เอเอฟพี - รัฐบาลกรีซได้ยื่นแผนปฏิรูปการคลังฉบับล่าสุดถึงมือเจ้าหนี้ยูโรโซนแล้วเมื่อวานนี้ (9 ก.ค.) โดยยินยอมที่จะแก้ไขระบบเงินบำนาญและเก็บภาษีเพิ่มขึ้น เพื่อปลดล็อกแพ็กเกจเงินกู้งวดใหม่ที่จะช่วยให้กรีซรอดจากภาวะล้มละลาย และช่วยต่อลมหายใจแก่ระบบเศรษฐกิจไปได้อีกอย่างน้อย 3 ปี
ข้อเสนอปฏิรูปที่ถูกส่งถึงองค์กรเจ้าหนี้ “ทรอยกา” ซึ่งได้แก่ คณะกรรมาธิการยุโรป, ธนาคารกลางแห่งยุโรป (อีซีบี) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) จะถูกนำขึ้นพิจารณาในที่ประชุมรัฐมนตรียูโรโซนในวันเสาร์นี้ (11) ก่อนที่จะมีการเรียกประชุมซัมมิตผู้นำยุโรป 28 ประเทศเพื่อชี้ขาดอนาคตของกรีซในวันอาทิตย์(12)
แผนปฏิรูปความยาว 13 หน้ากระดาษที่นายกรัฐมนตรี อเล็กซิส ซีปราส เสนอมาคราวนี้ แทบไม่มีอะไรแตกต่างจากเงื่อนไขที่เจ้าหนี้ยื่นไว้เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ทว่าเวลานั้นเอเธนส์ไม่ยอมรับ และขอจัดทำประชามติเพื่อหยั่งเสียงพลเมืองว่าจะ “เยส” หรือ “โน” กับมาตรการรัดเข็มขัดเข้มงวด
ปฏิรูปภาษีมูลค่าเพิ่ม
กรีซเสนอที่จะปฏิรูปการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งเป็นปมสำคัญที่เคยก่อให้เกิดการโต้แย้งกับเจ้าหนี้มาก่อน โดยหวังจะดึงรายได้เข้ารัฐเพิ่มขึ้นราว 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)
อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มมาตรฐานจะอยู่ที่ 23% รวมไปถึงพวกภัตตาคารและบริษัทจัดเลี้ยงซึ่งปัจจุบันจ่ายภาษีเพียงแค่ 13% เท่านั้น ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคขั้นพื้นฐาน เช่น อาหาร พลังงาน และน้ำ จะถูกเก็บภาษี 13% ขณะที่ยารักษาโรค หนังสือ และโรงภาพยนตร์จะต้องเสียภาษี 6%
เลิกนโยบายยกเว้นภาษี
รัฐบาลกรีซจะลดสิทธิประโยชน์ด้านการเงินที่เคยให้แก่เกาะต่างๆ รวมถึงยกเลิกมาตรการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม 30% ที่ใช้มานานหลายปี โดยจะเริ่มจากเกาะที่มีเศรษฐกิจเฟื่องฟูและมีนักท่องเที่ยวไปเยือนมากที่สุดในเดือนตุลาคมนี้ ก่อนจะขยายไปจนครบทุกเกาะในช่วงปลายปี 2016
การขึ้นภาษีประเภทอื่นๆ
ภาษีนิติบุคคล 26% จะถูกปรับเพิ่มเป็น 28% ตามที่องค์กรเจ้าหนี้เรียกร้อง ขณะที่สินค้าฟุ่มเฟือยทั้งหลายก็จะต้องเสียภาษีในอัตราสูงขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลยังจะเริ่มเก็บภาษีจากสื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ด้วย
การปฏิรูประบบเงินบำนาญ
อายุเกษียณของพลเมืองจะถูกกำหนดตายตัวไว้ที่ 67 ปี ยกเว้นพลเมืองที่ทำงานมาจนครบ 40 ปีภายในปี 2022 ที่จะสามารถเกษียณได้เมื่ออายุ 62
รัฐบาลเอเธนส์ยังจะสร้างกลไกโน้มน้าวไม่ให้ประชาชนเกษียณอายุก่อนกำหนด เช่น เพิ่มบทลงโทษทางภาษี เป็นต้น
การตัดลดงบประมาณด้านการทหาร
กรีซจะตัดทอนงบประมาณกองทัพลง 100 ล้านยูโรในปีนี้ และเพิ่มเป็น 200 ล้านยูโรในปี 2016 โดยการลดจำนวนทหารและชะลอการรับสมัครใหม่ อย่างไรก็ดี ข้อเสนอนี้ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่เจ้าหนี้เรียกร้องให้กรีซต้องหั่นงบประมาณกลาโหมลงถึง 400 ล้านยูโร
ปราบปรามการเลี่ยงภาษี
กรีซจะมีมาตรการปราบปรามผู้ที่หลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งถือเป็นปัญหาเรื้อรังที่บั่นทอนเศรษฐกิจของประเทศ และจะปรับปรุงระบบจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพรัดกุมยิ่งขึ้น
แผนปฏิรูปด้านการบริหาร
รัฐบาลจะว่าจ้างทีมที่ปรึกษาเพื่อประเมินการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และเตรียมมาตรการปรับปรุงภาคเอกชนให้มีความทันสมัย
การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
รัฐบาลกรีซมีแผนที่จะจำหน่ายหุ้นของรัฐบาลในบริษัทโทรคมนาคม OTE รวมถึงแปรรูปกิจการท่าเรือในเมือง Piraeus และ Thessaloniki ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนตุลาคมปีนี้
เป้าหมายด้านงบประมาณ
ก่อนหน้านี้ กรีซยอมรับเงื่อนไขเจ้าหนี้ที่เรียกร้องให้ตัดยอดเกินดุลงบประมาณเบื้องต้น (primary surplus) ให้เหลือ 1% ของจีดีพีในปีนี้ ก่อนจะเพิ่มเป็น 2% และ 3% ในปี 2016-2017 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ในแผนปฏิรูปที่เสนอเมื่อวานนี้ (9) กรีซระบุว่าจำเป็นต้องทบทวนเป้าหมายดังกล่าว เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองอย่างหนัก รวมถึงผลกระทบจากมาตรการควบคุมเงินทุนและการปิดระบบธนาคารทั้งประเทศ
หนี้สาธารณะ
แหล่งข่าวในรัฐบาลเอเธนส์ระบุว่า กรีซได้ให้สัญญากับเจ้าหนี้ว่าจะลดหนี้สาธารณะลงจากระดับ 180% ของจีดีพีในปัจจุบัน แต่ไม่เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติม
แพ็กเกจช่วยเหลือจากยุโรป
คณะกรรมาธิการยุโรปได้ยื่นข้อเสนอที่จะให้แพ็กเกจเงินกู้มูลค่า 35,000 ล้านยูโร หากเห็นว่าแผนปฏิรูปที่เอเธนส์ส่งมาเป็นที่น่าเชื่อถือพอ