xs
xsm
sm
md
lg

คาดประกันสังคมรายจ่ายเพิ่ม 4,500 ล.วางแผนเพิ่มทุน เล็งรีดจ่ายเงินสมทบสูงสุดเดือนละ 1,000 บาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คลอด กม. ประกันสังคมใหม่ เพิ่มสิทธิประโยชน์หลายด้าน คาดรายจ่ายเพิ่มขึ้นปีละ 4,500 ล้านบาท วางแผนหาเงินเข้ากองทุนเพิ่ม เล็งปรับเงินจ่ายสมทบจากเงินเดือน 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท เพดานจ่ายเงินสมทบจาก 750 เพิ่มเป็น 1,000 บาท พร้อมขยายช่องทางลงทุนอสังหาริมทรัพย์ เร่งศึกษาการขยายอายุเกษียณ

วันที่ 12 ต.ค. นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล   รักษาการรองปลัดกระทรวงแรงงาน แถลงข่าว พ.ร.บ. ประกันสังคม (ฉบับที่ 4 ) พ.ศ. 2558 จะมีผลบังคับใช้วันที่ 20 ต.ค. 2558 ว่า ที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ใช้เงินกองทุนเพื่อจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วยเฉลี่ยปีละ 30,000 ล้านบาท ซึ่งจากการที่ พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2558 มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนมากยิ่งขึ้น ทั้งกรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร สงเคราะห์ชราภาพ และเสียชีวิต คาดว่า จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในทุกสิทธิประโยชน์ รวมปีละประมาณ 4,500 ล้านบาท ซึ่ง สปส. ได้เตรียมแนวทางหาเงินมาเติมใส่กองทุน เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อกองทุนในระยะยาว คือ 1. การขยายฐานเงินเดือนของผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบจากเดิมต่ำสุด 1,650 บาทต่อเดือน และสูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ควรจะเพิ่มฐานเงินเดือนต่ำสุดที่ 3,000 บาทต่อเดือน และสูงสุดกว่า 20,000 บาทต่อเดือน 2. ปรับแนวทางการลงทุน โดยมีการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ เช่น การซื้อที่ดิน อาคาร ซึ่งกฎหมายฉบับใหม่เปิดช่องให้ทำได้ รวมทั้งแก้ไขระเบียบให้การลงทุนต่างประเทศทำได้คล่องตัวมากขึ้น

ส่วนเรื่องการขยายอายุเกษียณจาก 55 ปี เป็น 60 ปี ยังอยู่ระหว่างการศึกษา เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ หลังอายุ 55 ปี จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ ทั้งนี้ ขอยืนยันว่า การเพิ่มสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายใหม่ ทำให้ผู้ประกันตนและครอบครัว มีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น ” นพ.สุรเดช กล่าว

นายโกวิท สัจจวิเศษ รักษาการเลขาธิการ สปส. กล่าวว่า  กฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์หลายกรณี เช่น ขยายความคุ้มครองลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการ ทั้งรายวันและรายเดือน โดยเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 และหน่วยงานต้นสังกัดต้องแจ้งรายชื่อต่อ สปส. ซึ่งปัจจุบันคาดว่ามีประมาณ 2 แสนคน ส่วนกรณีคลอดบุตรได้รับสิทธิประโยชน์ไม่จำกัดจำนวนครั้ง โดยจ่ายครั้งละ 13,000 บาท รวมกับเงินสงเคราะห์การหยุดงานทั้งฝ่าย สปส. และนายจ้าง รวม 90 วัน ส่วนกรณีสงเคราะห์บุตร สำหรับบุตรอายุ 0 - 6 ปี มีสิทธิได้รับคราวละไม่เกิน 3 คน เหมาจ่ายรายเดือน ๆ ละ 400 บาทต่อคน ขณะที่กรณีว่างงาน เพิ่มความคุ้มครองกรณีนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว เนื่องจากเหตุสุดวิสัยโดยยังไม่มีการเลิกจ้าง และผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน เช่น โรงงานถูกน้ำท่วม จะได้รับเงินในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายเดือน  ส่วนกรณีเจ็บป่วยเรื้อรัง/ทุพพลภาพและเสียชีวิต จะได้รับเงินค่าทำศพ แม้ส่งเงินสมทบไม่ครบตามสิทธิ

“นอกจากนี้ กรณีทุพพลภาพ สูญเสียสมรรถภาพไม่ถึงร้อยละ 50 ของร่างกาย ได้สิทธิ และอยู่ก่อนวันที่ 31 มี.ค. 2538 ได้รับเงินทดแทนขาดรายได้ตลอดชีวิต ส่วนกรณีชราภาพนั้น ซึ่งผู้ประกันตนสามารถทำหนังสือระบุบุคคลได้รับเงินบำเหน็จชราภาพไว้ล่วงหน้าได้ โดยมีสิทธิได้รับร่วมกับทายาท หากไม่มีทายาทหรือไม่มีบุคคลที่ทำหนังสือระบุ ก็ให้สิทธิแก่พี่น้อง ปู่ย่า ตายาย ลุงป้า น้าอา จะจ่ายเงินให้ในสัดส่วนที่เท่ากัน พร้อมทั้งขยายระยะเวลาการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนจาก 1 ปี เป็น 2 ปี และรัฐบาลต้องร่วมจ่ายเงินสมทบมาตรา 40 ด้วย” นายโกวิท กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตนสูงสุดจะอยู่ที่ 5% ของเงินเดือน ซึ่งเพดานสูงสุดอยู่ที่ฐานเงินเดือน 15,000 บาท คือ จ่ายสมทบสูงสุดเดือนละไม่เกิน 750 บาท หากมีการปรับฐานเงินเดือนขึ้นไปสูงสุดที่ประมาณ 20,000 บาท การจ่ายเงินสมทบกองทุนสูงสุดคือไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น