สภาเภสัชกรรมเตรียมร่างกรอบข้อตกลง “เภสัชกร” ทำงานเสรีในอาเซียนเช่น แพทย์ ทันตแพทย์พยาบาล ชี้ เภสัชกรมีเพียงพอไม่กระทบดูแลคนไทย ระบุช่วยร้านขายยาแบรนด์ไทยเติบโตในต่างประเทศ
ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี กรรมการสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า แม้วิชาชีพเภสัชกรจะไม่ได้เป็น 1 ใน 8 อาชีพที่มีข้อตกลงให้สามารถเคลื่อนย้ายไปทำงานได้อย่างเสรี เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) แต่เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพในการริเริ่มให้มีการร่างกรอบข้อตกลงการเคลื่อนย้ายการทำงานได้อย่างเสรีในประเทศอาเซียนของอาชีพเภสัชกร เหมือนวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาล เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ และพยาบาล ที่มีการทำข้อตกลงไปเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากจำนวนเภสัชกรไทยมีมากเพียงพอที่จะใช้ในประเทศ และพร้อมให้ออกไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันไทยผลิตบัณฑิตด้านเภสัชศาสตร์ประมาณ 1,300 - 1,400 คน มีเภสัชกรเป็นสมาชิกของสภาเภสัชกรรมราว 50,000 คน โดยสภาเภสัชกรรมจะเป็นผู้ดำเนินการและเตรียมที่จะยกร่างกรอบข้อตกลง กติกา และวิธีการต่อไป ซึ่งร่างกรอบจะเป็นลักษณะให้การเคลื่อนย้ายได้เสรีแบบมีเงื่อนไข หรือมีขอบเขตการทำงาน เหมือนวิชาชีพแพทย์ เช่น แพทย์ไทยที่จะไปทำงานในมาเลเซียต้องเข้าทำงานในโรงพยาบาลขนาด 100 เตียงขึ้นไป ทำงานในโรงพยาบาลขนาดเล็กไม่ได้ หรือเปิดคลินิกไม่ได้ เว้นแต่จะต้องมีแพทย์มาเลเซียด้วย
ภก.นิลสุวรรณ กล่าวว่า ส่วนเรื่องใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม เภสัชกรที่ต้องการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศจะต้องสอบใบประกอบวิชาชีพฯของประเทศนั้นให้ได้ ซึ่งหากประเทศต้นทางมีเงื่อนไขการสอบที่สูงกว่าประเทศปลายทาง เภสัชกรจากประเทศนั้นสามารถไปสอบได้ทันที แต่หากประเทศต้นทางมีเงื่อนไขที่น้อยกว่าประเทศปลายทาง จำเป็นที่เภสัชกรจะต้องเรียนเพิ่มเติม หรือเข้ารับการอบรมจากประเทศนั้นก่อนการเข้าสอบใบประกอบวิชาชีพฯ ทั้งนี้ กรอบข้อตกลงอาชีพเภสัชกรจะเป็นอย่างไรต้องมีการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ของประเทศสมาชิกอาเซียนด้วย ให้มีการเห็นชอบร่วมกัน
“หากอาชีพเภสัชกรสามารถเคลื่อนย้ายการทำงานได้อย่างเสรีในอาเซียน ถือเป็นโอกาสที่ดี แต่ต้องใช้เวลาและมีต้องมีการปรับตัว โดยเฉพาะเรื่องของการเพิ่มเติมความรู้ด้านภาษาที่มีการใช้ในประเทศนั้นๆ และการไปเป็นแบบธุรกิจไม่ได้ไปแบบตัวคนเดียว เช่น ธุรกิจร้านขายยาแบรนด์ไทยในประเทศอาเซียน เช่นเดียวกับร้านขายยาแบรนด์ต่างประเทศที่มาเปิดในไทย เช่น Boots หรือ Watsons เป็นต้น แต่จำเป็นต้องใช้เภสัชกรท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ เข้าร่วมด้วย ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าจะเป็นธุรกิจที่ไปได้ดีและไปรอด” ภก.นิลสุวรรณ กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่