xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลประยุทธ์ จากจุดแข็งความมั่นคง “ทีมพี่ใหญ่” พลิกเป็นจุดอ่อน !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา

ต้องยอมรับว่า เวลานี้รัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเผชิญกับปัญหามากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งที่เป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมาจากรัฐบาลก่อน ๆ และปัญหาที่เกิดขึ้นจากคนในรัฐบาลของเขาเอง จนทำให้เป็นที่น่าจับตามองว่าสิ่งที่เคยมั่นใจว่าเป็น “จุดแข็ง” กำลังจะกลายเป็น “จุดอ่อน” บ่อนเซาะจนทำลายศรัทธาจากประชาชนลงไปเรื่อย ๆ หรือไม่

แน่นอนว่า สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเคยกล่าวอย่างมั่นใจ และให้เครดิต ก็คือ “ทีมงานด้านความมั่นคง” ที่นำโดย “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพราะที่ผ่านมา สามารถควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย จนทำให้รัฐบาลสามารถมีเวลาไปแก้ปัญหาสำคัญอื่น ๆ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง และแม้ว่าเป็นงานหิน แก้ยาก แต่เมื่อสามารถควบคุมให้เกิดความสงบเรียบร้อยเอาไว้ได้ ก็ทำให้มีสมาธิไปแก้ปัญหาอย่างอื่นได้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาผ่านไป ยิ่งนานวันกลับกลายเป็นว่า “ทีมความมั่นคง” ทีมเดียวกันนี้ทำท่าจะกลายเป็นว่าจะกลายเป็น “จุดอ่อน” กับรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อย่างหน้าตาเฉย ซึ่งสิ่งที่ต้องพิจารณากัน ก็คือ อาจเป็นเพราะเป็น “ทีมใหญ่” ที่เกี่ยวข้องกับ “อำนาจ” อันมหาศาล และแน่นอนว่าจะต้องแวดล้อมและเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ตามมาแบบไม่อาจเลี่ยงได้พ้น

หากพิจารณาในเชิงอำนาจก็ต้องยอมรับว่า ทั้งในรัฐบาล และใน คสช. บุคคลที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดก็คือ “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จนในช่วงแรกถึงกับมีข้อสงสัยด้วยซ้ำไปว่า กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ใครมีอำนาจแท้จริงมากกว่ากัน แต่อย่างไรก็ดีเมื่อวัดกันจากศรัทธาจากประชาชน จากผลสำรวจทุกสำนัก อีกทั้งด้วยบุคลิกท่าทาง และการบริหารจัดการก็ออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังกินขาด

ในทางตรงกันข้าม เมื่อพิจารณาจากผลลัพธ์ที่ออกมา ยิ่งชัดเจนว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่อาจเพิ่มความศรัทธาได้มากขึ้นเลย ส่วนใหญ่เป็นผลออกมาในทางลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องยอมรับความจริงว่าสังคมภายนอกอาจมองด้วยสายตาที่หวาดระแวง ไม่มั่นใจเต็มร้อย ส่วนหนึ่งอย่างระบุตั้งแต่ต้นว่า เป็นเพราะมีความรับผิดชอบในภารกิจสำคัญที่สุด ถูกมอบหมายให้เข้าไปดูแลในเรื่องสำคัญก็ย่อมมีทั้งฝ่ายที่ได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์ ฝ่ายเสียประโยชน์ก็อาจสร้างเรื่องโจมตีก็ได้

หากพิจารณาจากภารกิจที่ได้รับมอบหมายใช้อำนาจแทนนายกฯ ก็มีทั้งเป็นรองนายกฯอันดับหนึ่ง นั่นหมายความว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปต่างประเทศ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นี่แหละจะทำหน้าที่แทนทุกครั้ง ภารกิจที่ดูแลก็มีทั้งตำรวจ ทหาร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ เอาเป็นว่าถ้าเป็นเรื่องสำคัญเขาจะเข้ามาดูแลทุกเรื่อง อย่างไรก็ดี เมื่อเป็น “พี่ใหญ่” มันก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมี “ทีมงาน” มีเครือข่ายแวดล้อมคอยเป็นมือเท้าจำนวนมาก มากันแบบร้อยพ่อพันแม่ มีทั้งประเภทลูกน้อง เป็นเครือญาติ ซึ่งแน่นอนว่า ในจำนวนนั้นย่อมมีไม่น้อยที่ “แฝงตัว” เข้ามาหาผลประโยชน์ ซึ่งเป็นเรื่องทั่วไปสำหรับคนที่มีอำนาจแบบนี้

ขณะเดียวกัน หากมีการพิจารณาแบบแยกย่อยลงไปอีก ในแบบแยกส่วนเฉพาะเรื่อง ในระยะหลังที่ “พี่ใหญ่” เริ่มส่งสัญญาณพลาดมาแบบคาดไม่ถึง อาจเป็นเพราะ “พูดไม่เก่ง” หรือเป็นคำพูดที่ “หลุด” ออกมาแบบไม่ตั้งใจ แต่ก็อย่างว่าในฐานะคนสำคัญก็ย่อมถูกโฟกัส และนำไปขยายผลจนลุกลามบานปลาย ที่เห็นได้ชัดเริ่มจากการ พลาดในคดี มาตรา 112 ที่ในตอนแรกรีบออกตัวยืนยันแข็งกร้าวว่า “ไม่มีทหารเกี่ยวข้อง” พร้อมทั้งย้ำว่า ข่าวที่อ้างคำพูดของ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพรามณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หัวหน้าพนักงานสอบสวน ที่ระบุว่า มีทหารเกี่ยวข้องสี่ห้าสิบคนนั้นไม่จริงและขู่ว่าจะมีการฟ้องสื่อที่ปูดข่าง แต่ในภายหลังไม่นานก็มีการออกหมายจับนายทหารคนสำคัญตามมาสองนาย คือ พ.อ.คชาชาต บุญดี และ พล.ต.สุชาติ พรมใหม่ แม้ว่าจะไม่ใช่จำนวนถึง 4-50 คนแต่อย่างน้อยมันก็เป็นความจริงว่ามีทหารเกี่ยวข้อง และต่อมาทหารทั้งสองนายดังกล่าวก็หลบหนี

เฉพาะแค่เรื่องมีนายทหารคนสำคัญเข้าไปเกี่ยวข้องกับคดี “อ่อนไหว” ดังกล่าวมันก็ทำให้สังคมเริ่มมองด้วยสายตาสงสัย และช่วยไม่ได้ที่จะเริ่มถูกระแวงว่าปกปิดช่วยเหลือพวกเดียวกัน เพราะแทนที่จะพูดเน้นย้ำตั้งแต่ต้นว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายตำรวจที่จะดำเนินการ หากพบว่าใครทำความผิดหรือเกี่ยวข้องก็ให้ดำเนินคดีตามกฎหมายให้เต็มที่ไม่มีข้อยกเว้น แบบนี้ถึงจะได้ใจ

จนกระทั่งลุกลามต่อเนื่องมาถึงกรณี “ค่าหัวคิว” จากโรงหล่อพระบรมรูปฯโนโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ แม้ว่าในความเป็นจริงในเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับคนทั่วไป รวมไปถึงฝ่ายตรงข้ามที่จ้องฉวยจังหวะเข้ามาดิสเครดิตอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า “หากเปิดทาง” ให้ตรวจสอบอย่างเต็มที่ตั้งแต่ต้น แต่นี่ก็มาในทำนองเดียวกัน คือ “ปิดทาง” กลายเป็น “เขตทหารห้ามเข้า” มีแต่คำยืนยันจากปากเปล่าคนกันเองเท่านั้นว่าไม่โกงไม่ทุจริต แม้ว่าอาจจะจริงหรทอไม่จริง แต่ในสายตาของสังคมภายนอกมันไม่ใช่เป็นเครื่องการันตี เหมือนกับที่เวลานี้มีการตั้งคณะกรรมการที่มี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รอ

ปลัดกระทรวงกลาโหม ขึ้นมาตรวจสอบอีกชุดหนึ่ง หลังจากก่อนหน้านี้ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบกเคยตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนใน 7 วันมาแล้ว แต่ยังไม่ครอบคลุมทุกประเด็น

คราวนี้ก็เช่นเดียวกัน การตั้งคณะกรรมการโดยกระทรวงกลาโหม ขึ้นมาตรวจสอบล่าสุดก็ถือว่า “ไม่ตอบโจทย์” ไม่ได้สร้างความน่าเชื่อถือจากภายนอก ที่สำคัญ ไม่ได้ลดเงื่อนไขโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามได้เลย เพราะยังถูกมองว่า “สอบกันเอง” รู้คำตอบล่วงหน้าแล้วอะไรประมาณนั้น แทนที่จะเปิดทางให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้ามาสอบ และมีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ใครผิดก็ว่ากันไปตามผิด แม้ว่าผลที่ออกมาอาจจะ “สั่นสะเทือน” กันบ้าง แต่ก็น่าจะดีกว่าทำแบบนี้ เพราะความเชื่อมั่นจะต่างกันลิบลับ

ขณะเดียวกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่ากรณีค่าหัวคิวการก่อสร้างโครงการอุทยานราชภักดิ์ ย่อมส่งผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้ต่อ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม อดีตผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเป็นแกนนำคนสำคัญใน คสช. เพราะเป็นประธานมูลนิธิอุทยานราชภักดิ์ และในเวลานี้มีอดีตคนสนิทถึงสองคนเข้าไปเกี่ยวข้องและถูกออกหมายจับ และหลบหนีไปต่างประเทศแล้วทั้งหมด ดังนั้น เวลานี้ปัญหาก็คือ หากทอดเวลานานออกไปไม่ว่าในที่สุดแล้ว เขาจะตัดสินใจลาออกหรือไม่ก็ตาม ปัญหามันอาจไม่หยุดอยู่แค่นี้แล้วก็ได้ แต่ขณะเดียวกันภาพลักษณ์ของรัฐบาล และ คสช. ในเวลานี้ส่วนสำคัญล้วนมาจากต้นตอของ “ทีมพี่ใหญ่” ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ จากเรื่องดังกล่าวยังอาจสร้าง “รอยปริร้าว” ภายในให้เกิดขึ้นมา โดยเฉพาะเป้าสายตาที่มีต่อ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช กับ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร

ดังนั้น จากเดิมที่เคยมองว่าเป็นจุดแข็ง แต่นานทีน่าจับตากันว่าำลังจะกลายเป็น “จุดอ่อน” ให้กับรัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่ !!
กำลังโหลดความคิดเห็น