xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป)“ปรัชญา” ดิ้นเฮือกสุดท้ายเพื่อ “อาบัติ” จำใจหั่นฉากแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ปรัชญา” ผลักดันเฮือกสุดท้าย หวังให้หนัง “อาบัติ” มีโอกาสเข้าโรงฉาย รับต้องตัดใจหั่นฉากล่อแหลมทิ้งเอาใจคณะกรรมการ ยอมรับสภาพหนังเสียอรรถรส ดีใจประชาชนลุกฮือร่วมคันค้าน ชี้หนังจะถูกแบนหรือไม่ควรให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน เรียกร้องรัฐบาลเปลี่ยนแปลงกฎหมาย 




กลายเป็นประเด็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ชั่วข้ามคืน เมื่อคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์สั่งแบนภาพยนตร์เรื่อง “อาบัติ” ของค่ายสหมงคลฟิล์ม อ้างเหตุผลมีเนื้อหาไม่เหมาะสม ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะในสังคมโซเชียลที่หนุนให้ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวเข้าฉายโดยไม่มีการตัดต่อ ล่าสุด “ปรัชญา ปิ่นแก้ว” โปรดิวเซอร์หนังเรื่องนี้ ขอเปิดใจทุกปมที่ประเด็นร้อนก่อนเข้ารายการ “ข่าวช่อง 2” ณ สตูดิโอ ช่อง 2 ลาดพร้าว 15

“เราก็พยายามทำยังไงให้ภาพยนตร์ได้ฉายให้ได้ ซึ่งจริงๆ ก็มีขั้นตอนของมัน มีการอุทธรณ์ครับแต่ว่ามันใช้เวลา 15 วันหลังจากถูกแบน แล้วกรรมการก็ต้องใช้เวลา 30 วันในการพิจารณาซึ่งเรามองว่ามันช้าไป เพราะว่าเราเสียโอกาสในการที่จะฉายไปแล้ววันที่ล็อกเอาไว้ ก็เลยพยายามที่จะยอมตัดต่อบ้างทั้งที่ไม่อยากจะตัด แล้วก็พยายามให้ท่านคณะกรรมการลองตรวจอีกสักครั้งหนึ่ง”

“ฉากที่ว่าแรง ๆ เราต้องตัดเพราะทางคณะกรรมการเขาติดฉากแรง ๆ แต่จริง ๆ แล้วพอตัดไปแล้วมันเสียอรรถรสครับ เพราะว่ามันส่งผลกันแล้วก็เราจะระมัดระวังพยายามตัดไม่ให้เสียอรรถรส”

“ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเยอะนะครับ ถ้าว่าด้วยภาพก็เยอะ แต่ว่าเราไม่ได้ตัดตามเป๊ะ ๆ ที่ทางคณะกรรมการว่ามา แต่ที่คณะกรรมการว่ามานั้นเขาก็ได้บอกว่า 4 ข้อนั้นเป็น 4 ข้อที่จะให้เราตัด เพราะคณะกรรการเกิดความรู้สึกไม่ดี แต่ว่าตัดสินใจว่าแบน ไม่ได้ตัดสินใจให้เราตัด 4 ข้อนี้ เพราะฉะนั้นเราเลยเลือกตัดตามดุลยพินิจของเราให้รักษาการเล่าเรื่องให้สมบูรณ์ให้มากมากที่สุดครับ”

“ตอนนี้พยายามติดต่อยื่นเข้าไปใหม่ แจ้งความจำนงว่าเราอยากจะเสนอใหม่ 4 ข้อที่ขอมาว่าต้องตัดก็ไม่เป็นตามนั้นทั้งหมด อย่างฉากดื่มเหล้า เณรดื่มเหล้าเราก็ตัด ตัดตอนดื่มออกไป แต่ยังเล่าเรื่องว่าดื่มอยู่ ส่วนที่ว่าเณรพูดจาแรงไม่เหมาะสมอันนั้นตัดออกไม่ได้ แล้วก็ที่ว่าเณรไปจับเศียรพระในลักษณะเหมือนไม่ให้ความเคารพวัตถุนะครับ พูดถูกไหมวัตถุ(หัวเราะ) ก็อันนั้นเอาออกไปหน่อย ซึ่งพอตัดความรู้สึกบางอย่างมันหายไป แต่จริง ๆ แล้วในภาพอื่นยังได้อยู่”

ดีใจคนในสังคมลุกฮือมาเคลื่อนไหวคานอำนาจรัฐบาล อยากใช้โอกาสนี้เจรจาให้เปลี่ยนแปลงกฎหมายใหม่
“อันนี้ยังตอบไม่ได้ ต้องถามกรรมการเพราะว่าเรายื่นให้ท่านพิจารณาใหม่ ส่วนกระแสสังคมตอนนี้ก็ได้ติดตามครับ อันนี้ก็ทำให้เราได้กำลังใจ แล้วก็อีกส่วนหนึ่งตอนนี้ผมมองข้ามการทำหนังเพื่อธุรกิจ มองข้ามตรงนี้ไปแล้วแล้วนะครับ ผมมองว่าอันนี้เป็นการเคลื่อนไหวที่ดีมากของสังคมเรา เพราะว่าสังคมเราจริง ๆ แล้วผมว่าสังคมยังไม่รู้นะครับว่าคนทำหนังเราติดปัญหากับกฎหมายข้อหนึ่งซึ่งสื่ออื่น ๆ ไม่ติด สื่ออย่างพวกคุณ(นักข่าว) ก็ไม่ติดคุณจะนำเสนออะไรคุณไม่ต้องให้รัฐบาลมาควบคุม”

“เพราะจริง ๆ กฎหมายรัฐธรรมนูญมีข้อหนึ่งที่ว่าด้วยรัฐบาลต้องไม่แทรกแซงสื่อเพราะฉะนั้นพวกเราทุกคนเป็นสื่อ ภาพยนตร์ก็เป็นสื่อแต่ว่าไม่รู้เกิดอะไรขึ้น ก่อนหน้านั้นนะครับ ในหลายปีก่อนภาพยนตร์ไม่ถูกจัดให้เป็นสื่อ แล้วเราก็ต่อสู้กันมาว่าเราควรจะมีกฎหมาย เราควรจะดูแลเราด้วยตัวเราเองเหมือนกับทุกคน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต่อสู้มาหลายปี เปลี่ยนรัฐบาลมาหลายชุดแล้ว ซึ่งเราต่อสู้กันมาโดยที่สังคมอาจจะไม่รู้ คราวนี้มาถึงจุด ๆ นี้ผมว่านี่แหละคือสิ่งที่เราจะบอกว่าสังคมไม่ได้ต้องการให้รัฐบาลมาตัดสิน”

เพราะฉะนั้นผมเลยดีใจมากที่การเคลื่อนไหวของสังคมเป็นแบบนี้ ในมุมของคนทำหนังในมุมของสมาคมผู้กำกับ ในมุมของสมาพันธ์ภาพยนตร์ก็จะใช้โอกาสนี้เจรจากับทางรัฐบาลว่าเปลี่ยนกฎหมายเถอะ เป็นกฎหมายที่แบบว่าเราทำหนังเข้าไปเนี่ย เราก็มีความรับผิดชอบสังคม แต่ถ้าสังคมจะแบนยินดี ไม่ใช้ให้ 7 คนมาแบน เพราะว่า 7 คนมาแบนไม่มีใครยอม แต่ทุกวันนี้ที่เรายอมเพราะว่าเราอยู่ใต้กฎหมายนี้อยู่”

“อยากให้มาลงชื่อกันเยอะ ๆ อันนี้เท่ากับว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งมามาจากฝีมือของประชาชน เพราะว่าประชาชนเลือกได้ อันนี้ผมว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ถูกต้องมาก ก็ดีใจที่สังคมบอกรัฐบาลว่าเราแยกแยะได้ เพราะว่าในบริบทของภาพยนตร์เราก็รู้กันอยู่ใช่ไหมครับแค่นี้มันไม่ได้อะไรหรอก เพราะจริง ๆ แล้วก่อนที่เราจะตัดต่อตัวอย่างตอนนั้นออกไป เราก็คุยกันหลายรอบว่าบางภาพอาจจะสร้างความเข้าใจผิด ซึ่งจริง ๆ แล้วเราก็ลดทอนไป แต่จำเป็นต้องเล่าอย่างนี้เพราะเรื่องมันมาทางนี้แล้วก็ในขั้นตอนหนังตัวอย่างมันก็ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการมาแล้วเหมือนกัน แล้วก็ได้ผ่านมาแล้วจึงได้ฉายออกไป”

บอกเป็นหนึ่งในผู้ร่วมผลักดันให้เกิด พรบ.จัดเรต แต่สำหรับเรตแบนหนังยังกว้างเกินไป
“ทราบครับ แต่ทราบว่ามันกว้างมาก เพราะจริง ๆ แล้วในเรตติ้งต่าง ๆ นั้นมีรายละเอียดครบถ้วน อันนี้ผมรู้ดีในแง่คนทำหนังแล้วก็อาจจะเป็นเพราะว่าผมไปเป็นตัวแทนของสมาคมผู้กำกับในการไปร่วมทำให้เกิด พรบ.ฉบับเรตติ้ง แล้วก็ไปร่วมร่างคู่มือ เพื่อไปตอบสนองกับกฎกระทรวงว่าด้วยเรตต่าง ๆ มันมีรายละเอียดอย่างไร เรื่องคำหยาบคาย เรื่องทางเพศ ความรุนแรง เรื่องทางศาสนาแล้วความมั่นคงของชาติ นี่และครับเราจะรู้ว่าในเรตต่าง ๆ มีเรื่องพวกนี้ได้อยู่ในระดับไหน ซึ่งจะละเอียดมากเราแก้กันหลายรอบด้วยกัน อันนี้คือเรตติ้ง”

“แต่เรตแบนเนี่ยกว้างมาก เพราะว่าเรตแบนนี่เขาได้กำหนดไว้ในมาตรา 29 ที่ว่าด้วยภาพยนตร์ที่ทำให้เสื่อมเสีย และขัดต่อศีลธรรมอันดี แล้วก็ทำลายสถาบันของชาติ รวมถึงสถาบันมหากษัตริย์อันนี้กลายเป็นว่าปล่อยให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการซึ่งเรามองเห็นตั้งแต่นานแล้วว่าตรงนี้เป็นปัญหาเพราะฉะนั้นเราก็ชี้มาตรงนี้ตลอดว่าไอ้จำนวนเรตเนี่ยเราโอเคเห็นด้วยและดีด้วย แล้วก็สังคมต้องชอบอยู่แล้ว แต่ว่าแบนเนี่ยมีปัญหาแน่ ๆ แต่จะมีเฉพาะภาพยนตร์ที่โดนแบน จะเห็นว่าก่อนหน้านี้เราไม่มีปัญหาใด ๆ เลย แต่พอถึงโดนแบนจะมีปัญหา”

“จริง ๆ เราไม่เห็นด้วยกับระบบ ผมไม่ได้โทษคณะกรรมการ ไม่โทษกระทรวงวัฒนธรรม ผมโทษระบบ คือต่อให้เปลี่ยนคณะกรรมการชุดนี้เป็นชุดอื่นก็ตามก็เป็นไปได้ที่อาจจะแบน เพราะมันอยู่ที่หลักความคิดเห็น แต่ว่าไม่ควรให้กว้างเกินไปอยู่ที่ดุลยพินิจ มันไม่มีเกณฑ์มาจัด เรื่องนี้ตอนเรายื่นไป เราอยากได้เรต 18”

เผยยังมั่นใจหนังของตนเอง แต่ต้องเคารพกฎกติกาและความเห็นของคณะกรรมการ
“เราไม่ได้ร่วมจัดเรต เราร่วมในการร่างกฎเกณฑ์กติกา คู่มือในการจัดเรต เราไม่ได้เป็นคณะกรรมการ เพราะการจัดเรตเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ 7 ท่าน อย่างที่ว่าเราพยายามทำทุกอย่างให้ได้ฉาย แต่ใจจริงเราอยากได้ฉายฉบับไม่ตัด เรายังมั่นใจ มั่นใจมาก ๆ แต่ว่าโอเคเราต้องเคารพกฏิกา เคารพความคิดเห็นของกรรมการ เราก็พยายามเราก็ยอมอ่อนลงมาในการตัด แล้วก็ให้ผ่านให้ได้ แต่เรามีลิมิตนะครับ เราคงไม่ตัดจนถึงกับว่าอะไรก็ได้ เราต้องรักษาความเป็นตัวตนเราอยู่เหมือนกัน”

“ผมไม่ได้คุยกับนักแสดงเลยครับ แต่ว่าคนอื่น ผู้กำกับอาจจะได้คุย ก็เห็นเขาคุยอะไรกัน ผมไม่ได้คุยเพราะว่าอธิบายกับสื่อแล้วก็สังคมที่ตั้งคำถามมา”

มั่นใจหนังอาบัติทำให้คนไทยรักศาสนามากขึ้น
จริง ๆ แล้วหนังเรื่องนี้สอนว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว คำสอนพระพุทธเจ้าง่าย ๆ แค่นั้นเอง เพียงแต่ว่าวิธีการเล่า มันก็แล้วแต่ผู้กำกับที่เขาอยากเล่าแบบไหน วิธีไหน แล้วก็อีกอย่างหนึ่ง จริง ๆ ผมก็แปลกใจที่ว่ายังมีคณะกรรมการดูแล้วรู้สึกแบบนั้น เพราะจริง ๆ ถ้าเกิดว่าภาพยนตร์ที่เราดูแล้วรู้สึกว่ามีแนวโน้มที่จะรู้สึกแบบนั้น เราจะไม่แปลกใจ แต่อันนี้ไม่ใช่เพราะมันเคลียร์มาก ๆ แล้วก็ไม่มีอะไรที่ซับซ้อนเกินความไม่เข้าใจ ดูจบแล้วรักศาสนามากขึ้น ผมว่าคนไทยโดยเฉพาะชาวพุทธจะรักหนังเรื่องนี้ ผมเชื่อมั่นอย่างนั้นครับ”

เผยยังไม่รู้ว่าจะได้รับบทสรุปเมื่อไหร่ ส่วนความเสียหายกับสหมงคลฯ มีแน่นอน บอกแม้จะบั่นทอนแต่ดีใจที่ประชาชนออกมาเคลื่อนไหว
“จากการยื่นไปครั้งนี้ใช่ไหมครับ ก็ไม่แน่ใจ ตอนนี้รอคำตอบว่าคณะกรรมการเขาจะรับหรือเปล่า จะรับตรวจอีกครั้งหรือเปล่า หรือรับแล้วจะรับเมื่อไหร่ จะตรวจเมื่อไหร่ อันนั้นยังไม่ทราบครับ สำหรับเราความเสียหายมีแน่นอน (หัวเราะ) มันเสียหายแน่ ๆ ครับ แต่ว่าผมไม่รู้ว่ายังไง เท่าไหร่”

ก็บั่นทอนคนทำงานนะครับ แต่ผมข้ามความรู้สึกนั้นมานานแล้ว ตอนนี้ผมดีใจที่ประชาชนสังคมเคลื่อนไหวในรูปแบบแบบนี้ แล้วก็สื่อมวลชนให้ความสนใจในการนำเสนอเรื่องนี้ แล้วทุกคนก็คงหวังให้ทุกอย่างมันออกมาดี แล้วก็พัฒนาสังคมอันนี้ผมดีใจครับ"

“จริงๆ แล้วในโลกของการสร้างสรรค์มันควรจะเปิดกว้าง คุณจะอะไรก็ได้เพียงแต่ว่าคุณต้องรู้นะว่าสิ่งที่คุณเสนอไปมันให้อะไรกับสังคม ง่าย ๆ ทุกคนก็รู้อยู่แล้วควรจะให้ดีกับสังคม ไม่ใช่ไปให้ร้าย”





ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม
กำลังโหลดความคิดเห็น