงยาก คงต้องมีคนอื่นเข้าไปแก้ ส่วนจะเป็นปัญหาเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น นายวิษณุกล่าวว่า ต้องดูว่ามีปัญหาอะไรบ้าง คงไม่มีสูตรสำเร็จว่ามีองค์กรอะไรที่จะแก้ปัญหาทุกอย่าง ปัญหาอย่างบางต้องให้ศาลแก้ บัญหาบางอย่างต้องใช้ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือบริหาร แล้วแต่ปัญหา ต้องดูปัญหาที่ผ่านมาแล้วคิดว่าหากเกิดอีกแล้วจะให้ใครแก้
เมื่อถามว่า การให้ประธานสามศาลลงมา เกรงว่าจะมีการไม่ยอมรับหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ประธานทั้งสามศาลก็คงไม่ยินยอมเท่าไหร่ บางเรื่องแก้ได้บางเรื่องแก้ไม่ได้ อย่างก่อนหน้านี้ที่มี คปป. ตนก็ได้ถามคนร่างรัฐธรรมนูญในตอนนั้นว่าเหตุใดมีประธานสภา ผู้นำฝ่ายค้าน มีนายกฯ แต่ทำไมไม่มีประธานศาล ซึ่งก็ได้คำตอบว่าศาลถือว่าความขัดแย้งที่สุดแล้วคดีต้องไปถึงศาล การจะลงมาคงไม่เหมาะสม วันนี้จะเอากลับมาต้องคิดให้ดีว่าจะมีผลกระทบหรือไม่
“การยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้เราเป็นห่วงว่าจะทำอย่างไรให้เป็นที่พอใจของประชาชน ถ้าไม่คิดถึงเรื่องนี้จะเขียนอย่างไรก็เขียนได้ แต่ทำอย่างไรให้คนพอใจ ให้ผ่านประชามติ และสามารถแก้ปัญหาในอนาคตได้หากเกิดขึ้น สิ่งที่นายกฯ ตั้งคำถามมีเพียงสั้นๆ ว่าจะเขียนอย่างไรก็เขียนไป แต่เรื่องที่เคยเกิดแล้วในอดีต ถ้าเกิดอีกจะแก้อย่างไร ถ้าไม่เตรียมไว้ก็คงแย่เพราะอุตส่าทำรัฐธรรมนูญทั้งที หากไม่ห่วงตรงนี้ทุกอย่างก็จะวนมาไม่รู้จบ ถ้าอยากหนีตรงนี้ ก็ต้องคิดทางแก้ อย่างสหรัฐอเมริกาที่ใช้รัฐธรรมนูญมากว่า 200 ปี ไม่เคยแก้เลย ก็น่าคิดว่าทำอย่างไรถึงแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง” นายวิษณุกล่าว
นายวิษณุกล่าวถึงกรณีที่นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร เสนอให้ใช้มาตรา 44 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ยกเลิกการจัดอบรมหลักสูตรพิเศษขององค์กรอิสระ ศาลยุติธรรม และกรุงเทพมหานครว่า อยากฟังองค์กรที่เขาจัดอบรมออกมาให้คำตอบก่อน เรื่องของงบประมาณที่ใช้แต่ละองค์กรเขามีงบฯ ของเขาเอง หากเป็นข้าราชการจากหน่วยงานใดถ้าไปอบรม บางหลักสูตรเบิกจากหน่วยงานได้ แต่เท่าที่ฟังดูรู้สึกว่าไม่ให้เบิกค่าเดินทางไปต่างประเทศ เจ้าตัวต้องออกเอง หลายหลักสูตรจะมีออปชันเสมอ อย่างสถาบันพระปกเกล้านั้นหากคุณมีเงินหรือไม่มีเงิน ไม่ไปก็ได้ ไม่ได้ทำให้เดือดร้อนถึงขนาดไม่จบหลักสูตร แต่ต้องทำอย่างอื่น เช่น ไปอบรมที่ จ.หนองคาย อุบลราชธานี ดูการค้าชายแดนแทน ซึ่งจะอ้างว่าไม่มีเงินไม่ได้ แล้วมาทำรายงานแทน
“มันมักจะเป็นเช่นนี้ แต่คงไม่เป็นอย่างนี้ทุกแห่ง ผมอยากให้องค์กรอิสระออกมาพูดเอง ตอบก่อน อาจจะมีเหตุผลดีๆ ก็ได้ รัฐบาลยังไม่ควรพูดอะไรทั้งนั้น และคงไม่ถึงขั้นต้องใช้มาตรา 44 แค่ใช้มติ ครม.ไม่ให้เบิกงบฯไปอบรมต่างประเทศ มันก็ใช้ได้ ใครเขาจัด เราจะไปห้ามเขาจัดได้อย่างไร คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะจัดก็เรื่องของเขา แต่นักเรียนที่ไปเรียน ถ้าเป็นคนของเขาเรียนก็เรื่องของเขา ถ้าเป็นเอกชนไปเรียน แล้วใช้เงินของบริษัทเอกชนก็เรื่องของเขา ถ้าเป็นส่วนราชการไปเรียน หาก ครม.ไม่สนับสนุน ครม.ก็มีมติไม่ให้เบิก ถ้ายังอยากไปอีกก็เชิญ ไม่ให้เบิก และไม่ให้ใช้เวลาหลวง” นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามว่า ถึงเวลาหรือไม่ที่องค์กรอิสระจะยุบหลักสูตรการอบรมพิเศษเพื่อไม่เกิดคอนเนกชัน นายวิษณุกล่าวว่า เรื่องนี้มีคำตอบ แต่อยากให้หน่วยงานที่เขาจัดได้อธิบาย
นายวิษณุกล่าวถึงกรณีเงินบริจาคในโครงการอุทยานราชภักดิ์ที่มีการระบุว่ากองทัพบกไม่ได้ขออนุญาตตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าเรื่องนี้ตนเคยพูดแล้วว่าเงินบริจาคกับการเรี่ยไรต่างกัน ซึ่งตนพูดในหลักการ แต่เวลาทำจริง เขาทำกันอย่างไร ตนไม่ทราบ รู้สึกว่าตอนหลังจะมีการรับบริจาค ซึ่งทางมูลนิธิทำหรือกองทัพบกทำไม่ทราบ ผู้สื่อข่าวถามว่า การบริจาค กับเรี่ยไร ต่างกันอย่างไร รองนายกฯ กล่าวว่า นึกไม่ออกแล้ว ขอกลับไปค้นก่อน ทั้งนี้หากกองทัพบกขอเรี่ยไร หรือรับบริจาคก็เข้าข่ายจะต้องขออนุญาต แต่หากไม่ขออนุญาตก็ไม่ถือเป็นความผิด เป็นระเบียบไม่ใช่พระราชบัญญัติ ไม่มีโทษในตัวมันเอง เป็นเรื่องทางวินัย ไม่ใช่โทษทางอาญา รัฐบาลจะไปออกระเบียบเอาคนเข้าคุกได้อย่างไร ไม่อย่างนั้นก็ออกกันทุกวัน
เมื่อถามว่าเรื่องนี้จะหาทางออกอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ มันต้องรู้ต้นสายปลายเหตุก่อน ว่ามีความเป็นมาอย่างไร วันนี้เรารู้อาการของโรคแต่ต้นเหตุของโรคเรายังไม่รู้ ตอนนี้ต้องรอคณะกรรมการสอบก่อน จากนั้นจะมีการขยายผลอย่างไรก็ว่ากันไป หรือหากเราไม่เชื่อผลนั้นจะไปหาองค์กรอื่นมาทำใหม่ก็ได้ แต่ตอนนี้ต้องรอก่อน