อดีตปลัด กทม.รอด ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืน ถอนคำสั่ง กทม.ฟ้อง 1.8 ล้าน คดีจัดซื้อที่ดินตาบอดจอดรถขยะราคาสูงเกินจริง ชี้ซื้อที่ราคาเหมาะสมแล้ว แม้จะประมาทเลินเล่อซื้อที่ตาบอด ไม่พบเอื้อประโยชน์ให้ใคร-สั่งดีแทคชดใช้แคท 1.07 ล้าน เหตุผิดสัญญาให้บริการวิทยุคมนาคมเซลลูลาร์ ไม่ระวังปล่อยปลอมเอกสารทำสัญญา ทำให้เก็บค่าบริการระหว่างประเทศได้ 500 ราย
วันนี้ (8 ต.ค.) ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น ให้เพิกถอนคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 3347/2550 ลงวันที่ 13 ก.ย. 2550 ในส่วนที่ให้นายประเสริฐ สมะลาภา อดีตปลัดกรุงเทพมหานคร ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่กรุงเทพมหานคร จำนวน 1,842,753.50 บาท กรณีทำให้กรุงเทพมหานครต้องจัดซื้อที่ดินในเขตบางซื่อด้วยราคาสูงเกินจริง และเป็นที่ดินตาบอดไม่มีทางสาธารณะเข้าออก
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากนายประเสริฐได้ยื่นฟ้องผู้ว่าราชกากรุงเทพมหานคร และกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 หลังจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการุทจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติชี้มูลว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยประมาทเลิ่นเล่ออย่างร้ายแรง และส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดให้ดำเนินคดีอาญาต่อนายพิจิตต รัตตกุล ผู้ว่าฯ กทม.ขณะนั้น และผู้บริหารกรุงเทพมหานครอีกหลายราย รวมถึงนายประเสริฐในฐานะรองประธานคณะกรรมการพิจารณาความเหมาะสมในการจัดซื้อ เช่า ที่ดิน และอาคารเพื่อประโยชน์ของราชการกรุงเทพมหานคร (กซช.) กรณีร่วมกันทุจริตจัดซื้อที่ดินเขตบางซื่อเมื่อปี2539-2540 จำนวน 11 ไร่ 1 งาน 97 ตารางวา สูงเกินจริง โดยซื้อในราคา 270 ล้านบาท ทั้งที่เป็นที่ดินที่ไม่ทางสาธารณะเข้าออกควรซื้อขายในราคา 221,144,930 บาทเท่านั้น และต่อมากรมบัญชีกลางได้มีหนังสือถึงกรุงเทพมหานครแจ้งว่า ผลจากการซื้อที่ดินราคาสูงกว่าความเป็นจริงทำให้ราชการเกิดความเสียหาย 48,855,070 บาท แต่เมื่อหักมูลค่าสิ่งปลูกสร้าง 12 ล้านออกจากค่าเสียหาย คงเหลือค่าเสียหายเป็นเงิน 36,855,070 บาท สมควรให้กรุงเทพมหานคร ออกคำสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว กรุงเทพมหานครจึงได้มีคำสั่งให้ผู้เกี่ยวข้องชดใช้ซึ่งรวมถึงนายประเสริฐที่ตามคำสั่งให้ชดใช้เป็นเงิน 1,842,753.50 บาท นายประเสริฐเห็นว่าไม่ถูกต้องจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง
ส่วนที่ศาลปกครองสูงสุดเห็นตามศาลปกครองชั้นต้นว่านายประเสริฐไม่จำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่านายประเสริฐในฐานหนึ่งในคณะกรรมการ กซช.มีหน้าที่ตามที่ผู้ว่าฯ กทม.มอบหมายในการตรวจสอบว่าสถานที่ ทำเล ราคาที่เสนอขายมีความคุ้มค่าและสมประโยชน์ในการลงทุนและมีความเหมาะสมหรือไม่ โดยเฉพาะที่ดินกลุ่มที่ 2 ที่ถูกระบุว่าไม่มีทางเข้าออก ควรที่จะตรวจสอบให้ได้ความครบถ้วนก่อนว่ามีสภาพทางเข้าออกอย่างใด สมประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ในการจัดซื้อหรือไม่ ซึ่งที่ดินไม่มีทางออกสู่สาธารณะย่อมมีราคาต่ำกว่าที่ดินที่ติดทางสาธารณะ แต่นายประเสริฐมิได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างละเอียดรอบคอบเท่าที่ควรจะเป็น โดยเสนอคณะผู้บริหารให้มีการจัดซื้อที่ดินดังกล่าวเป็นเงิน 270 ล้านบาท ทั้งที่ยังไม่มีการตรวจสอบราคาที่ดินที่แท้จริง พฤติการณ์การกระทำของนายประเสริฐจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงดังกล่าวจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนเท่าใด เห็นว่า จากข้อเท็จจริงสำนักงานเขตบางซื่อได้มีการตรวจเช็กราคาประเมินของที่ดินดังกล่าวจากทั้งสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร กรมธนารักษ์ ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ แล้วให้ข้อมูลตรงกันว่าที่ดินดังกล่าวในทางธุรกิจมีความเหมาะสมต่อการลงทุน และเมื่อตรวจสอบราคาซื้อขายต่อแปลงกับราคาที่ผู้อำนวยการสำนักประเมินราคาทรัพย์สิน กรมธนารักษ์ในเวลานั้นได้ประเมินก็ต่างกันไม่มากเพียงร้อยละ 5 ขณะที่ในการซื้อขายกรุงเทพมหาครก็จะได้เนื้อที่ดินส่วนเกินเพิ่มมาด้วย จากสภาพพื้นที่ที่ดินติดต่อกันเป็นผืนเดียวทั้งผู้ขายประสงค์จะขายที่ดินทั้งหมดเป็นแปลงใหญ่ การจะใช้ราคาประเมินที่ดินของสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครเพียงอย่างเดียวจึงไม่สอดคล้องกับราคาที่ซื้อขายตามปกติในท้องตลาด ประกอบกับไม่มีพยานหลักฐานให้รับฟังได้ว่ามีการเอื้อประโยชน์ต่อบุคคลใดจากการจัดซื้อที่ดินดังกล่าว รวมถึงศาลแพ่งได้มีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ฟ้องกรุงเทพมหานครเป็นจำเลยฐานละเมิดการใช้ที่ดินแปลงที่มีปัญหาการเข้าออก ซึ่งผลคำพิพากษาเป็นการรับรองสิทธิของกรุงเทพมหานครในการใช้ทางเข้าออกผ่านที่ดินแปลงที่มีการฟ้องร้อง
ดังนั้น การซื้อที่ดินจำนวน 11 ไร่ 1 งาน 97 ตารางวาในราคา 270 ล้านบาท จึงเป็นราคาที่เหมาะสมกับสภาพที่ตั้งและราคาท้องตลาดแล้ว อีกทั้งเมื่อรวมราคาสิ่งปลูกสร้างในที่ดิน จึงมีมูลค่าทรัพย์สินมากกว่าที่กรุงเทพมหานครจ่ายไป ดังนั้นจึงฟังไม่ได้ว่าการที่นายประเสริฐในฐานะรองประธานกรรมการ กซช.ได้ร่วมพิจารณาและเสนอความเห็นให้จัดซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวต่อคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครทำให้กรุงเทพมหานครได้รับความเสียหาย กรุงเทพมหานครจึงไม่มีอำนาจออกคำสั่งให้นายประเสริฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 12 พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ คำสั่งที่ให้นายประเสริฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 1,842,753.50 บาท จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายืนให้เพิกถอนคำสั่งชดใช้ค่าสินไหมดังกล่าวเฉพาะในส่วนของนายประเสริฐ
ทั้งนี้ ศาลปกครองกลางยังมีคำพิพากษาให้บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ชดใช้เงินจำนวน 1,073,623 บาท ให้แก่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในคดีที่แคท ฟ้องดีแทคว่าผิดสัญญาในการดำเนินการให้บริการวิทยุคมนาคมเซลลูลาร์ เนื่องจากได้มีการจัดทำสัญญาการใช้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูลาร์เฉพาะส่วนการใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศกับผู้ใช้บริการโดยปราศจากความระมัดระวัง เป็นผลให้มีการปลอมแปลงเอกสารและลายมือชื่อเข้าทำสัญญา ทำให้แคทไม่สามารถเรียกเก็บค่าใช้บริการโทรศัพท์จากผู้ใช้บริการได้ โดยศาลฯ เห็นว่า ดีแทคมีหน้าที่ในการส่งเอกสารและหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่าของผู้ใช้บริการให้กับแคท และมีหน้าที่ต้องตรวจสอบความถูกต้องและมีอยู่จริงของเอกสารบัตรประจำตัวประชาชน และทะเบียนบ้านให้ตรงกับคนที่ทำสัญญาด้วย เพื่อป้องกันการแอบอ้าง หรือปลอมแปลงเอกสารเพื่อทำสัญญา ดังนั้น การที่ดีแทคไม่ได้ใช้ความระมัดระวังเพียงพอ ทำให้มีผู้แอบอ้างและทำให้แคทเสียหายไม่สามารถเรียกเก็บค่าใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศจากผู้ใช้บริการ 500 ราย 602 หมายเลขได้ จึงมีคำพิพากษาให้ดีแทคชดใช้เงินจำนวน 1,073,623 บาทให้แก่แคท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันฟ้องคดีเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด