xs
xsm
sm
md
lg

“พีระศักดิ์” พอใจร่างรัฐธรรมนูญ แนะ สปช.มองไปข้างหน้าให้บ้านเมืองปกติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 (ภาพจากแฟ้ม)
รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่ 2 เผยร่างรัฐธรรมนูญฉบับ สปช.ลงมติพอไปได้ ชี้ฟังเสียงทุกฝ่าย สอดคล้องภาวะประเทศ แต่จะให้พอใจทุกคนเป็นไปไม่ได้ แนะส่งเสริมคนดีเข้าสู่ระบบการเมือง แนะ สปช.มองไปข้างหน้า แม้ระแวงเรื่องรัฐบาลเลือกตั้งแต่ยังมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ แปลกใจมีคนจุดพลุรัฐบาลปรองดอง แต่สองพรรคยังตั้งแง่ เชื่อหากเดินตามโรดแมปได้เลือกตั้งปีหน้า ห่วงเรื่องการตั้งคำถามประชามติ

วันนี้ (23 ส.ค.) นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 กล่าวถึงภาพรวมร่างรัฐธรรมนูญว่า จากการศึกษาดูแล้วเห็นว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) ฟังเสียงสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สนช. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เสนอมาพอสมควร และได้รับการแก้ไขมาระดับหนึ่ง ถือว่าหลักการพื้นฐานถือว่าพอไปได้ แต่จะให้พอใจทุกคนเป็นไปไม่ได้ ภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญก็สอดคล้องกับภาวะของประเทศในขณะนี้ ซึ่งต้องยอมรับวิกฤตการเมืองเกิดขึ้นจริง และต้องยอมรับสถานการณ์ เพราะมีการหวาดระแวงคนที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือนักการเมือง จึงอยากให้มองย้อนกลับไปและส่งเสริมคนดีเข้าสู่ระบบการเมืองให้มากขึ้น ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องทำหน้าที่ให้สมบูรณ์มากขึ้น เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับประชาชน ไม่ใช่ว่ามองคนที่มาเป็นนักการเมืองต้องทำให้เสียผู้เสียคน ถูกไล่จี้ทุกอย่าง ส่วนพรรคการเมืองก็ต้องเป็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์จริงๆ แม้จะมีพรรคการเมืองมากก็ไม่เป็นไร ไม่จำเป็นต้องมีพรรคใหญ่แค่ 2 พรรค นอกจากก็ต้องมีกลไกคุ้มครอง ส.ส.โดยเฉพาะการลงมติต้องมีความเป็นอิสระ ไม่ใช่ถ้าไม่ทำตามมติพรรคก็ต้องพ้นจาก ส.ส. หรือออกจากพรรค เพื่อให้ทำหน้าที่ให้ประชาชนอย่างเต็มที่ คานอำนาจให้แก่ประชาชน

เมื่อถามว่า คาดการณ์ว่าการลงมติของ สปช.ในวันที่ 6 ก.ย.นี้ จะรับหรือไม่ นายพีระศักดิ์กล่าวว่า เป็นดุลพินิจของสมาชิก สปช.แต่ละคน แต่ภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญถือว่าดี ขอให้มองจุดมุ่งหมายข้างหน้าเพื่อให้ทุกอย่างเข้าสู่กระบวนการปกติ ให้มีการเลือกตั้ง แม้ว่าบางคนอาจจะไม่ไว้ใจเรื่องหลังการเลือกตั้ง แต่ก็จะมีกรรมการยุทธศาสตร์คอยดูแลรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระดับหนึ่ง คงไม่ปล่อยให้มีการเหตุการณ์ที่ย้อนกลับไปสู่อดีตได้ง่ายๆ สปช.ก็ต้องคิดให้รอบคอบ มองภาพว่าประเทศไทยจะเดินไปอย่างไร อย่าเอาแต่มองประเด็นย่อย เช่น ส.ว.เป็นปลาสองน้ำหรืออื่นๆ จะไปถูกใจทุกอย่างเป็นไม่ได้ ไม่พอใจประเด็นนี้ก็เอามาขวางเส้นทางเดินประเทศที่จะเข้าสู่กระบวนการปกติชะงักลง

“ผมรู้สึกแปลกใจอย่างมีคนจุดพลุในประเด็นรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ กลุ่มอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยก็บอกว่าจะเป็นไปได้อย่างไร กับพรรคประชาธิปัตย์แม้จะพูดก็ยังไม่พูดกันเลย ผมก็สงสัยว่าทำไมเมื่อเข้ามาอยู่สภา เป็นตัวแทนของประชาชน ทำไมถึงขั้นไม่พูดกันเลย แม้จะอยู่คนละพรรค หรือว่า ส.ส.สรรหา กับ ส.ว.เลือกตั้ง ไม่มองหน้ากัน มันเกิดอะไรขึ้นในองคาพยพบุคคลสำคัญในฝ่ายนิติบัญญัติ เหตุการณ์นี้ทำไมจึงเกิดในบ้านเมืองเรา ซึ่งความจริงต้องเข้าใจกัน” นายพีระศักดิ์กล่าว

ส่วนการตั้งคำถามเพื่อทำประชามติในส่วน สนช. นายพีระศักดิ์กล่าวว่า ต้องรอดูวันที่ 6 ก.ย.ว่า สปช.จะลงมติอย่างไร หากผ่าน สปช.เราก็ให้ตั้งคำถามภายใน 3 วันเพื่อเสนอให้ ครม.พิจารณา ซึ่ง สนช.ได้เตรียมวางแผนไว้แล้ว ถ้าไม่ผ่านก็จบ ไม่ต้องตั้งคำถาม อย่างไรก็ตาม ก็มีการแจ้งไปยังคณะกรรมาธิการสามัญประจำทั้ง 16 คณะให้ประชุมหารือว่าจะตั้งคำถามหรือไม่ตั้งคำถาม ถ้าตั้งจะตั้งคำถามอะไร จากนั้นก็จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) เพื่อหารือกันเบื้องต้น ก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม สนช.ในวันที่ 8 ก.ย. เพื่อพิจารณาว่าจะตั้งคำถามหรือไม่ หรือตั้งแล้วจะตั้งคำถามอะไร ดังนั้นขณะนี้ตนตอบไม่ได้ต้องรอเวลา

“ทุกอย่างเดินไปตามโรดแมป หาก สปช.มีมติรับร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องทำประชามติ จากนั้นก็กำหนดวันเลือกตั้ง คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นปลายปี 2559 เพราะจะต้องมีการทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เชน ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.ให้เสร็จสิ้นก่อน” นายพีระศักดิ์กล่าว

ส่วนโอกาสที่รัฐธรรมนูญจะมีโอกาสผ่านการทำประชามติหรือไม่ รองประธาน สนช.กล่าวว่า ยังพูดไม่ได้ แต่ถามว่าพี่น้องประชาชนเขาไม่ได้ศึกษารัฐธรรมนูญมาทั้งร่าง เขาคงดูเพียงแค่จะมีการเลือกตั้ง ส.ส.อย่างไร มีกี่คน ถ้าเป็นอย่างนี้โอกาสรัฐธรรมนูญผ่านมีสูงอย่างแล้ว แต่ตนเป็นห่วงเรื่องการตั้งคำถามในการทำประชามติมากกว่า เพราะคำถามจะทำให้มองเห็นภาพว่าหลังเลือกตั้งจะมีรัฐบาลแบบไหน เชื่อว่าไม่มีพรรคการเมืองไหนไม่อยากให้รัฐธรรมนูญผ่าน


กำลังโหลดความคิดเห็น