xs
xsm
sm
md
lg

“อนันตพร” อ้างยังไม่พิจารณา พ.ร.บ. ปิโตรเลียม ทั้งที่ “อารีพงศ์” บอก ครม. รับหลักการไปแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน (ภาพจากแฟ้ม)
ใครโกหกกันแน่? รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อ้างที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ยังไม่พิจารณา พ.ร.บ. ปิโตรเลียมในวันนี้ แค่เสนอความเห็นจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทั้งที่ “อารีพงศ์” ปลัดพลังงานบอกไปเมื่อเช้า ว่า ครม. เห็นชอบในหลักการไปแล้ว

วันนี้ (8 ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงการพิจารณาพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ. ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ว่า ตนได้นำความเห็นจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. รวม 26 ประเด็น แบ่งเป็นเรื่อง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม 11 ประเด็น และ พ.ร.บ. ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม จำนวน 15 ประเด็น เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี สำหรับกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย ตนขอชี้แจงว่า ยังไม่มีการพิจารณาในเรื่อง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม ในวันนี้ มีเพียงการนำเสนอใน 26 ประเด็นข้างต้น ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวว่า ในเมื่อกระทรวงพลังงานพูดคุยกันเรียบร้อยแล้ว จึงอยากให้มีการทบทวนหรือปรับปรุงกฎหมายฉบับดังกล่าวให้ครบถ้วน เอาความเห็นกระทรวงพลังงานส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาทบทวนกฎหมายต่อไป โดยให้แนวคิดว่าสิ่งใดใส่ลงไปในกฎหมายให้ใส่ลงไป เพื่อให้เกิดความสบายใจกับทุกฝ่าย และส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา 3 วาระตามปกติ

พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้น รวม 15 คน แบ่งเป็น สนช. 12 คน และรัฐบาล 3 คน เพื่อให้เกิดความหลากหลาย และประสาน สนช. ให้มีคณะกรรมาธิการอีก 30 - 35 คน ให้ทุกฝ่ายได้เสนอความเห็น ทั้ง สนช. รัฐบาล เอกชน ประชาสังคม และนักวิชาการ เพื่อหาข้อยุติ และให้ สนช. นำไปตรากฎหมายต่อไป หากแก้กฎหมายทางกระทรวงพลังงานอาจเกิดความไม่คล่องตัว หรือยืดหยุ่นในการทำงาน และไม่ยืดหยุ่นต่อบริษัทพลังงานต่อปิโตรเลียม ในการเจรจาผลประโยชน์ตอบแทนในการจูงใจให้ดำเนินการในพื้นที่ที่น้ำมันมากหรือน้อย ซึ่งที่ผ่านมาอยู่ประกาศหรือกฎกระทรวง แต่ถ้าจะให้เป็น พ.ร.บ. ก็จะให้ สนช. พิจารณาหลากหลาย ซึ่งกระทรวงพลังงานก็ยินดีปฏิบัติ แม้การดำเนินในอนาคตจะยากขึ้นก็ตาม แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ฝ่ายต้องการให้การทำงานของกระทรวงพลังงานมีหลักการชัดเจนมากขึ้น ไม่อยากให้เป็นการใช้ดุลพินิจ หรืออำนาจในการตกลงใจ ให้ สนช. นำไปเปรียบเทียบต่อไป

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ภายหลังจากที่เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเรียกร้องขอให้ยุติการพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ. และ พ.ร.บ. ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่เสนอโดยกระทรวงพลังงาน เข้าสู่การพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา กระทั่ง นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ครม. เห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ. ทั้งสองฉบับ ขณะที่นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียมที่รัฐบาลได้พยายามผลักดัน ล้วนแต่เป็นสิ่งที่หน่วยงานต่าง ๆ เสนอมา เพื่อแก้ไขปัญหาที่คั่งค้าง ซึ่งกระบวนการพิจารณาไม่ได้สิ้นสุดที่รัฐบาล แต่ยังต้องผ่านการพิจารณาอีกหลายขั้นตอน และบางเรื่องอาจจะไม่ได้ข้อยุติในเร็ววันนี้ โดยเฉพาะกรณีของพลังงาน ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องหาทางเพื่อให้มีพลังงานสำรองไว้ใช้ในอนาคต แต่หากมัวออกมาคัดค้านอาจจะทำให้เกิดปัญหาเรื่องของพลังงานในอนาคตได้.

ข่าวประกอบ

- คปพ.ร้องนายกฯ เบรก 2 กม.ปิโตรเลียมเข้า ครม.ชี้ยังไม่ได้แก้ปม หากผ่านชาติเสียหายแน่
- เมินม็อบค้าน กม.ปิโตรเลียม “ปลัดพลังงาน” ยืนยัน ครม.รับหลักการ 2 ร่างแล้ว
- “บิ๊กตู่” ห่วงค้าน กม.พลังงาน มีปัญหาต้องช่วยรับผิดชอบ ฉะสื่อกุข่าว สปท.ไม่สบายใจ
- “วิษณุ” แจงลักหลับ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม หยันกลุ่มต้านอยากแก้ก็ไปเติมกฎหมายทีหลัง


กำลังโหลดความคิดเห็น