xs
xsm
sm
md
lg

ทุจริต-ปกป้องพวกพ้องบทเรียนเก่าย้อนทำลาย “ประยุทธ์-คสช.”!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา

มาถึงนาทีนี้ยังไม่แน่ใจว่ากรณีการเรียกค่าหัวคิวในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ในพื้นที่โรงเรียนนายสิบทหารบก ของกองทัพบก ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ด้วยงบประมาณ 1 พันล้านบาท จะลุกลามบานปลายออกไปไกลแค่ไหน เพราะเวลานี้สังคมเริ่มมีความคลางแคลงใจกับวิธีการสอบสวนของทั้งจากกองทัพบก และแม้ว่าล่าสุดจะมีการมอบหมายให้ฝ่ายกระทรวงกลาโหม เป็นฝ่ายสอบสวนหาข้อเท็จจริงขึ้นมาอีกก็ตาม เพราะในความรู้สึกของชาวบ้านก็คือมัน “ไม่เคลียร์”

ความหมายก็คือ การตั้งคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าวนั้น ในสายตาชาวบ้านแล้วถือว่าไม่ได้รับความเชื่อถือ ไม่ต่างจากเจตนา “ปกปิด ปกป้องพวกเดียวกัน”

หากย้อนกลับไปไม่นานก็ต้องบอกว่า เหตุการณ์ที่ทำท่าลุกลามและกำลังกลายเป็น “เหยื่อ” ของพวกเครือข่ายทักษิณ ชินวัตร ที่แอ็กชันผ่านพรรคเพื่อไทย แกนนำ นปช. มาจากการ “ไม่รู้จักอารมณ์ของชาวบ้าน” ไม่สรุปบทเรียนเก่า ๆ ในอดีตที่เคยเป็นจุดอ่อนและเงื่อนไขทำให้แทบทุกรัฐบาลพังมาแล้วมากมาย แทบทุกครั้งมีสาเหตุมาจาก “กระแสเรื่องทุจริต” นี่แหละ

แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว ถึงตอนนี้ยังไม่อาจสรุปได้ว่ามีการทุจริต มีการใช้จ่ายงบประมาณผิดวัตถุประสงค์จริงหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ก็คือ “ความไม่เชื่อ” ต่อคณะกรรมการสอบสวนที่ฝ่ายกองทัพแต่งตั้งขึ้นมา และที่สำคัญ นี่จะกลายเป็นเงื่อนไขทางลบให้กับฝ่ายตรงข้ามในที่นี้ก็คือ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นเครือข่ายของ ทักษิณ ชินวัตร กลายเป็นเชื้อไฟได้อย่างดี

แน่นอนว่า หลายคนก็มองว่านี่คือ “แผนเสี้ยม” ที่มีเจตนาทำลาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำลายรัฐบาล และทำลายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ต้องบอกว่าใช่ แต่ขณะเดียวกัน ถ้าก่อนหน้านั้น ฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะกองทัพมีการ “ตัดเกม” ให้เด็ดขาดเสียตั้งแต่ต้นมือ นั่นคือ เปิดทางให้มีสอบสวนจากองค์กรอิสระ ที่เป็นองค์กรตรวจสอบจากภายนอกอย่างเต็มที่ อย่างตรงไปตรงมา เรื่องมันก็จบ และไม่กลายเป็นเงื่อนไขให้พวก “คนโกง” ในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาสร้างเงื่อนไขกล่าวหาคนอื่นว่าโกงอย่างในวันนี้หน้าตาเฉย แต่มันก็ช่วยไม่ได้ เป็นเพราะรัฐบาลและกองทัพ พลาดเอง

หากยังจำกันได้ตอนแรก ๆ เมื่อมีการตรวจพบความผิดปกติโครงการการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ตอนนั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ย้ำว่า ไม่มีการทุจริต ไม่ได้ใช้เงินงบประมาณ แต่ใช้เงินบริจาค และถือว่า “ไม่ใช่เรื่องใหญ่” ซึ่งนั่นอาจเป็นการ “หลุด” คำพูดแบบไม่ตั้งใจ แต่พูดแบบนี้รับรองว่ามันทำให้เสียความรู้สึก

และยิ่งต่อมาก็มีข่าวว่า พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก ตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาชุดหนึ่งให้เวลาสรุปภายใน 7 วัน แต่กลายเป็นว่า เอาเข้าจริง พล.อ.ธีรชัย มีการแถลงว่า ไม่ใช่เป็นการสอบสวนหาข้อเท็จจริง แต่เป็นเพียงการตรวจสอบเงินในบัญชีว่ามีเงินเหลืออยู่จำนวนเท่าใด ในส่วนของกองทัพบกที่ตัวเองต้องเข้ามารับผิดชอบดูแลต่อตามตำแหน่งเท่านั้น ซึ่งปรากฏว่า เหลืออยู่ประมาณ 33 ล้านบาท แต่ไม่มีการเปิดเผยมากกว่านี้ และประกาศปิดทางไม่ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามาตรวจสอบ

ส่วนเรื่องการเรียกค่าหัวคิว ให้ไปถาม พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม อดีตผู้บัญชาการทหารบก ที่เคยยอมรับเรื่องนี้เอาเอง เรียกว่าเขา “เคลียร์คัต” โยนไปที่ พล.อ.อุดมเดช รับไป อย่างไรก็ดี ด้วยท่าทีและน้ำเสียงในการแถลงในวันนั้น กลับยิ่งทำให้ทุกอย่างอึมครึมมากขึ้นไปอีก เพราะไม่ได้มีการชี้แจงอะไรเลย เพียงแค่ยืนยันว่า ไม่ทุจริต ไม่ได้ใช้เงินงบประมาณของรัฐ และเรื่องจบไปแล้ว

อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นไม่นาน ปรากฏว่า มีการยืนยันจาก ทาง ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ยืนยันว่า จากการตรวจสอบของ สตง. พบว่า ในการก่อสร้างโครงการอุทยานราชภักดิ์มีการใช้ “งบกลาง” จำนวน 63.57 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายไปแล้วร้อยละ 80 โดยสำนักงานปลัดบัญชีกองทัพบก โดยสั่งจ่ายให้กับกรมยุทธโยธากองทัพบก นี่ก็ยิ่งทำให้สงสัยและเป็นคำถามตามมาอีกว่า “ก็ไหนบอกว่าไม่ใช้เงินงบประมาณ” ไงล่ะ

จากนั้นก็ตามมาด้วยการที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งให้ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาใหม่ แต่ก็เริ่มมีปัญหาอีกคือ ที่ผ่านมา พล.อ.ปรีชา รวมไปถึงรองปลัดกระทรวงกลาโหมบางคน เคยเป็นกรรมการในการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งในกองทัพบก

แม้ว่าล่าสุด จะมีการแต่งตั้ง พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รองปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ โดยย้ำว่าจะมีการเปิดกว้างในการรวบรวมเอกสารจากทุกหน่วยงาน เพื่อตอบคำถามของสังคมก็ตาม แต่ปัญหาก็คือแบบนี้มันไม่ต่างจากการ"สอบกันเอง"มันไม่ได้รับความเชื่อถือ ไม่ตอบโจทย์จากสังคม เสียเวลาเปล่า และที่สำคัญยิ่งทำให้กลายเป็นเงื่อนไขจากฝ่ายตรงข้ามนำไปขยายผลได้ไม่ยาก

ดังนั้น หากมีเจตนาไม่ต้องการปกปิดความจริง หรือเจตนา “ช่วยเหลือพวกพ้อง” กันเอง ก็ต้องยุติการตั้งคณะกรรมการสอบโดยกระทรวงกลาโหมหรือกองทัพ เพราะมันไม่น่าเชื่อถือ โดยทางที่เหมาะสมที่สุด ก็คือ ต้องให้หน่วยงานตรวจสอบจากภายนอก คือ ป.ป.ช. และ สตง. เข้ามาสอบสวนหาข้อเท็จจริง ถูกผิดก็ว่ากันไปตามกระบวนการ เพราะยิ่งเดินหน้าตั้งกรรมการสอบ มันก็ยิ่งส่อไปในทางพิรุธ และยิ่งมีความเสี่ยงต่อวิกฤตศรัทธา ที่ต้องสรุปเป็นบทเรียน อย่าให้ย้อนกลับมาทำลายเหมือนเช่นรัฐบาลก่อน !!
กำลังโหลดความคิดเห็น