xs
xsm
sm
md
lg

จี้ผ่าน “พี่ป้อม” สั่ง รมต.เข้มระเบียบจัดซื้อจัดจ้างวิธีพิเศษ-ฝันยกระดับ กม.ใหม่ฟันอาญา ขรก.-เอกชน-ไทยเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“บิ๊กตู่” จี้ผ่าน “พี่ป้อม” สั่งรัฐมนตรีเข้มระเบียบจัดซื้อจัดจ้างวิธีพิเศษ กระทรวง-รัฐวิสาหกิจ รอ “รองฯ วิษณุ” สรุปกฎหมายใหม่หวังเพิ่มโทษฟันอาญา ขรก.-เอกชน-ไทยเทศ เชื่อทุกอย่างโปร่งใส เผยนายกฯ หวังยกระดับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 เป็นพระราชบัญญัติฉบับใหม่ที่ครอบคลุมถึงรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอิสระ ด้าน “หม่อมปนัดดา” ขอดูรายละเอียดระเบียบการเรี่ยไรเงินให้รัฐ ก่อนปรับหรือไม่

วันนี้ (1 ธ.ค.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สั่งผ่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุม ครม.ในครั้งนี้ กำชับให้รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงลงไปกำกับดูแลการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบวิธีพิเศษ เพื่อดูแลการจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นไปอย่างโปร่งใส และถูกต้องตามกฎระเบียบของส่วนราชการ

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังต้องการทราบความคืบหน้าการจัดทำกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ โดยเป็นการยกระดับของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 เป็นพระราชบัญญัติฉบับใหม่ที่ครอบคลุมถึงรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอิสระต่างๆ ด้วย ต่างจากระเบียบจัดซื้อจัดจ้างของสำนักนายกฯที่ครอบคลุมเฉพาะส่วนราชการเท่านั้น

ขณะเดียวกัน ร่างกฎหมายนี้ยังกำหนดโทษทางอาญาที่หมายถึงการจำคุก เพิ่มเติมจากเดิมที่มีเฉพาะโทษทางแพ่งอย่างเดียว เพื่อให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐและรัฐวิสาหกิจนั้นมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตามขณะนี้การจัดทำร่างกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างฯอยู่ระหว่างการส่งร่างกฎหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปตรวจสอบรายละเอียดว่ามีปัญหาติดขัดอย่างไรหรือไม่ โดยเฉพาะในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ ที่ต้องมีการจัดซื้อจัดจ้างในต่างประเทศ ที่ต้องดูแลและตรวจสอบให้ละเอียด ก่อนนำเสนอให้ ครม.พิจารณาต่อไป

“นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กำลังตรวจสอบในรายละเอียดทั้งหมด หลังจากยกร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ขึ้น เพื่อให้ทุกอย่างรอบคอบ ไม่มีปัญหา ก่อนดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป โดยเชื่อว่ากฎหมายฉบับใหม่จะทำให้เกิดความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมากยิ่งขึ้น”

สำหรับร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ จะมีทั้งหมด 123 มาตรา มีทั้งหมด 15 หมวด และหมวดเฉพาะกาล เพื่อให้การปฎิบัติเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดข้างและการบริหารพัสดุโดยใช้เงินงบประมาณ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าต่อภารกิจของรัฐ และต้องก่อให้เกิดมีประประโยชน์สูงสุดแก่สาธารณะ โดยให้ รมว.คลังเป็นผู้มีอำนาจในการรักษากฎหมาย โดยมีคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ซึ่งมี รมว.คลัง หรือ รมช.คลัง เป็นผู้กำกับดูแล เป็นต้น นอกจากนี้ ในส่วนของบทกำหนดโทษ ได้กำหนดให้ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่รัฐผิดชอบจะสั่งการหรือไม่สั่งการก็ตามจะต้องรับโทษเป็นสองเท่าของความผิดที่กำหนดไว้ตามกฎหมายด้วย“

มีรายงานว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ขณะที่ สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติของครั้งนั้น ก่อนถอนออกจากวาระ ครม.

1. กำหนดให้ร่างพระราชบัญญัตินี้บังคับกับหน่วยงานของรัฐทุกแห่ง ได้แก่ ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ องค์การมหาชน องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หน่วยงานอิสระของรัฐ และหน่วยงานอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง เว้นแต่องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญ การดำเนินการของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง ที่มีลักษณะเป็นการผลิต หรือจำหน่าย หรือบริการเพื่อหารายได้ การดำเนินการจัดหายุทโธปกรณ์และการบริการทางทหารโดยวิธีรัฐบาลต่อรัฐบาล และการดำเนินการโดยใช้เงินกู้และเงินช่วยเหลือ ที่สัญญาหรือข้อกำหนดในการให้เงินกู้หรือเงินช่วยเหลือกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

2. กำหนดหลักการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ กำหนดไว้ 4 ประการ ได้แก่ ความคุ้มค่า ความโปร่งใส มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และตรวจสอบได้

3. กำหนดให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม ตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้ามาตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

4. กำหนดคณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ไว้ 5 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ คณะกรรมการกำกับราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์และข้อร้องเรียน และอื่นๆ

5. กำหนดให้กรมบัญชีกลางทำหน้าที่เป็นองค์กรสนับสนุนดูแลการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ มีอำนาจหน้าที่ ในการดูแลและพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ จัดทำฐานข้อมูลราคาอ้างอิงของพัสดุ รวบรวม วิเคราะห์ และประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐและจัดทำรายงานเสนอต่อคณะกรรมการนโยบาย และจัดให้มีการฝึกอบรมเพื่อส่งเสริมและพัฒนาเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐตามหลักวิชาชีพ

6. กำหนดกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ดังนี้

6.1 การจัดทำแผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปี และให้ประกาศเผยแพร่แผนในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลาง

6.2 วิธีการจัดซื้อจัดจ้างและการจ้างที่ปรึกษา ให้กระทำได้ 3 วิธี ได้แก่ (1) วิธีประกาศ เชิญชวนทั่วไป (2) วิธีคัดเลือก (3) วิธีเฉพาะเจาะจง ส่วนวิธีการจ้างออกแบบและควบคุมงาน นอกจากวิธีดังกล่าวข้างต้นให้เพิ่มอีก 1 วิธี คือ วิธีประกวดแบบ

6.3 การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอ กำหนดให้มีเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอ โดยให้พิจารณาคุณภาพประกอบราคาได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ราคาต่ำสุดเสมอไป แต่การจะใช้เกณฑ์ใดและให้น้ำหนัก ในแต่ละเกณฑ์เท่าใด ต้องมีการประกาศให้ทราบเป็นการล่วงหน้าในประกาศเชิญชวนให้เข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้าง

6.4 การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการก่อสร้างต้องขึ้นทะเบียนไว้กับกรมบัญชีกลาง ทั้งนี้ เพื่อให้การพิจารณาจัดชั้นผู้ประกอบการก่อสร้างเป็นมาตรฐานเดียวกัน

6.5 การรวมซื้อรวมจ้าง กำหนดให้หน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่งแห่งใดอาจดำเนินการจัดซื้อ จัดจ้างพัสดุให้กับหน่วยงานของรัฐแห่งอื่น ๆ ก็ได้ ภายใต้กรอบข้อตกลงระหว่างหน่วยงานของรัฐผู้จัดซื้อจัดจ้างและคู่สัญญา

6.6 การเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลาง โดยกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลตั้งแต่ขั้นตอนการเปิดเผยแผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปี การจัดทำประกาศเชิญชวน การกำหนดเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอ การประกาศผลผู้ชนะการเสนอราคา การประกาศยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้าง การทำสัญญาและการแก้ไขสัญญา ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณชนในการเข้ามาตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้อย่างเต็มรูปแบบ

7. กำหนดเกี่ยวกับการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบการ โดยผลการประเมินให้เป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาคัดเลือกคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ายื่นข้อเสนอ หรือเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ โดยผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด จะถูกระงับการยื่นข้อเสนอหรือทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีผลการประเมินผ่านเกณฑ์ที่กำหนด

8. กำหนดให้ผู้ประกอบการสามารถร้องเรียนหน่วยงานของรัฐได้ กรณีที่เห็นว่าหน่วยงานของรัฐมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ และหากผู้ประกอบการไม่พอใจผลการวินิจฉัยของหน่วยงานของรัฐก็สามารถอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียนต่อไปได้อีก

9. กำหนดบทกำหนดโทษ โดยกรณีที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้โดยทุจริต ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับการกระทำความผิดนั้น และหากการกระทำความผิดนั้น เกิดจากการสั่งการหรือไม่สั่งการของผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการในเรื่องนั้น ผู้มีอำนาจหน้าที่นั้นต้องรับโทษเป็นสองเท่าของความผิดที่กำหนดไว้

ด้าน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ กล่าวถึงการของบประมาณของมูลนิธิต่างๆ ต่อหน่วยงานภาครัฐว่า ต้องมีการขออนุญาตจากสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล แต่ในส่วนของการเรี่ยไรเงินที่ให้รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไรนั้น ตนขอศึกษาในรายละเอียดก่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น