xs
xsm
sm
md
lg

“เกียรติ” ติงทูตมะกันไม่เข้าใจประเพณีไทย ย้อนห่วงจริงทำไมนิ่งเรื่องฆ่าตัดตอน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เกียรติ สิทธีอมร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
รองหัวหน้า ปชป.มองทูตมะกันวิจารณ์ ม.112 ยังไม่เข้าใจจารีต กรอบ กม.ดูแลผู้นำ ชี้ กม.มีความสากล ย้อนดู กม.บ้านเกิดตัวเองก็มีจำคุกวิจารณ์ผู้นำ แนะ กต.เรียกทำความเข้าใจ แจงพฤติกรรมผู้ทำผิดตั้งใจใส่ร้ายสถาบัน กม.ชาติใดก็ถือเป็นคดีอาญา ย้อนห่วงไทยจริงทำไมไม่เคยทวงฆ่าตัดตอน ย้ำศึกษาให้ดีเข้าทีพีพี เร่งข้อตกลงไทย-อียู และอาเซียนบวก 6 ให้จบ เชื่อไม่ปิดประเทศจริง



วันนี้ (1 ธ.ค.) นายเกียรติ สิทธีอมร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายกลิน เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ออกมาวิจารณ์การใช้กฎหมายมาตรา 112 ของไทยว่า หากดูจากเนื้อหาของคำพูดของนายกลินที่เพิ่งมารับตำแหน่งนั้นก็แสดงว่านายกลินอาจจะยังไม่ได้คิดถี่ถ้วน ไม่เข้าใจความเป็นมาจารีตประเพณี แม้กระทั่งกรอบกฎหมายในการดูแลผู้นำของแต่ละประเทศอย่างดีพอ ตนคิดว่าที่ผ่านมาการร่างกฎหมายมาตรา 112 ออกมาก็มีความเป็นสากลอยู่แล้ว ในแง่ของการบังคับใช้สามารถปรับปรุงได้

นายเกียรติกล่าวต่อว่า การที่นายกลินออกมาพูดว่า “ไม่อยากจะเห็นผู้ที่ออกมาวิจารณ์หรือแสดงทัศนคติโดยสงบนำไปสู่การติดคุก” ตนคิดว่านายกลินต้องกลับไปดูที่การใช้กฎหมายของสหรัฐฯ ซึ่งมีหลายคดีที่มีความอ่อนไหว มีคนถูกจำคุก 33 เดือน เพราะว่าเขียนกลอนที่มีลักษณะไปในทางกรรโชกประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดังนั้น ที่นายกลินพูดออกมาคิดว่าคงเป็นความคลาดเคลื่อนของความเข้าใจในกฎหมายที่มีมาตรฐานใกล้เคียงกันทั่วโลก

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ทางรัฐบาลไทยควรมีท่าทีอะไรออกมาตอบโต้ต่อสหรัฐฯ บ้างหรือไม่ นายเกียรติกล่าวว่า ท่าทีของรัฐบาลก็มีความพอดีอยู่ แต่ในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศควรจะเรียกนายกลินเข้ามาพบปะพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจ อันที่จริงตนเคยเจอกับนายกลินมาก่อน คิดว่านายกลินอาจจะยังไม่เข้าใจประเทศไทยและที่มาที่ไปของมาตรา 112 ดีพอ ต้องไปย้อนดูพฤติกรรมของผู้ที่ถูกตัดสินจากความผิดคดีนี้ในอดีตด้วย มีบางคนที่ถูกตัดสินจำคุกเพราะไม่ได้วิจารณ์โดยปกติ แต่มีหลักฐานว่าบุคคลเหล่านี้แสดงความเห็นเพื่อใส่ร้ายสถาบันฯ อย่างตั้งใจและไม่เป็นธรรม แบบนี้ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายประเทศใดก็ถือว่าเป็นคดีอาญาอยู่แล้ว

“สหรัฐอเมริกาถ้าห่วงประเทศไทยจริง ทำไมไม่เคยทวงถามเรื่องฆ่าตัดตอน ทำไมไม่เคยทวงถามกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งที่ใหญ่ที่สุดใน 10 กว่าปีที่ผ่านมาที่ทำให้คนตายคนหายไป 2,000 กว่าคน ไม่เคยทวงถามเลยในเวทีไหนเลย ผมมีแต่ทวงถามเขา ทุกครั้งที่พบผมมีถามเขาว่าคุณมีท่าทียังไงในเรื่องนี้ ผมว่าเรื่องนี้สำคัญมากกว่ากรณี 112 ด้วยซ้ำไป ความสัมพันธ์ของไทย-สหรัฐฯ ในหลายมติ ในขณะนี้ต้องยอมรับว่าถดถอยและน่าจะหยิบยกขึ้นมาพูดคุยมากกว่า” นายเกียรติกล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามความเห็นกรณีที่นายกลินเรียกร้องให้ประเทศไทยทำความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) นายเกียรติกล่าวว่า ตนเข้าใจว่าเมื่อสหรัฐฯ ได้สมาชิกในทีพีพีเบื้องต้นจำนวน 10 ประเทศ ก็มีความต้องการที่จะขยายสมาชิกเพิ่มเติม เป็นธรรมดาของทุกรอบความตกลงที่ต้องการขยายสมาชิก แต่ตนคิดว่าประเทศไทยเองต้องศึกษาให้ดี การเข้าสู่ทีพีพีมีทั้งคนได้และคนเสีย สำคัญที่สุดคือประเทศไทยมีความพร้อมอย่างไร ถ้าประเทศมีความพร้อมเลยการเข้าก็จะมีประโยชน์ แต่ถ้าไม่มีความพร้อมการเข้าร่วมก็จะมีโทษ

นายเกียรติกล่าวว่า แล้วหากมีโทษต่อคนหมู่มากของประเทศ อาทิ ภาคการเกษตร ต่อกลุ่มผู้ใช้ยา ตรงนี้ก็จะเป็นปัญหา ที่สำคัญคือประเทศไทยต้องมียุทธศาสตร์ให้ชัดเจนว่ากรอบการค้าเสรีคืออะไร ต้องเตรียมความพร้อมให้ดีก่อนจะเข้าทีพีพี ตนคิดว่าประเทศไทยน่าจะมีเวลาตรงนี้เพราะกว่าประเทศไทยจะให้สัตยาบันก็อีก 12 เดือน และอีกสิ่งหนึ่งที่ตนอยากให้ไทยเตรียมความพร้อมก็คือเรื่องการปรับโครงสร้างของประเทศไทยในทุกด้านทั้งด้านโครงสร้างภาษีเพื่อให้มีศักยภาพมากขึ้น

เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อกรณีว่าประเทศไทยเข้าสู่ทีพีพีแล้วจะน่าเป็นห่วงในแง่ของเรื่องการกำหนดพืชพันธุ์หรือไม่ นายเกียรติกล่าวว่า เท่าที่ตนดูในข้อตกลงทีพีพีมีหลายหมวดที่ยังไม่มีข้อตกลงขั้นสุดท้าย มีหลายเรื่องไม่ชัดเจน มีหลายเรื่องที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่มีการเจรจากัน ตรงนี้ต้องเข้าไปศึกษาใหม่ให้ดี แต่ตนอยากให้ทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้มีความชัดเจนและควรทำให้จบก็คือเรื่องของข้อตกลงไทย-อียู ข้อตกลงไทย-อาเซียนบวก 6 ประเทศ ตรงนี้ควรเร่งทำให้จบ เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับการเจรจากรอบอื่นๆ ต่อไป

นายเกียรติกล่าวต่อว่า มีกรอบความตกลงหลายฉบับที่ไทยได้ไปลงนามแล้วท้ายที่สุดก็ใช้ประโยชน์จริงๆไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องเร่งทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่สนใจแค่ทีพีพีอย่างเดียว ที่ผ่านมาอาจจะเป็นความรับรู้ของผู้ประกอบการโดยเฉพาะในรายเล็กที่ไม่รู้ในรายละเอียดในการกรอบข้อตกลงให้เป็นประโยชน์เต็มที่ ซึ่งเรื่องนี้ก็ควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ส่วนกรณีที่ที่ผ่านมารัฐบาลพูดว่าจะปิดประเทศนั้นตนคิดว่าคงเป็นแค่พูดเชิงสัญลักษณ์ว่าประเทศจะไม่ยอมใครง่ายๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น