“อภิสิทธิ์” ค้านใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว แจงผลเสียเพียบ “เจตนารมณ์ ปชช.ไ ม่ชัด - พรรคเล็กถูกบังคับให้ลงเขต - ซื้อเสียงรุนแรงขึ้น - บัญชีรายชื่อไร้บทบาท” เผยรับได้นายกฯคนนอก แต่ควรกำหนดเงื่อนไขให้ชัดตั้งแต่แรก ไม่เชื่อ คปป.คุมทุกเรื่องได้มีประสิทธิภาพ หวังหลังเลือกตั้งได้รัฐบาลสุจริต - เป็นประชาธิปไตย
วันนี้ (11 พ.ย.) เมื่อเวลาประมาณ 21.30 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่องนิวส์วัน ว่า คาดหวังกับรัฐธรรมนูญใหม่ คือ ต้องนำการเมืองก้าวไปอีกระดับ ไม่เดินถอยหลังและย่ำอยู่กับที่ โดยเอาปัญหาของประเทศเป็นตัวตั้งไม่ใช่ถอดแบบสังคมอื่นมาทั้งหมด ตนไม่เคยมองว่ารัฐธรรมนูญปี 50 เป็นต้นตอของปัญหา ก่อน 22 พ.ค. 57 (วันรัฐประหาร) ไม่มีใครออกไปแล้วบอกต้องการแก้รัฐธรรมนูญ มีแต่พรรคเพื่อไทยที่ต้องการรื้อ ฉะนั้นรัฐธรรมนูญปี 50 ไม่ใช่ตัวปัญหา แต่หลังจากรัฐประหารคนก็หวังให้รัฐธรรมนูญเป็นทางออกให้ปัญหา
ส่วนการเลือกตั้งระบบจัดสรรปันส่วนผสม จากการเสนอของคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กรธ. มีความตั้งใจดี ต้องการให้ความสำคัญทุกคะแนน ซึ่งก็ปรับหลายรอบแล้ว ล่าสุดคือทุกคนไปเลือกตั้งมีบัตรใบเดียว ลงคะแนนถือว่าเลือกทั้งคนทั้งพรรค นับคะแนนในเขตคนไหนชนะคนนั้นเป็น ส.ส. และคะแนน ส.ส. นั้น เป็นคะแนนพรรคด้วย เอาคะแนนพรรคมาคำนวณเป็นสัดส่วนกำหนด ส.ส. ในสภาให้เป็นไปตามสัดส่วนนั้น แล้วพอมาเทียบ ส.ส. เขต ถ้าไม่ตรงกันก็เอา ส.ส. บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคเติมเข้าไปให้สะท้อนสัดส่วนจนได้ ส.ส. ครบ 500 คน ซึ่งตนถือว่าโอเค ดีกว่าเดิมที่เอาคะแนนคนแพ้ไปคำนวณบัญชีรายชื่อ เพราะมันตอบเป็นเหตุเป็นผลยาก
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า เพียงแต่ขอพิจารณาเรื่องบัตรเลือกตั้งใบเดียวดีจริงหรือ เนื่องจาก 1. เป็นการบังคับคนเลือกตั้งว่ากาใบเดียวเลือกทั้งพรรคและคน ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ว่า ส.ส. มีความสำคัญในพื้นที่ ถ้าเขาไปสังกัดพรรคที่ประชาชนไม่ต้องการเลือก ก็เท่ากับเราไปทึกทักเอาเองว่าเขาเลือกทั้งคนทั้งพรรค เราคุ้นกับการเลือกตั้ง 2 ใบมา 15 ปีแล้ว ประชาชนได้คนที่เลือก และได้พรรคที่ต้องการให้เข้าไปบริหารประเทศ มันสะท้อนเจตนารมณ์มากกว่า
2. ระบบนี้พรรคเล็กเสียเปรียบในแง่ที่ต้องส่งคนลงสมัครเขตถึงจะมีคะแนน ยกตัวอย่างพรรค นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ การเลือกตั้งครั้งก่อนไม่ส่งเขต ส่งปาร์ตี้ลิสต์อย่างเดียว นั่นช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มาก และสุดท้ายก็มีคนนิยมเลือกตั้งให้พรรคนั้นมี ส.ส. เข้ามาในสภาได้
3. ถ้าเลือก 1 ใบ เชื่อได้เลยกระบวนการซื้อตัว ส.ส. ซื้อเสียง จะหนักหน่วงมาก เพราะผู้สมัครเขตที่ก็จะซื้อเสียงเพื่อให้ได้เป็นผู้แทน พรรคก็จะซื้อเพื่ออยากเป็นรัฐบาล มันก็จะสามัคคีกันซื้อ แต่ถ้าแยก 2 ใบ การซื้อเสียงของพรรคจะลำบากขึ้น
4. ระบบเลือกตั้งนี้ คนที่อยู่ในระบบบัญชีรายชื่อแทบไม่มีบทบาทเลย เพราะคนโฟกัสไปที่ผู้สมัครเขต แต่เลือกตั้งเสร็จคนเป็นรัฐบาลคือคนในบัญชีรายชื่อ
“เรื่องหลักการผมไม่ได้ขัดข้อง แต่อยากให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพราะเจตนารมณ์ประชาชนชัดกว่า พรรคเล็กไม่ถูกบังคับลงเขต การซื้อเสียงลดความรุนแรง คนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อมีบทบาทถูกตรวจสอบมากขึ้น” นายอภิสิทธ์ กล่าวย้ำ
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอีกว่า เรื่องนายกฯคนนอกด้วยเหตุผลที่อ้างว่าอาจมีภาวะทางตัน ตนมองว่าถ้าเปิดช่องก็ควรกำหนดเงื่อนไขให้ชัด อย่างที่นายบวรศักดิ์เคยกำหนดว่าต้องมีมติพิเศษ เช่น 2 ใน 3 ซึ่งถ้าพรรคใหญ่ ๆ เห็นพ้องต้องกันก็เป็นไปได้ แต่ควรชัดเจนตั้งแต่ต้น แต่ตนไม่มั่นใจว่าที่เปิดช่องจะใช้ได้จริงไหม เพราะเวลาเกิดวิกฤตตนไม่เห็นมีรัฐบาลชุดไหนยอมออก ตอน 22 พ.ค. คนเก่าก็ไม่ยอมออกจนสุดท้ายเกิดรัฐประหาร เลยไม่แน่ใจว่ากำหนดภาวะวิกฤตต้องอย่างนั้นอย่างนี้เอาเข้าจริงจะใช้ได้หรือไม่
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่ออีกว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) เดิมกำหนดไว้เป็นยาวิเศษมาก ทั้งเอาไว้แก้สถานการณ์ฉุกเฉิน บังคับรัฐบาลให้ปฏิรูป จัดการเรื่องทุจริต ปรองดอง ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เราไม่สามารถออกแบบองค์กรใดองค์กรหนึ่งให้ทำได้ทั้งหมด และมีประสิทธิภาพ ตนมองไม่เห็นเหตุผลเลยคนที่มาทำทุกเรื่องทำไมเป็นคนเดียวกัน ที่มาก็ลำบาก เพราะส่วนได้เสียสูงมาก ตรวจสอบไม่ได้ด้วย ถ้าชุดนี้ผิดเพี้ยนขึ้นมาบ้านเมืองยิ่งวิกฤตหนัก ตนไม่ปฏิเสธว่าไว้ใจนักการเมืองไม่ได้ การที่เอาคนอีกชุดมาคุมมันต้องแยกกันในแต่ละเรื่อง ไม่ควรเป็นคนเดียวกัน
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องประชานิยม ว่า ต้องอุดช่องว่างการเสนอนโยบายหาเสียง คือต้องมีรายละเอียดประกอบ เพื่อให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบ ดีเบต วิจัย จะได้ช่วยประชาชนในการตัดสินใจ ถ้ามั่วหลอกลวง ก็เขียนในกฎหมายเลยว่าพูดแบบนี้แล้วทำไม่ได้ถือว่าผิดกฎหมายเลือกตั้ง
เมื่อถามว่า คาดหวังอย่างไรกับบ้านมืองหลังเลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า อยากเห็นมากสุด คือ รัฐบาลที่สุจริต ยุติธรรม เป็นประชาธิปไตย ได้คนที่ต้องการปฏิรูปจริง ๆ ส่วนการขัดแย้งจะกลับมาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าจะมีการเพิ่มเงื่อนไขความขัดแย้งอีกไหม และต้องหาทางลดช่องทางการสร้างความขัดแย้งเทียม ความขัดแย้งจริงทุกสังคมมีซึ่งปล่อยให้เป็นไปตามกลไก แต่ความขัดแย้งเทียมคือการใส่ร้ายป้ายสี สร้างความเกลียดชัง นำไปสู่การประหัตประหารไม่จบสิ้น