xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : ตลาดเงินลุ้น “กรีซ” ดิ้นเฮือกสุดท้ายเสนอแผนน้าวใจเจ้าหนี้ก่อนลา “ยูโรโซน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


วิกฤตหนี้กรีซที่ยืดเยื้อมานานถึง 5 ปีก้าวสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากเมื่อวันอังคารที่ 30 มิ.ย. กรีซกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วชาติแรกที่ผิดนัดชำระหนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) หลังไม่สามารถจ่ายคืนหนี้ 1,500 ล้านยูโรที่ครบกำหนด รวมถึงผลประชามติที่ชาวกรีซกว่าครึ่งประเทศพร้อมใจ “ไม่เอา” มาตรการรัดเข็มขัดที่บีบคั้นเศรษฐกิจ ทำให้บรรดาผู้นำยุโรปต้องตัดสินใจว่าจะโอบอุ้มกรีซซึ่งมีหนี้สินล้นพ้นต่อไป หรือปล่อยให้กรีซซึ่งเป็น “จุดอ่อน” พ้นไปจากกลุ่มยูโรโซน

เงินที่กรีซไม่จ่ายเงินคืนไอเอ็มเอฟถือว่าเป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ มีค่าเท่ากับผิดนัดชำระหนี้ รวมทั้งส่อนัยถึงการละเมิดพันธสัญญาของเอเธนส์

รัฐบาลกรีซได้พยายามหันไปขอความช่วยเหลือจากหุ้นส่วนในยูโรโซนและธนาคารกลางแห่งยุโรป (อีซีบี) พร้อมกันนั้นก็ได้ประกาศจัดทำประชามติในวันที่ 5 ก.ค. เพื่อหยั่งเสียงประชาชนว่าจะยินดีกลืนเลือดยอมรับมาตรการรัดเข็มขัดเข้มงวดอีกหรือไม่ แต่แล้วผลประชามติก็ออกมาว่า ชาวกรีซ 61.31% โหวตไม่ยอมรับข้อเสนอของฝ่ายเจ้าหนี้ ขณะที่ผู้ลงคะแนนยอมรับมีเพียง 38.69% โดยที่มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 62.5% และทำให้เกิดกระแสความหวั่นกลัวว่ากรีซคงไม่แคล้วต้องออกไปจากยูโรโซน หรือที่เรียกว่า “เกร็กซิต” (Grexit)

ถึงแม้นายกรัฐมนตรี อเล็กซิส ซีปราส จะบอกว่านี่ไม่ใช่การลงคะแนนเพื่อแตกหักกับยุโรป แต่ผู้นำยูโรโซนหลายๆ คนก็ออกมาเตือนตั้งแต่ก่อนหน้านี้ว่า การโหวต “โน” เงื่อนไขเจ้าหนี้มีค่าเท่ากับการปฏิเสธร่วมใช้สกุลเงินเดียว

กระแสตื่นกลัวแบงก์ล้มทำให้ชาวกรีซพากันแห่ถอนเงินจ้าละหวั่น จนในที่สุดเอเธนส์ต้องประกาศใช้มาตรการควบคุมเงินทุน โดยให้ธนาคารต่างๆ ระงับบริการ 1 สัปดาห์ และจำกัดการถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็ม

เวลานี้กรีซต้องการเงินสดฉุกเฉินโดยเร่งด่วนจากอีซีบีเพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจเป็นอัมพาต ไม่เช่นนั้นก็อาจถูกบีบให้ออกหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ หรือกลับไปใช้เงินสกุลดรักมาซึ่งเท่ากับเป็นการอำลายูโรโซนโดยปริยาย ทว่าเมื่อวันจันทร์ (6 ก.ค.) อีซีบีได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องของเอเธนส์ที่ต้องการให้ขยายวงเงินสภาพคล่องฉุกเฉินที่ให้แก่ธนาคารพาณิชย์ของกรีซ มิหนำซ้ำยังสั่งเพิ่มสัดส่วนสินทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อ อันจะทำให้แบงก์กรีซเข้าถึงกองทุนนี้ยากยิ่งขึ้นในอนาคต

นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนีกำลังถูกกดดันอย่างหนักจากชาวเมืองเบียร์ซึ่งเอือมระอากับปัญหาวินัยการคลังของเอเธนส์ และเรียกร้องให้ยูโรโซนตัดหางกรีซไปเสียจะดีกว่า แต่ถึงกระนั้น แมร์เคิล ยังให้โอกาส ซีปราส นำเสนอแผนปฏิรูปที่น่าเชื่อถือพอ หลังจากก่อนหน้านี้เอเธนส์ปฏิเสธไม่ยอมช่วยเหลือตัวเองสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นภาษี ลดรายจ่าย หรือปฏิรูประบบบำนาญ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่หารือกันก่อนที่แพ็กเกจความช่วยเหลือจากอียูและไอเอ็มเอฟมูลค่า 240,000 ล้านยูโร จะหมดอายุลง

พลเมืองยุโรปโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกลุ่มบอลติก ฟินแลนด์ และเนเธอร์แลนด์ ไม่ต้องการให้รัฐบาลของตนนำเงินภาษีไปช่วยอุ้มระบบการคลังของกรีซที่เป็นเสมือน “หลุมดำ” ของยุโรป ในขณะที่ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน มีท่าทีเห็นอกเห็นใจกรีซอยู่พอสมควร และต้องการให้กรีซกับยูโรโซนตกลงกันได้ดีกว่าจะให้เกิดภาวะ Grexit

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ซีปราสเตรียมจะขอให้เจ้าหนี้ “แฮร์คัต” หนี้สินเดิมลงถึง 30% ทว่า การลดหนี้อาจเป็นเงื่อนไขซึ่งเยอรมนีและพันธมิตรไม่สามารถรับได้

ล่าสุดผลการประชุมผู้นำยุโรปที่จัดขึ้น ณ กรุงบรัสเซลส์เมื่อวันอังคาร (8) ได้ข้อสรุปว่า ผู้นำยูโรโซนจะให้เวลากรีซถึงช่วงปลายสัปดาห์นี้เพื่อเสนอแผนปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมและน่าเชื่อถือเพียงพอ ความช่วยเหลือทางการเงินระยะสั้นจะถูกจัดหาให้ทันทีหากว่ากรีซมาพร้อมกับข้อเสนออันเป็นที่น่าพอใจ และดำเนินการผ่านกฎหมายเพื่อโน้มน้าวเหล่าเจ้าหนี้ให้รับรู้ถึงความตั้งใจจริงในการแก้วิกฤตหนี้สิน

อย่างไรก็ตาม เวอร์เนอร์ เฟย์มันน์ นายกรัฐมนตรีออสเตรีย เตือนว่า หากไม่ได้ข้อตกลงภายในวันอาทิตย์ (12 ก.ค.) ยูโรโซนก็จำต้องมี “แผนบี” มารองรับ ในกรณีที่กรีซจะต้องถูกกีดกันออกจากการร่วมใช้เงินยูโร

สถานการณ์ที่เป็นไปได้สำหรับกรีซ

ระหว่างที่อนาคตของกรีซกับยูโรโซนยังอยู่ในขั้นลูกผีลูกคน นักวิเคราะห์ก็ได้ประเมินสถานการณ์จำลองที่อาจจะเป็นไปได้อย่างน้อย 3 แนวทาง ได้แก่

1. กรีซออกจากยูโรโซนหลังจากพยายามเจรจาแต่ล้มเหลว

ผู้สังเกตการณ์ส่วนใหญ่ชี้ว่า นี่เป็นสถานการณ์ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด เพราะแม้ซีปราสจะยืนยันว่า การลงประชามติของชาวกรีซไม่ใช่การแตกหักกับยุโรป แต่เพื่อทำให้เอเธนส์มีอำนาจต่อรองกับเจ้าหนี้มากขึ้น ทว่าผู้นำของยุโรปจำนวนมากกลับมองว่านี่อาจเป็นจุดจบของการเจรจาต่อรองอันยืดเยื้อเพื่อให้กรีซอยู่ในยูโรโซนต่อไป ซิกมาร์ เกเบรียล รองนายกรัฐมนตรีของเยอรมนี ถึงกับวิจารณ์ในคืนวันอาทิตย์ (5) ว่า เมื่อผลประชามติออกมาเช่นนี้ก็เท่ากับนายกรัฐมนตรีกรีซ “ได้รื้อทำลายสะพานสุดท้ายซึ่งยังเชื่อมระหว่างยุโรปกับกรีซ ให้มีช่องทางเคลื่อนไปสู่การประนีประนอมได้” ไปเรียบร้อยแล้ว

เจอโรน ดิจเซลโบลม ประธานยูโรกรุ๊ป กล่าวว่า เวลานี้ขึ้นอยู่กับเอเธนส์ว่าจะยื่นเสนอมาตรการปฏิรูปที่ยากลำบากมาให้พิจารณาหรือไม่ ขณะที่นายกรัฐมนตรี อีวา โคแพกซ์ ของโปแลนด์ ชี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอาจเป็นขั้นตอนใหม่มุ่งไปสู่ Grexit

2. การล่มสลายของแบงก์กรีซ ซึ่งอาจนำไปสู่ Grexit หรือก่อให้เกิดข้อตกลง

ถึงแม้การทำข้อตกลงใดๆ ระหว่างกรีซกับเจ้าหนี้โดยเฉพาะชาติสมาชิกอื่นๆ ของยูโรโซน อาจจะมีลักษณะเป็นข้อตกลงทางการเมือง ทว่าสิ่งซึ่งเป็นเงาทะมึนครอบอยู่เหนือการต่อรองทางการเมืองใดๆ กลับเป็นเรื่องสถานะของพวกธนาคารกรีซ ซึ่งได้ปิดทำการมาตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน หลังจากอีซีบีระงับไม่เพิ่มเพดานการอัดฉีดสภาพคล่องฉุกเฉินให้

รัฐบาลกรีซให้สัญญาต่อประชาชนว่า การโหวต “โน” จะทำให้แบงก์กลับมาเปิดทำการในวันอังคาร (7) แต่ไม่มีแนวโน้มใดๆ เลยว่า อีซีบีจะเพิ่มการสนับสนุน “ความช่วยเหลือสภาพคล่องฉุกเฉิน” หรือ ELA จากระดับ 89,000 ล้านยูโรที่ได้อนุมัติไปแล้ว นั่นหมายความว่า ธนาคารของกรีซมีโอกาสอยู่รอดต่อไปอีกเพียงไม่กี่วัน ตัวเลือกหนึ่งที่เป็นไปได้คือ แบงก์กรีซเปิดทำการอีกครั้งพร้อม “สกุลเงินคู่ขนาน” ก่อนฟื้นเงินสกุล “ดรักมา” กลับมาใช้ใหม่ ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลกรีซต้องเตรียมการผละจากสกุลเงินยูโรนั่นเอง

แต่ในอีกด้านหนึ่ง การที่แบงก์กรีซล้มกันระนาวก็อาจกระตุ้นให้ยุโรปหันกลับมาร่วมแรงร่วมใจกัน สหภาพยุโรป (อียู) อาจยอมเพิ่มทุนให้แก่ระบบการธนาคารกรีซก็เป็นได้ แต่วิธีการดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบทางการเมืองต่อสมาชิกยูโรโซนชาติอื่นๆ ที่เผชิญปัญหาหนี้สินเหมือนกัน เช่น สเปน ที่พรรคการเมืองกระแสหลักกำลังถูกท้าทายจากพรรคที่ต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัด

ปีเตอร์ คาซิมีร์ รัฐมนตรีคลังสโลวาเกีย พยายามพูดตัดไฟแต่ต้นลมในเรื่องนี้ โดยบอกว่า การปฏิเสธแผนปฏิรูปของชาวกรีซไม่ควรหมายความว่าเอเธนส์จะได้เงินกู้ง่ายขึ้น ขณะที่เจ้าหนี้ใหญ่สุดของกรีซคือ กองทุนฟื้นฟูของยูโรโซน (EFSF) ยังขู่จะเรียกหนี้ 130,900 ล้านยูโรคืนจากรัฐบาลกรีซ หลังจากเอเธนส์ผิดนัดชำระหนี้ไอเอ็มเอฟเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา

3. ผู้นำอียูตกลงช่วยและป้องกันการล่มสลายของแบงก์กรีซ

แม้สถานการณ์นี้จะมีความเป็นไปได้น้อยที่สุด แต่นายกรัฐมนตรี ซีปราส ก็ได้จัดเตรียมกรอบข้อตกลงและมาตรการปฏิรูปต่างๆ ซึ่งเขาได้ยินยอมตกลงไปก่อนการทำประชามติแล้ว สิ่งที่ซีปราสยินยอมเหล่านี้ไม่แตกต่างมากนักจากสิ่งที่ยูโรโซนและไอเอ็มเอฟเรียกร้อง ทว่าส่วนซึ่งแตกต่างและต้องถือเป็นปัญหาใหญ่มากก็คือ ซีปราสยังต้องการได้เงินกู้แพกเกจที่ 3 เป็นมูลค่า 29,100 ล้านยูโร มากกว่าเงินกู้งวดสุดท้ายจากแพกเกจที่ 2 ที่ได้เจรจาต่อรองกันมา 5 เดือนแล้วถึง 4 เท่าตัว แถมมีความเป็นไปได้ว่า ถ้าหากหวนกลับมาเจรจาต่อรองกันใหม่ ซีปราสไม่เพียงต้องการได้เงินกู้เพิ่มเติม แต่ยังจะขอลดหนี้เกือบ 50,000 ล้านยูโรภายในระยะเวลา 3 ปีด้วย

การเพิ่มทุนให้แก่แบงก์กรีซนั้น จะทำได้ก็ต่อเมื่อเอเธนส์ต้องสามารถเข้าถึงกองทุนช่วยเหลือถาวรของยูโรโซน นั่นคือ กลไกเสถียรภาพการเงินยุโรป (อีเอสเอ็ม) ทว่าในขณะนี้ เป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการว่า กรีซจะได้รับสิทธิดังกล่าว

จนถึงขณะนี้ยังไม่เคยมีชาติใดที่ถูกขับออกจากยูโรโซน ดังนั้น สิ่งที่จะตามมาหลังเกิดปรากฏการณ์ Grexit จึงยากที่จะคาดเดา แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่ากรีซอาจเผชิญปัญหาค่าเงินตราลดลง เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง และถูกกีดกันจากตลาดการเงินระหว่างประเทศนานหลายปีคล้ายกับกรณีของอาร์เจนตินาเมื่อปี 2002 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของเอเธนส์จะทรุดหนัก ขณะที่การหวนกลับไปใช้สกุลเงินดรักมาแม้จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว แต่ในช่วงเวลาอันใกล้นี้ยังไม่เห็นว่าจะเป็นผลดีต่อกรีซได้อย่างไร

ภาวะ Grexit ยังอาจทำให้ธนาคารกลางแห่งยุโรป (อีซีบี) ต้องสูญเงิน 118,000 ล้านยูโรที่ให้กรีซกู้ยืมไป รวมถึงเงินทุนอีก 20,000 ล้านยูโรที่ใช้รับซื้อพันธบัตรรัฐบาลกรีซ และแม้ในทางทฤษฎีอีซีบีจะสามารถ “พิมพ์แบงก์” เพื่อเพิ่มทุนขึ้นมาใหม่ แต่ก็ต้องถูกคัดค้านอย่างหนักจากเยอรมนี

สิ่งที่น่ากังวลไม่แพ้เรื่องเศรษฐกิจก็คือผลกระทบทางการเมือง เนื่องจากรัฐบาลยุโรปหลายประเทศกำลังเผชิญกระแสต่อต้านการร่วมใช้สกุลเงินเดียว และเฝ้าจับตาดูทางออกของปัญหากรีซอย่างใกล้ชิด นายกรัฐมนตรี มาเรียโน ราฮอย แห่งสเปน ถึงกับออกปากเตือนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การปล่อยให้กรีซหลุดยูโรโซนจะถือเป็นสัญญาณร้ายที่บ่งบอกว่าความเป็นปึกแผ่นของกลุ่มประเทศผู้ใช้เงินยูโรโซนนั้นไม่แน่นอนอีกต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น