xs
xsm
sm
md
lg

ใครต้องรับผิดชอบกรณีราชภักดิ์

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

กรณีราชภักดิ์คงไม่จบง่ายๆ แล้ว เรื่องนี้เริ่มจากมีการกวาดล้างแก๊งหมอหยอง แล้วปรากฏว่าตัวละครมันพัวพันกับกลุ่มที่มีบทบาทในการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ จนกระทั่งพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม อดีต ผบ.ทบ.ซึ่งเป็นประธานในการจัดสร้างและต่อมาเป็นประธานมูลนิธิราชภักดิ์ ออกมายอมรับว่า มีการแอบอ้างรีดไถจริง จนกระทั่งสังคมอื้ออึงว่า การพูดของพล.อ.อุดมเดชนั้นเท่ากับรับสารภาพแล้วว่ามีคนกระทำผิด ทำไมถึงไม่ดำเนินการตามกฎหมาย

นักข่าวไปถามพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ และรมว.กลาโหม ก็อ้ำอึ้งๆ เบี่ยงเบนไปมาว่า ไม่มีเจ้าทุกข์ ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับกองทัพ ก่อสร้างด้วยเงินบริจาค ไม่ใช่เงินของแผ่นดิน ทั้งๆ ที่สร้างในพื้นที่ของกองทัพบก และต่อมาพ.อ.คชาชาต บุญดี ก็หลบหนีไปและพล.ต.สุชาติ พรมใหม่ก็ขอลาออกจากราชการ นักข่าวถามพล.อ.ประวิตรก็บอกว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ แล้วพูดทำนองว่าพล.ต.สุชาติลาออกเพราะอาจเบื่อชีวิตราชการ พ.อ.คชาชาต ต่อมาก็ถูกถอดยศริบเครื่องราช ส่วนพล.ต.สุชาติถูกออกหมายจับ

จนพล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ.ประกาศตั้งกรรมการสอบ คนก็คิดว่า คงเอาจริงแน่เพราะมีภาพขัดแย้งกับพล.อ.อุดมเดช แต่สุดท้ายก็ออกมายืนยันว่าไม่มีการทุจริต แต่บอกว่าการแอบอ้างหักหัวคิวนั้นให้ไปถามพล.อ.อุดมเดชเอาเอง สังคมก็ยิ่งตั้งคำถามไปใหญ่ว่า ตกลงยังไงแน่ บอกว่า ไม่มีทุจริต แล้วทำไมไม่ยอมตอบเรื่องหักหัวคิว เรื่องนี้ก็เลยไม่จบ เพราะสังคมไม่เชื่อถือ พวกเสื้อแดงก็ออกมาเขย่ากันใหญ่ว่า จะต้องเอาคนผิดมาลงโทษ

ต่อมายืนยันว่าเรื่องนี้รัฐบาลรับรู้มาตั้งแต่ต้นเพราะเป็นมติครม. รวมทั้งมีการเปิดเผยว่า มีการเบิกงบกลางของกองทัพไป 63 ล้านบาท สำหรับใช้ในโครงการนี้ ที่พล.อ.ประวิตรแก้ตัวมาตลอดก็ฟังไม่ขึ้น

แล้วพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็พูดกับนักข่าวว่า “ท่านก็ทรงรับสั่งมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ชิด หรือคนต่างๆ หากทำความผิด ก็ต้องถูกลงโทษ นี่คือสิ่งที่ทรงรับสั่งมาตลอด ให้ความเป็นธรรมกับเขา ถ้าไม่ดี ก็ต้องลงโทษ ยิ่งใกล้ถ้าผิดก็ต้องลงโทษ ถ้าไม่ผิดก็แล้วไป”

จนกระทั่งต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบใหม่อีกรอบ โดยให้กระทรวงกลาโหมเป็นเจ้าภาพ งานนี้ยังไม่รู้ออกหัวหรือก้อย แต่จะทำแบบกรรมการตรวจสอบชุดที่ ผบ.ทบ.ตั้งแล้วออกมาสรุปง่ายๆ คงจะไม่ได้อีกแล้ว

อีกด้านณัฐวุฒิกับจตุพรก็ประกาศว่า จะไปดูอุทยานราชภักดิ์ เหมือนตั้งใจยั่วทหารนั่นแหละ สุดท้ายทหารก็พลาดจนได้เพราะไปกินเหยื่อที่สองตัวนี้วางไว้ จากนี้ไม่รู้ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร แต่ถูกเอาไปขยายความแน่ๆ ว่า ทหารมีแผลถึงไม่ยอมให้สองตัวนี้ไปดู กระทั่งพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ยังตั้งคำถามว่าไปจับเขาทำไม สุดท้ายดีที่ปล่อยออกมา

นักข่าวไปถามพล.อ.ประวิตรอีกถึงกระแสกดดันให้พล.อ.อุดมเดชลาออก พล.อ.ประวิตร บอกว่า “ผมมองว่า พล.อ.อุดมเดช มีวุฒิภาวะมาก เป็นถึงอดีต ผบ.ทบ. ท่านคงคิดของท่านอยู่ว่าควรจะทำอย่างไร ผมคงไม่ต้องไปบอกท่านว่าต้องคิดแบบนี้หรือแบบนั้น เพราะไม่ใช่เด็ก อย่างไรก็ตาม คงไม่มีสัญญาณจากผู้ใหญ่บอกให้ท่านดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะผมก็เป็นผู้ใหญ่ ยืนยันว่าเรื่องอุทยานราชภักดิ์ไม่ใช่จุดอ่อนของรัฐบาล เพราะเรามีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเรื่องทุจริตแล้ว”

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาพล.อ.อุดมเดช ยืนยันว่า จะไม่ลาออกจากตำแหน่ง เพราะพูดกับผู้ใต้บังคับบัญชามาตลอดว่า การทำงานต้องทำให้เรียบร้อยที่สุด ต้องโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้

แต่พอกลับจากฝรั่งเศสพล.อ.ประยุทธ์ก็พูดตอกย้ำอีกว่าเรื่องจะออกไม่ออกพล.อ.อุดมเดชคิดเองได้

ดูเหมือนว่า แม้จะแก้เกมด้วยคณะกรรมการตรวจสอบใหม่ก็เอาไม่อยู่ จึงส่งสัญญาณทั้งพล.อ.ประวิตร พล.อ.ประยุทธ์ไปถึงพล.อ.อุดมเดชให้พิจารณาตัวเองเหมือนไล่กันทางอ้อม สุภาษิตของชายชาติทหารจากวจีอันลือลั่นในอดีตของพล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตนายทหารรุ่นพี่ที่ว่า ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน ดูเหมือนจะเอาไม่อยู่แล้ว

ถึงตอนนี้พล.อ.อุดมเดชคงอยู่ยาก แต่ตอนที่เขียนต้นฉบับนี้ ยังไม่รู้ว่าพล.อ.อุดมเดชตัดสินใจอย่างไร

ถามว่าถ้ากรณีคณะกรรมการตรวจสอบออกมาว่ามีความผิดจริง มีการทุจริตเกิดขึ้นจริง ความรับผิดชอบควรจะเป็นของพล.อ.อุดมเดชคนเดียวหรือ

เช้าวันก่อนในวงกาแฟเราพูดถึงกรณีราชภักดิ์ขึ้นมา คุณสนธิ ลิ้มทองกุล พูดถึงเรื่องนี้ไว้น่าสนใจ คุณสนธิบอกว่า กรณีนี้เราต้องแยกระหว่างคำว่า Responsibility กับคำว่า Accountability ในส่วนของผู้ปฏิบัติงานนั้นสิ่งที่ต้องมีคือ Responsibility คือ ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ แต่เมื่อเกิดเรื่องที่ไม่ถูกต้องและเกิดความผิดพลาดขึ้นมา แน่นอนว่า ผู้ปฏิบัติหน้าที่ต้องมีความรับผิดชอบเพราะได้รับมอบหมาย แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ผู้บังคับบัญชาจะต้องมี Accountability คือ ร่วมรับผิดชอบด้วย

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราในฐานะหัวหน้าหน่วยงานได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติสิ่งหนึ่ง เรามอบงานต่อให้ลูกน้องไปรับผิดชอบ (Responsibility) แต่เมื่อเกิดความเสียหายเราจะโยนให้เป็นความผิดของลูกน้องคนเดียวไม่ได้ แต่เราต้องมีความรับผิดชอบร่วมอยู่ด้วย (Accountability) เพราะถ้างานที่ได้รับมอบหมายประสบความสำเร็จผู้บังคับบัญชาก็ได้รับความสำเร็จนั้นไปด้วย ไม่ใช่เอาแต่รับชอบแต่ไม่รับผิด

ในกรณีราชภักดิ์ก็เช่นเดียวกัน พล.อ.อุดมเดชได้รับมอบหมายจากรัฐบาล จากกระทรวงกลาโหมให้เป็นหัวหน้าโครงการ Responsibility ของพล.อ.อุดมเดชคือ ต้องทำงานนี้ให้สำเร็จ แต่เมื่อเกิดความผิดพลาดแน่นอนว่า พล.อ.อุดมเดช มีความผิด แต่เหนืออื่นใด ผู้บังคับบัญชาที่มอบหมายงานซึ่งอยู่เหนือพล.อ.อุดมเดชขึ้นไปคือ พล.อ.ประวิตร ในฐานะรมว.กลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีจะต้องมี Accountability คือ ความร่วมรับผิดชอบด้วย

เหนือขึ้นไปกว่าคือ Accountability ในฐานะ คสช.เพราะที่อยู่เหนือรัฐบาลก็คือ คสช.ทั้งพล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร และพล.อ.อุดมเดช ล้วนแล้วแต่เป็นสมาชิก คสช.

กรณีเดียวกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ต้องรับผิดในกรณีจำนำข้าว แม้ความผิดพลาดจะเกิดจากรัฐมนตรีและผู้ปฏิบัติงานที่นำไปปฏิบัติ แต่น.ส.ยิ่งลักษณ์จะต้องร่วมรับผิดชอบด้วยในฐานะผู้บังคับบัญชา ไม่งั้นถามว่ารัฐบาลประยุทธ์จะไปเอาผิดน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้อย่างไร ถ้าเขาอ้างว่าเขาเป็นคนมอบนโยบายแต่ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติ

อย่าลืมว่างานนี้เป็นงานระดับชาติที่ ครม.มีมติให้ดำเนินการ มีพระบรมราชานุญาตให้ก่อสร้าง ผลงานนี้จึงต้องเป็นความรับผิดชอบร่วมกันตามระดับชั้น ถ้าพบว่ามีความผิดจริงจะตัดตอนให้เป็นความผิดของผู้ปฏิบัติงานจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น