xs
xsm
sm
md
lg

“จเร” แจงปมรัฐสภาใหม่ช้า ถูกยื้อส่งพื้นที่ ยันแจ้งฟันฉกดินแล้ว แฉมีขอลดปริมาณเหล็ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายจเร พันธุ์เปรื่อง อดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (แฟ้มภาพ)
อดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่อนอีเมลแจงปมสร้างรัฐสภาใหม่ล่าช้า เหตุส่งมอบพื้นที่ช้าด้วยเหตุสุดวิสัย บางหน่วยจงใจให้ช้า และความไม่พร้อมในการปฏิบัติตามสัญญาของผู้รับจ้าง รวมถึงเรื่องแทรกซ้อน ขณะที่เรื่องดินขนย้าย 3 วิธี มี กก.ควบคุมส่งมอบ เผยดำเนินคดีต่อตัวแทนมูลนิธิราชประชาฯ แล้วหลังเอาไปใช้ไม่ตรงวัตถุประสงค์ แฉผู้รับจ้างขอลดปริมาณเหล็กเสริมชั้นใต้ดิน ยันไม่เคยทุจริต ป้องประโยชน์ต่อราชการแต่กลับถูกข้อหา ม.157

วันนี้ (24 พ.ย.) นายจเร พันธุ์เปรื่อง อดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ชี้แจงปัญหาโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ล่าช้า โดยระบุว่า ตามที่มีปัญหาการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ล่าช้า และกล่าวหาว่าตนปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และกระทำผิดวินัยร้ายแรงนั้น ตนขอรายงานข้อเท็จจริงต่อสื่อมวลชนในเบื้องต้น ดังนี้

1. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ทำสัญญาจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่พร้อมอาคารประกอบกับบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2556 ในวงเงินงบประมาณ 12,280,000,000 บาท โดยบริษัทผู้รับจ้างต้องดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 900 วัน นับแต่วันที่สำนักงานได้สั่งให้บริษัทผู้รับจ้างเข้าพื้นที่ซึ่งจะครบกำหนดตามสัญญาวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 การส่งมอบพื้นที่ต้องล่าช้าออกไปเพราะส่วนราชการเจ้าของพื้นที่เดิมส่งมอบพื้นที่ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ เนื่องมาจากการก่อสร้างที่ทำการใหม่เป็นไปอย่างล่าช้าสืบเนื่องมาจากปัญหาน้ำท่วม ทำให้สำนักงานสามารถส่งมอบพื้นที่ที่เป็นอาคารหลักได้ครบเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2557 (รวม 50 ไร่) ซึ่งการส่งมอบพื้นที่ล่าช้านี้สามารถนำมาคำนวณเพื่อขยายเวลาให้กับบริษัทผู้รับจ้างได้โดยคณะกรรมการตรวจการจ้างเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาในเรื่องนี้

2. ในการบริหารโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้จ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการ (นิติบุคคลร่วมทำงาน CAMA) และผู้ควบคุมงานก่อสร้าง (นิติบุคคลร่วมทำงาน ATTA) เข้ามาบริหารโครงการและควบคุมงานก่อสร้าง โดยมีคณะกรรมการตรวจการจ้างซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญทางวิศวกรรม สถาปัตยกรรม กฎหมายและข้าราชการระดับสูงเป็นกรรมการเป็นผู้พิจารณาและเสนอความเห็นเกี่ยวกับคำขอต่างๆ ของผู้รับจ้าง ตามที่ที่ปรึกษาบริหารโครงการและผู้ควบคุมงานก่อสร้างเสนอ

3. การส่งมอบพื้นที่โรงเรียนโยธินบูรณะ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้จ่ายค่าชดเชยให้โรงเรียนโยธินบูรณะจำนวน 1,000,000,000 บาท (หนึ่งพันล้านบาทถ้วน) ตั้งแต่ปี 2551 แต่โรงเรียนโยธินบูรณะดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียนไม่แล้วเสร็จตามข้อตกลงและได้ขอรับเงินชดเชยเพิ่มเติมจำนวน 105,654,700 บาท (หนึ่งร้อยห้าล้านหกแสนห้าหมื่นสี่พันเจ็ดร้อยบาทถ้วน) ซึ่งสำนักงานได้ดำเนินการขออนุมัติและโอนเงินให้ตามระเบียบของทางราชการโดยได้มีการลงนาม MOU กับเลขาธิการ สพฐ.ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 และโอนเงินผ่านระบบ GFMIS เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งในการส่งมอบพื้นที่โรงเรียนโยธินบูรณะนี้สำนักงานได้เร่งรัดติดตามเพื่อให้โรงเรียนโยธินบูรณะก่อสร้างอาคารเรียนให้แล้วเสร็จและส่งมอบพื้นที่ให้กับโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ แต่เป็นเพราะการบริหารจัดการภายในของโรงเรียนโยธินบูรณะและ สพฐ.เอง ทำให้เกิดความล่าช้าในการส่งมอบพื้นที่

4. การบริหารจัดการดินที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ ปริมาณดินที่เกิดจากโครงการก่อสร้างชั้นใต้ดิน 2 ชั้น พร้อมชั้นลอยมีจำนวนประมาณ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร สำนักงานได้ดำเนินการเป็น 3 วิธี คือ (1) ให้ผู้รับจ้างก่อสร้างขนย้ายมูลดินไปยังสถานที่พักดินที่สำนักงานกำหนดในระยะทางรัศมี 10 กิโลเมตร ตามสัญญาจ้าง (2) การบริจาคตามกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการปกครองดูแลและบำรุงรักษาวิธีใช้และจัดหาประโยชน์เกี่ยวกับที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2545 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการปกครอง ดูแล บำรุงรักษาและการใช้ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2546 (3) การจำหน่ายมูลดิน ตามระเบียบสำนักนายรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 กฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการปกครอง ดูแลบำรุงรักษา ใช้ และจัดหาประโยชน์เกี่ยวกับที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2545 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการปกครอง ดูแล บำรุง รักษา และการใช้ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2546

การดำเนินการตาม (1) และ (2) จะดำเนินการควบคู่กันไปโดยให้ผู้รับจ้างขนมูลดินไปลงยังสถานที่ราชการและวัดที่ได้รับการบริจาคดินจากรมธนารักษ์ ซึ่งได้แก่กองพันทหารม้าที่ 3 วัดสังฆทาน วัดเขียน วัดแก้วฟ้า วัดประสาท สถานีตำรวจภูธรบางศรีเมือง ส่วนการจำหน่ายมูลดินต้องดำเนินการตามระเบียบในการประมูลขายมูลดินแต่ละครั้งใช้เวลาหลายวันจนทำให้การขนย้ายมูลดินออกนอกโครงการต้องหยุดชะงัก ซึ่งอาจคิดเป็นค่าเสียหายได้ถึงวันละ 12 ล้านบาท จึงต้องใช้วิธีการบริจาคด้วย ในการขนย้ายมูลดินนี้จะมีคณะกรรมการควบคุมการส่งมอบดิน ที่ปรึกษาบริหารโครงการก่อสร้าง (CAMA) และผู้ควบคุมงานก่อสร้าง (ATTA) เป็นผู้รับผิดชอบ โดยที่ปรึกษาบริหารโครงการ (CAMA) เป็นผู้รับผิดชอบในการกำหนดแผนและปรับแผนการขนย้ายดินอยู่ตลอดเวลาด้วย

5. การบริจาคมูลดินให้กับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ เป็นเรื่องที่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ขอรับบริจาคมูลดินจากโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ จำนวน 500,000 ลูกบาศก์เมตร ในสมัยที่ นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และกรมธนารักษ์ เห็นว่าเป็นการนำดินไปใช้ในกิจการของมูลนิธิเพื่อสาธารณประโยชน์ตามกุศลเจตนาเป็นประโยชน์แก่สาธารณะกุศลที่สาธารณะจะพึงได้รับ จึงอนุญาตให้สำนักงานฯ บริจาคดินจำนวนดังกล่าวให้กับมูลนิธิ โดยมูลนิธิได้แต่งตั้งนายสฤษฏ์ เกิดฉาย และนายภัคระวี ภูจิตร เป็นผู้ประสานงานรับมูลดินและสำนักงานฯ ได้มีคำสั่งส่งตั้งคณะกรรมการมอบดินเพื่อดำเนินการตรวจนับตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการปกครอง ดูแล บำรุงรักษาและการใช้ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2546 โดยมีที่ปรึกษาบริหารโครงการและผู้ควบคุมงานก่อสร้างเป็นผู้ดำเนินการ

และเมื่อมีผู้แจ้งว่าตัวแทนของมูลนิธิฯ นำมูลดินไปใช้ไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของการรับบริจาค สำนักงานฯ จึงได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบทันที เมื่อผลการตรวจสอบพบว่าเป็นความจริงตามที่ได้รับแจ้ง สำนักงานฯ จึงได้สั่งยุติการส่งมอบดินให้แก่มูลนิธิฯ ทันที ซึ่งในปัจจุบันสำนักงานฯ ได้ดำเนินคดีทั้งในทางแพ่งและทางอาญากับผู้กระทำโดยมิชอบด้วยแล้ว

6. การขอแก้ไขแบบก่อสร้างและการปรับแก้งวดงาน การขอปรับแผนและขอปรับแก้งวดงานของผู้รับจ้างนั้นเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจการจ้างตามระเบียบว่าด้วยการพัสดุ ซึ่งจะต้องอยู่บนหลักการที่ว่าฝ่ายราชการต้องไม่เสียประโยชน์ การขอแก้ไขแบบก่อสร้างโดยผู้รับจ้างขอลดปริมาณเหล็กเสริมชั้นใต้ดิน B2 โดยไม่แสดงรายละเอียดข้อเท็จจริงประกอบว่าสำนักงานจะได้ประโยชน์หรือไม่เสียประโยชน์อย่างไร การขอแก้ไขแบบเพื่อลดปริมาณเหล็กเสริมชั้นใต้ดิน B2 ในขณะที่งานเหล็กเสริมชั้นใต้ดิน B2 ได้ดำเนินการไปแล้วเกือบ 50% จึงมาขอลดปริมาณเหล็กเสริม คณะกรรมการตรวจการจ้างจึงเห็นว่าเป็นการขอแก้ไขแบบก่อสร้างเพื่อประโยชน์ของผู้รับจ้างในการลดจำนวนแรงงาน และทำให้วิธีการก่อสร้างง่ายขึ้นโดยมิได้ชี้แจงข้อมูลโดยเฉพาะประเด็นความมั่นคงแข็งแรง

ส่วนการขอปรับงวดงาน เป็นการขอแก้ไขสัญญาเพื่อประโยชน์ของผู้รับจ้าง สำนักงานฯ และคณะกรรมการตรวจการจ้างจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถึงความสัมพันธ์ต่อเนื่องระหว่างรายการและงวดงานที่ขอแก้ไขเพื่อมิให้ราชการต้องเสียประโยชน์

7. การขยายเวลาก่อสร้าง เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจการจ้างซึ่งต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะการขยายเวลาก่อสร้างมีความสัมพันธ์กับค่าปรับที่ผู้รับจ้างจะต้องจ่ายกรณีงานเสร็จล่าช้าถึงร้อยละ 0.01 ของค่าจ้างต่อวันหรือประมาณวันละ 12 ล้านบาท ซึ่งครั้งแรกผู้รับจ้างขอขยายเวลาการก่อสร้างเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2557 เนื่องจากปัญหาการส่งมอบพื้นที่ อุปสรรคการขนดิน ปัญหาผู้พักอาศัยร้องเรียนและคลื่นสัญญาณวิทยุรบกวนการทำงานของเครื่องจักร รวมเป็นเวลา 479 วัน คณะกรรมการตรวจการจ้างได้พิจารณาคำขอ ประกอบกับความเห็นของที่ปรึกษาบริหารโครงการ (CAMA) และผู้ควบคุมงานก่อสร้าง (ATTA) แล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ใช้สนับสนุนคำขอไม่ครบถ้วนเพียงพอต่อการพิจารณา จึงได้มีหนังสือ ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2557 ถึงผู้รับจ้าง ขอให้ส่งเอกสารเพิ่มเติมประกอบการพิจารณาขยายเวลาการก่อสร้าง

โดยในวันที่ 28 มกราคม 2558 ผู้รับจ้างจึงส่งข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมแจ้งขอขยายเวลาก่อสร้าง เนื่องจากผลกระทบงานเสาเข็มเจาะเป็นเวลา 520 วัน และผลกระทบเสาเข็ม Pile Wall เป็นเวลา 672 วัน เมื่อผู้รับจ้างมีหนังสือขอขยายเวลาการก่อสร้างจำนวน 2 ครั้ง มีจำนวนเวลาที่ขอขยายต่างกัน ทำให้คณะกรรมการตรวจการจ้างจำเป็นต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงให้รอบคอบมากยิ่งขึ้น และต้องพิจารณาไปตามข้อเท็จจริงและเหตุผลที่ต้องสามารถพิสูจน์จำนวนวันที่สามารถขยายเวลาให้ได้ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของราชการเป็นหลัก

ในการบริหารโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ตนและทีมงานได้ดำเนินการโดยใช้กฎหมาย กฎ ระเบียบ และสัญญาก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่เป็นหลัก โดยมี (1) คณะกรรมการบริหารโครงการก่อสร้าง อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งประกอบด้วย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เลขาธิการวุฒิสภา ผู้บริหารของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนกรมบัญชีกลาง และผู้ทรงคุณวุฒิทั้งทางวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม ทำหน้าที่ในการกำหนดแนวทางเร่งรัด ติดตาม และเสนอแนะแนวทางในการดำเนินการ

(2) คณะกรรมการตรวจการจ้างก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด และผู้ทรงคุณวุฒิทั้งทางวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม (3) คณะกรรมการตรวจการจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการ ทำหน้าที่ตรวจสอบผลงานของที่ปรึกษาโครงการ ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมือง และผู้ทรงคุณวุฒิทั้งทางวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม (4) คณะกรรมการตรวจการจ้างผู้ควบคุมงานก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ทำหน้าที่ตรวจสอบผลงานของผู้ควบคุมงานก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมือง และผู้ทรงคุณวุฒิทั้งทางวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม

การดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ทั้งที่ปรึกษาบริหารโครงการผู้ควบคุมงานก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ และผู้รับจ้าง ทั้ง 3 ฝ่ายจะต้องมีแผนงานการดำเนินงานที่สอดคล้องกัน หากมีปัญหาใดๆ ที่เกิดขึ้นสามารถเสนอให้คณะกรรมการบริหารโครงการก่อสร้างตาม (1) พิจารณากำหนดแนวทางแก้ไขได้ เพราะประธานคณะกรรมการและกรรมการบางท่านในคณะกรรมการตามตาม (2) (3) และ (4) เป็นกรรมการบริหารโครงการตาม (1) ด้วย

การดำเนินงานของตนและทีมงานมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สูงสุดของทางราชการ เป็นการปกป้องผลประโยชน์ของทางราชการ ปัญหาความล่าช้าของโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ มีสาเหตุหลักมาจากการส่งมอบพื้นที่ล่าช้าเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย หรือเป็นเพราะปัญหาความไม่พร้อมในการปฏิบัติตามสัญญาของผู้รับจ้าง หรือเป็นเพราะหน่วยงานบางหน่วยงานจงใจละเลยเพื่อให้การส่งมอบพื้นที่ล่าช้า หรือมีเหตุแทรกซ้อนอย่างอื่น ตนสามารถยืนยันได้ว่าผมและทีมงานไม่เคยคิดกระทำการทุจริต และมีความตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อทดแทนคุณแผ่นดินมาโดยตลอด แต่การปกป้องผลประโยชน์ของแผ่นดินในครั้งนี้ กลับได้รับผลตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม คือข้อกล่าวหาว่ากระทำการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตนจึงต้องถือโอกาสนี้ขอความเป็นธรรมต่อสื่อมวลชนและประชาชนคนไทยด้วย


เครือข่ายชุมชนริมคลอง กทม.ร้องรัฐสั่งเร่งเดินหน้าโครงการบ้านมั่นคง
เครือข่ายชุมชนริมคลอง กทม.ร้องรัฐสั่งเร่งเดินหน้าโครงการบ้านมั่นคง
เครือข่ายชาวบ้านริมคลองในเขตกรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมของ กทม. กว่า 40 ชุมชน ยืนยันพร้อมที่จะคืนคลองให้แก่ส่วนร่วม โดยการรื้อบ้านออกจากคลองแล้วสร้างบ้านใหม่ตามโครงการบ้านมั่นคงของรัฐบาล แต่ติดปัญหาการดำเนินงานล่าช้าเพราะกทม.ยังไม่ชี้ชัดเรื่องแนวคลองและการเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ ปล่อยชาวบ้านเคว้งเพราะรื้อบ้านนานกว่า 4 เดือนแล้วยังไม่ได้สร้างบ้าน แถมถูกเขตสั่งระงับการก่อสร้างเพราะมีกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์คัดค้าน
กำลังโหลดความคิดเห็น