เมืองไทย 360 องศา
จะเรียกว่าโชคชะตาพลิกผันกลายเป็นอีกทางอย่างไม่น่าเชื่อก็ว่าได้ สำหรับ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม อดีตผู้บัญชาการทหารบก และอดีตเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพราะหากมองย้อนกลับไปเพียงไม่กี่เดือนนายทหารคนนี้ถูกมองว่ากำลังรุ่งโรจน์เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในยุคที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังเรืองอำนาจ
แต่แล้วจู่ๆ ทุกอย่างกำลังกลายเป็นตรงกันข้าม กำลังถูกสังคมเพ่งมองด้วยสายตาแปลกๆ ระคนด้วยความสงสัยอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นแบบนี้มาก่อน
แน่นอนว่าปมสงสัยจากการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ในพื้นที่ของกองทัพบก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวงเงินประมาณ 1 พันล้านบาท กำลังทำให้ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ต้องเสียเครดิตไปไม่น้อย ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งก็ถูกมองว่าเขากำลังกลายเป็น “เหยื่อ” จากขั้วการเมืองตรงข้ามต้องการนำเรื่องอื้อฉาวดังกล่าวไปขยายผลกระทบชิ่งทำลายรัฐบาลและ คสช.ที่ถือว่าเป็น “กลุ่มอำนาจใหม่” ในเวลานี้แบบไม่ยอมให้จบลงง่ายๆ
อย่างไรก็ดีจะว่าไปแล้วในความเป็นจริงก็คือ หากในตอนแรกคนสำคัญในรัฐบาล ออกมาแสดงท่าทีแบบเดียวกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่เปิดทางให้มีการสอบสวนหาข้อเท็จจริงและย้ำว่า “ใครผิดก็ว่ากันตามกฎหมาย” แต่กลายเป็นว่าเมื่อมาถึงท่าทีของ “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กลับไปอีกทางและถูกตีความออกมาในลักษณะ “เขตทหารห้ามเข้า” ย้ำว่าการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ไม่ได้ใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน แต่เป็นการใช้เงินบริจาคและเห็นว่าเรื่องที่เกิดขึ้น “ไม่ใช่เรื่องใหญ่” คำพูดดังกล่าวทำให้เสียความรู้สึกในหมู่คนกันเองไม่น้อย โดยเฉพาะฝ่ายมวลชนที่หนุนรัฐบาลและ คสช.
นอกจากนั้น สิ่งที่บานปลายจนขยายความออกไปหลังจากมีรายงานออกมาว่ามีนายทหารยศพันเอกซึ่งมีการเปิดเผยชื่อในเวลาต่อมาว่าคือ พ.อ.คชาชาต บุญดี อดีตเสนาธิการประจำกองทัพภาคที่ 3 ได้หลบหนีออกไปทางด่านแม่สอด จังหวัดตาก มีการระบุวันเวลาชัดเจน แต่เมื่อมีการสอบถามจากบุคลที่เกี่ยวข้อง เช่น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในตอนแรกก็ย้ำว่าไม่รู้ไม่ทราบ จนกระทั่งมีการออกหมายจับก็บอกว่า “จะใหัผมทำอย่างไรก็เขาหนีไปแล้ว” ประมาณนี้ หรือก่อนหน้านั้นที่มีรายงานข่าวว่ามีนายทหารหลายคนเกี่ยวข้องกับความผิดตามมาตรา 112 ในตอนนั้นก็มีการปฏิเสธอย่างแข็งขัน ถึงขนาดจะฟ้องสื่อว่าทำให้กองทัพเสียหาย
จนล่าสุดเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ก็มีการออกหมายจับ พล.ต.สุชาติ พรมใหม่ หรือ “เสธ.โต” ในความผิดเกี่ยวกับมาตรา 112 อีกคน โดยเขาถูกออกหมายจับพร้อมกับตำรวจอีก 2 นาย คือ พ.ต.อ.ไพโรจน์ โรจนขจร อดีต ผกก.2 ป.และ พ.ต.ท.ธรรมวัฒน์ หิรัณยเลขา อดีตรอง ผกก.2 บก.ป. และจากการให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หัวหน้าชุดควบคุมคดียังเปิดเผยว่ายังมีนายทหารและตำรวจที่กำลังขออนุมัติหมายจับอีกกว่า 4 นาย โดยเฉพาะตำรวจมียศสูงกว่าพันตำรวจเอกอีกด้วย
โดยในวันเดียวกันก็มีการเผยแพร่ในราชกิจจาฯ ให้ถอดยศและริบเครื่องราชฯ จาก พ.อ.คชาชาต บุญดี อีกด้วย ดังนั้น หากพิจารณาเฉพาะกรณีของนายทหารเวลานี้ก็ถูกออกหมายจับไปแล้ว 2 คน คือ พล.ต.สุชาติ พรมใหม่ และ พ.อ.คชาชาต บุญดี ซึ่งคนแรกก่อนหน้านี้ก็น่าจะเป็นนายทหารที่ได้ลาออกจากราชการและไม่มีการเปิดเผยชื่อออกมา
จนกระทั่งในที่สุดทั้งคู่ก็ถูกออกหมายจับ และยังมีอีกจำนวนหนึ่งจะตามมาอีก ซึ่งก็แย้งกับคำพูดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมว่าไม่มีทหารเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่ต่างจากคำยืนยันของ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล หัวหน้าชุดสอบสวนที่ยืนยันตามมาในแบบเดียวกัน ทุกอย่างมันจึงยิ่งทำให้เกิดความสงสัยเหมือนกับการ “ปิดบัง” หรือพูดไม่หมด จนอึมครึม
วกมาที่นายทหารที่ถูกออกหมายจับ คือ พล.ต.สุชาติ พรมใหม่ และ พ.อ.คชาชาต บุญดี สื่อมีการรายงานตรงกันว่าเป็น “นายทหารคนสนิท” ของ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม อดีตผู้บัญชาการทหารบก เพียงแค่นี้ก็สร้างความ “สั่นสะเทือน” ก่อ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เข้าอย่างจัง แม้ว่านาทีนี้ยังไม่พบว่าตัวเขาจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องอื้อฉาวเหล่านั้นก็ตาม ขณะเดียวกันน่าสังเกตก็คือคำพูดของ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก ที่ออกมาแถลงข่าวตัดบทว่าในส่วนของกองทัพบกไม่มีการทุจริต ไม่ต้องมาตรวจสอบ และย้ำในทำนองว่าการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้นมาก็เป็นการตรวจสอบเงินเหลือในบัญชีจำนวน 33 ล้านบาทก่อนเข้ามารับหน้าที่ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ส่วนเรื่อง “ค่าหัวคิว” ให้ไปถาม พล.อ.อุดมเดช เอาก็แล้วกัน
เมื่อพิจารณาตามรูปการณ์แล้ว สำหรับ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ก็เหมือนกับต้องการ"เคลียร์คัต"ไปเลยว่าไม่เกี่ยวข้อง ความหมายคือเคลียร์เฉพาะเงินที่เหลือในบัญชีที่ต้องรับมาทำต่อในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่เท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานของมูลนิธิราชภักดิ์ หากพิจารณาแบบนี้ความกดดันก็ยังตกอยู่กับ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เพราะเคยยอมรับว่ามีการ “อมค่าหัวคิว” จากโรงหล่อพระบรมรูปฯ จริงโดยเซียนพระคนหนึ่ง และยังยอมรับว่ามี พ.อ.คชาชาติ บุญดี ไปเคลียร์ในเรื่องดังกล่าวจนทำให้เจ้าของโรงหล่อดังกล่าวนำเงินส่วนต่างไปสมทบบริจาค ดังนั้นเชื่อว่าเรื่องราวคงยังไม่จบง่ายๆ เพราะเวลานี้ยังมีบางกลุ่มไม่ยอมให้จบ
แน่นอนว่าเรื่องแบบนี้ พรรคเพื่อไทยและเครือข่ายย่อมต้องไม่ยอมให้จบ เพราะนี่คือ “เงื่อนไข” สำคัญที่ต้องการขยายผลไปให้ไกลกว่านั้น โดยเฉพาะกับรัฐบาลและ คสช.ที่เคยมีการประกาศเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ ดังนั้นก็ต้องจับตาดูว่าในที่สุดแล้วจะเปิดทางให้องค์กรอิสระจากภายนอกเข้าไปสอบสวนตามข้อเท็จจริงได้หรือไม่
เพราะการที่มีการสั่งการให้ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเกี่ยวกับการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ขึ้นมามันก็ยังคงมีข้อครหาอีกว่า “พวกเดียวกัน” รู้คำตอบอยู่แล้ว มันก็คงไม่ตอบโจทย์ได้เต็มร้อย อีกทั้งยังมีข้อมูลอีกว่า พล.อ.ปรีชา รวมไปถึงนายทหารอีกบางคนก็เคยเป็นกรรมการในการก่อสร้างอุทยานฯ ก็ยิ่งไม่สง่างามอีก ดังนั้นหากต้องการปิดจุดอ่อนก็ต้องรีบดำเนินการ
อย่างไรก็ดี นาทีนี้หากพิจารณาเฉพาะ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ถือว่าน่าเห็นใจ และคาดไม่ถึงว่าจะอยู่บรรยากาศแบบนี้ไปได้ และอย่าได้แปลกใจที่เริ่มได้ยิน “ข่าวลือ” เข้ามาว่ากำลังตัดสินใจเพื่อแสดงสปิริตบางอย่างออกมา!