คมนาคมเร่งสรุปผลสำรวจออกแบบและรูปแบบลงทุนรถไฟไทย-จีน คาดชง ครม. ก.ย.นี้เห็นชอบกรอบข้อตกลงกรอบการทำงาน (Frame Work Agreement) “ประจิน” เผยอาจขยับแผนเริ่มก่อสร้างจาก ต.ค. เป็น ธ.ค. มอบ ร.ฟ.ท.เจรจาแบบก่อสร้างหลังจีนขอให้ย้ายแนวท่อก๊าซ ปตท. ช่วง กทม.-บ้านภาชี ด้าน “อาคม” เผยไทยขอตั้งบริษัทร่วมทุน เดินรถ, ซ่อมบำรุง, ระบบรถ, อาณัติสัญญาณ เพื่อความคล่องตัว
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วม รถไฟไทย-จีนครั้งที่ 5 ว่า ผลการหารือเบื้องต้นทางจีนได้เสนอทำข้อตกลงกรอบการทำงาน (Frame Work Agreement) แทนทำบันทึกความร่วมมือ (Memorandum of Cooperation : MOC) ซึ่งจะกำหนดรายละเอียดแผนงานเพิ่มเติมในเรื่องการสำรวจออกแบบ จะต้องสรุปในวันที่ 21 ส.ค. หรือขยายเวลาให้อีกไม่เกิน 30 วัน, การฝึกอบรม, จำนวนและที่ตั้งสถานี แนวเส้นทาง, มูลค่าโครงการ เป็นต้น โดยจะมีการประชุมร่วมครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 6-8 ส.ค. 2558 ที่เมืองซีอาน ประเทศจีน เพื่อติดตามความคืบหน้าและสรุป Frame Work Agreement โดยคาดว่าจะเสนอ ครม.เห็นชอบได้ต้นเดือน ก.ย. และส่วนการก่อสร้างนั้นจะขยับจากเป้าหมายเดิมที่จะเริ่มในเดือน ต.ค. เป็นเดือน ธ.ค. 2558
โดยจากการลงพื้นที่สำรวจของทางจีน ทั้งการสำรวจทางอากาศและภาคพื้นดิน เห็นว่าแนวเส้นทางตามผลศึกษาเดิมของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) นั้นมีหลายจุดมีข้อจำกัด ทั้งเรื่องชุมชนและสาธารณูปโภคจึงขอปรับเปลี่ยน ซึ่งจะกระทบต่อการออกแบบ การเวนคืน และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เดิม จึงให้คณะทำงานร่วม 2 ฝ่าย และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ร่วมหารือกับจีนภายใน 2 สัปดาห์ หรือภายในวันที่ 15 ก.ค.นี้จะต้องได้ข้อสรุปว่าแนวเส้นทางจะปรับจากเดิมจุดใดบ้าง เพิ่มกี่สถานี เพื่อสรุปเรื่องเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (EIA)
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การร่วมลงทุนนั้นจะมีหลายรูปแบบ ซึ่งจะต้องรอผลการสำรวจออกแบบสรุปในเดือน ส.ค.นี้ก่อนเพื่อให้มีความชัดเจนวงเงินลงทุนของโครงการ โดยรูปแบบการร่วมทุนเบื้องต้นคือ ไทยรับผิดชอบลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งเดินรถ ระบบรถ โดยก่อนหน้านี้ไทยเสนอขอตั้งบริษัทร่วมทุนไทย-จีน ในส่วนของการเดินรถและการซ่อมบำรุง และได้เสนอเพิ่มเติมในเรื่องร่วมทุนระบบรถและล้อเลื่อน (Roling Stock) และระบบอาณัติสัญญาณด้วย โดยจะเป็นบริษัทเดียวหรือ 2 บริษัท สัดส่วนเท่าใดนั้นต้องรอให้จีนพิจารณา ส่วนแหล่งเงินนั้นจะมีทั้งงบประมาณ และเงินกู้ ซึ่งจีนยืนยันจะพิจารณาดอกเบี้ยอัตรามิตรภาพที่เป็นประโยชน์ให้ไทยมากที่สุด ซึ่งจีนไม่มีปัญหาหากไทยต้องการกู้เงินหลายสกุลแต่ยืนยันว่าเงินหยวนมีดอกเบี้ยดีและมั่นคงที่สุด ส่วนเงื่อนไขในสัญญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องจะต้องหารือกันอีกเนื่องจากมีประเด็นกรณีข้อพิพาทที่ไทยต้องการให้มีอนุญาโตตุลาการ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หลังสรุปการสำรวจออกแบบและทราบวงเงินลงทุนจะทราบถึงจำนวนรถว่าจะมีกี่ขบวน การลงทุนระบบอาณัติสัญญาณ และจะต้องหาคนกลางเข้ามาประเมินว่าวงเงินลงทุนที่จีนสำรวจออกแบบนั้นเหมาะสมหรือไม่ นอกจากนี้ ไทยจะต้องหาที่ปรึกษาเข้ามาช่วยดูเรื่องการจัดหาแหล่งเงินและที่ปรึกษาด้านการก่อสร้างอีกด้วย
นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้จะนัดหารือกรณีแนวเส้นทางช่วงกรุงเทพฯ-บ้านภาชี ซี่งตามแนวทางรถไฟจะมีท่อก๊าซของ ปตท.ระยะทาง ประมาณ 40 กม. ซึ่งทางจีนขอให้ย้ายแนวท่อก๊าซออก ซึ่งจะต้องมีการศึกษา EIA พบว่าจะกระทบต่อระยะเวลาการก่อสร้าง ดังนั้นจะหารือเพื่อออกแบบเลี่ยง นอกจากนี้ จะหารือถึงที่ตั้งศูนย์ควบคุมระบบการเดินรถซึ่งจีนเสนอที่บางซื่อ ในขณะที่ ร.ฟ.ท.จัดพื้นที่ไว้บริเวณเชียงรากน้อย เนื่องจากมีความพร้อมและจะเป็นศูนย์กลางควบคุมการเดินรถไฟทั่วประเทศ รองรับอนาคตได้ดีกว่า ส่วนบางซื่อพื้นที่มีความแออัดแล้ว รวมถึงรูปแบบการก่อสร้างช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่ต้องใช้ทางร่วมกันหลายโครงการอีกด้วย