กฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้วันที่ 20 ต.ค. 2558 เพิ่มสิทธิประโยชน์หลายด้าน ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น นี่คือเรื่องใกล้ตัวที่ผู้ประกันตนทุกคนต้องรู้
แน่นอนว่า สำหรับกฎหมายฉบับใหม่นี้ มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร สงเคราะห์ชราภาพ และเสียชีวิต โดยหลักๆ คือ มีการขยายความคุ้มครองลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการ ทั้งรายวันและรายเดือน
ส่วนลูกจ้างของนายจ้างที่มีสำนักงานในประเทศ และไปประจำทำงานในต่างประเทศก็จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายฉบับใหม่นี้เช่นกัน นอกจากนี้ยังปรับปรุงคำว่า "ลูกจ้าง" ให้ครอบคลุมลูกจ้างทั้งหมด จากเดิมที่ยังไม่รวมถึงลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้ประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย
ด้านสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่ผู้ประกันตนจะได้รับเพิ่มเติม มีอยู่หลายกรณีด้วยกัน โดยทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live ขอสรุปให้เข้าใจง่ายๆ เริ่มจาก กรณีคลอดบุตร ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์ไม่จำกัดจำนวนครั้ง (เดิมได้ไม่เกิน 2 ครั้ง) โดยจ่ายครั้งละ 13,000 บาท รวมกับเงินสงเคราะห์การหยุดงานทั้งฝ่าย สปส. และนายจ้าง รวม 90 วัน
กรณีสงเคราะห์บุตร สำหรับบุตรอายุ 0-6 ปี มีสิทธิได้รับคราวละไม่เกิน 3 คน (จากเดิมจำนวนคราวละไม่เกิน 2 คน) เหมาจ่ายรายเดือนๆ ละ 400 บาทต่อคน
กรณีว่างงาน เพิ่มความคุ้มครองกรณีนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว เนื่องจากเหตุสุดวิสัยโดยยังไม่มีการเลิกจ้าง และผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน เช่น โรงงานถูกน้ำท่วม จะได้รับเงินในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายเดือน
กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บ กฎหมายใหม่ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ในเรื่องค่าส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค และค่าใช้จ่ายเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนในกรณีได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ รวมไปถึงเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนที่จงใจทำให้ตนเองได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพ และตายหรือยินยอมให้ผู้อื่นก่อให้เกิดขึ้น
กรณีทุพพลภาพ จากเดิมต้องสูญเสียสมรรถภาพของร่างกาย 50% ขึ้นไป ถึงจะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพ และทุพพลภาพอยู่ก่อนวันที่ 31 มี.ค.2538 ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 15 ปี แต่ในกฎหมายใหม่ไม่ถึงร้อยละ 50 ของร่างกายก็มีสิทธิ โดยจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ตลอดชีวิต
กรณีตาย ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยเรื้อรัง หรือทุพพลภาพจนถึงแก่ความตายเอาไว้ด้วย โดยจะได้รับเงินค่าทำศพ เงินสงเคราะห์ แม้จะส่งเงินสมทบไม่ครบตามสิทธิก็ตาม
กรณีชราภาพ ผู้ประกันตนสามารถทำหนังสือระบุบุคคลได้รับเงินบำเหน็จชราภาพไว้ล่วงหน้าได้เลย โดยมีสิทธิได้รับร่วมกับทายาท หากไม่มีทายาท หรือไม่มีบุคคลที่ทำหนังสือระบุก็ให้สิทธิแก่พี่น้อง ปู่ย่า ตายาย ลุงป้า น้าอา ซึ่งจะจ่ายเงินให้ในสัดส่วนที่เท่ากัน พร้อมทั้งขยายระยะเวลาในการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนจาก 1 ปี เป็น 2 ปี และรัฐบาลต้องร่วมจ่ายเงินสมทบมาตรา 40 ด้วย
อย่างไรก็ดี แม้สิทธิประโยชน์ต่างๆ จะเพิ่มเข้ามาเพื่อขยายความคุ้มครองและเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับลูกจ้างและผู้ประกันตนให้ครอบคลุมและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในทุกสิทธิประโยชน์ด้วย นั่นหมายความว่าผู้ประกันตนอาจจะต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนสูงขึ้นตามไปด้วย โดยทาง สปส. ได้เตรียมแนวทางหาเงินมาเติมใส่กองทุน เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อกองทุนในระยะยาวไว้ 2 ทาง ดังนี้
1. การขยายฐานเงินเดือนของผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบจากเดิมต่ำสุด 1,650 บาทต่อเดือน และสูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ควรจะเพิ่มฐานเงินเดือนต่ำสุดที่ 3,000 บาทต่อเดือน และสูงสุดกว่า 20,000 บาทต่อเดือน
ปัจจุบันการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตนสูงสุดจะอยู่ที่ 5% ของเงินเดือน ซึ่งเพดานสูงสุดอยู่ที่ฐานเงินเดือน 15,000 บาท คือ จ่ายสมทบสูงสุดเดือนละไม่เกิน 750 บาท หากมีการปรับฐานเงินเดือนขึ้นไปสูงสุดที่ประมาณ 20,000 บาท การจ่ายเงินสมทบกองทุนสูงสุดคือไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท
2. คือปรับแนวทางการลงทุน โดยมีการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ เช่น การซื้อที่ดิน อาคาร ซึ่งกฎหมายฉบับใหม่เปิดช่องให้ทำได้ รวมทั้งแก้ไขระเบียบให้การลงทุนต่างประเทศทำได้คล่องตัวมากขึ้น
มาสร้างแรงบันดาลใจไปด้วยกัน!!ตัวอย่างงานในเซ็กชั่นทั้งหมด>>>...
Posted by ASTV ผู้จัดการ Live on Friday, August 21, 2015
รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754