xs
xsm
sm
md
lg

ไอเดียเกือบใหม่ “นายกรัฐมนตรีบัญชีรายชื่อ” กรธ.หนุนแต่กังวลขัด “จัดสรรปันส่วนผสม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (ภาพจากแฟ้ม)
คณะอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายบริหาร กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เสนอทางเลือกที่มาของนายกรัฐมนตรี มาจากผู้ที่มีชื่อปรากฏในบัญชีรายชื่อที่พรรคนั้นเสนอ ชี้ ข้อดีจะได้เห็นชื่อคนที่จะมาเป็นนายกฯ แต่ กรธ. มองไม่ใช่เรื่องใหม่ เห็นด้วยแต่ขัดกับระบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” พร้อมเปิดช่องนายกรัฐมนตรีคนนอก ให้แต่ละพรรคการเมืองแจ้ง กกต. ก่อนหาเสียง

วันนี้ (11 พ.ย.) ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เป็นประธานการประชุม ได้มีพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้างบริหารกรณีที่มานายกรัฐมนตรี โดย นายอภิชาต สุขัคคานนท์ กรธ. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายบริหาร เป็นผู้เสนอการศึกษาในประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า ที่มานายกรัฐมนตรี ทางอนุกรรมการได้ศึกษา 3 ทางเลือก คือ แนวทางที่ 1 มาจาก ส.ส. แนวทางที่ 2 บุคคลใด ๆ ที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ ตรงนี้หมายความว่า จะเป็น ส.ส. หรือไม่เป็น ส.ส. ก็ได้ และแนวทางที่ 3 เป็นแนวทางที่ทางอนุกรรมการคิดขึ้นมาใหม่ คือ ผู้ที่มีชื่อปรากฏในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี

นายอภิชาต กล่าวอีกว่า สำหรับจุดแข็งของแนวทางที่ 3 คือ 1. สภาผู้แทนราษฎร โดยเสียงส่วนใหญ่เป็นคนเลือกนายกรัฐมนตรี และ 2. ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงได้เห็นรายชื่อผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนตัดสินใจลงคะแนน ส่วนจุดอ่อน คือ 1. ถ้าบ้านเมืองอยู่ในภาวะวิกฤต ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีจะถูกจำกัดอยู่ในรายชื่อที่เสนอเท่านั้น และ 2. ประชาชนที่มาใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง อาจไม่ค่อยคุ้นเคยหรืออาจไม่เข้าใจ

จากนั้นที่ประชุมใหญ่ได้มีการแสดงความคิดเห็นถึงที่มานายกรัฐมนตรีในแนวทางที่ 3 โดย กรธ. บางคนระบุว่า แนวทางดังกล่าวไม่ถือเป็นเรื่องใหม่เสียทีเดียว เพราะคล้ายคลึงกับการเลือกตั้งที่ผ่านมา โดยประชาชนมีความเข้าใจอยู่แล้วว่าบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่ออันดับที่ 1 คือ ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี อีกทั้งเห็นว่าแนวทางดังกล่าวเป็นไปไม่ได้กับระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ทาง กรธ. กำลังออกแบบอยู่ ยกตัวอย่างเช่น หากพรรคการเมืองหนึ่งได้ ส.ส. แบบแบ่งเขตเต็มจำนวน ตามหลักของจัดสรรปันส่วนพรรคการเมืองนั้นจะไม่ได้สัดส่วนของ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่ออีก ดังนั้น ใครที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องลง ส.ส. แบบแบ่งเขต ไม่ใช่อยู่ในระบบบัญชีรายชื่อตามที่มีการคิดในแนวทางที่ 3

นอกจากนี้ กรธ. บางคนยังเห็นด้วยกับหลักการของแนวทางที่ 3 ที่นายกฯ มาจากการเลือกโดยรัฐสภา หรือหมายความว่า ส.ส. จำนวน 500 คน ต้องรับผิดชอบด้วย รวมทั้งพรรคการเมืองต้องรับผิดชอบทางการเมืองของพรรคการเมืองเอง หมายความว่า เมื่อมีการเสนอชื่อหรือถูกหยิบยื่นรายชื่อไป พรรคจะต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง ทั้งนี้ เห็นว่า แนวทางที่ 3 เป็นการแก้ไขปัญหาบุรุษลึกลับได้ และทำให้เห็นชัดเจนว่าคู่แข่งที่จะเป็นนายกฯคือใครบ้าง อย่างไรก็ตาม แนวทางที่ 3 มีความเป็นไปได้และตอบโจทย์หลายคำถามของสังคม เพียงแต่ต้องทบทวนรายละเอียดบางประการ อาทิ การกำหนดคุณสมบัติ การเสนอชื่อซ้ำได้หรือไม่ เป็นต้น

ภายหลังที่เปิดให้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง นายมีชัย กล่าวว่า ข้อเสนอของคณะอนุกรรมการ เป็นเรื่องน่าคิด เพราะ กรธ. วนเวียนคิดเรื่องที่มานายกรัฐมนตรีตลอด เนื่องจากที่ผ่านมาเกิดวิกฤตจนทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจ นอกจากนี้ เวลากำหนดให้นายกรัฐมนตรีมาจาก ส.ส. จะมีความรู้สึกว่าทำไมต้องจำกัดการเลือกนายกรัฐมนตรีของสภาด้วย ในเมื่อสภาต้องเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว ครั้นจะกำหนดให้เลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง ก็เป็นไปไม่ได้ในบ้านเราที่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ดังนั้น แนวทางที่ 3 จึงถือเป็นทางเลือกที่รอมชอม เป็นการให้พรรคการเมืองกำหนดเลยว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ประชาชนรู้ว่าใครเป็น ส.ส. และใครมีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรี และผู้นำประเทศ ข้อดีของแนวทางดังกล่าวมีดังนี้ 1. ทำให้นายกรัฐมนตรีผ่านความเห็นชอบจากประชาชนทางอ้อม เพราะพรรคต้องจดแจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) จากนั้นค่อยนำไปหาเสียงกับประชาชน และทำให้รู้ว่าถ้าพรรคใด ๆ ได้เป็นรัฐบาลจะให้บุคคลที่ได้จดแจ้งต่อ กกต. เป็นนายกฯ 2. ถ้าบอกให้เสนอได้มากกว่า 1 ชื่อ โอกาสเลือกจะมีมากขึ้น เผื่อคนในลำดับที่ 1 เกิดเหตุ ประชาชนจะได้มีตัวเลือกอื่น 3. ไม่เปิดโอกาสให้พรรคเลือกใครต่อใครมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งเป็นบุคคลที่ประชาชนไม่รู้เห็นมาก่อน 4. เวลาประชาชนลงคะแนนจะมีความหมายมากขึ้น เพราะเลือกทั้งคน ทั้งพรรค และนายกรัฐมนตรีในบัตรใบเดียว สุดท้ายพรรคจะได้รับการมองจากประชาชนที่เข้มงวดขึ้น เพราะพรรคต้องคิดล่วงหน้าว่าเมื่อชนะเลือกตั้งแล้วจะเลือกใครเป็นรัฐบาลบ้าง

“หากแต่ละพรรคเสนอชื่อคนเป็นนายกรัฐมนตรีซ้ำกัน ก็ไม่น่าจะเป็นไร เพราะคนที่ถูกเสนอชื่อจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับสูงอยู่แล้ว หรืออาจจะแก้ปัญหาด้วยการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำ ว่า พรรคที่จะเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีซ้ำกับพรรคอื่น จะต้องมีคะแนนเสียงได้รับเลือกขั้นต่ำจำนวนหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการตั้งพรรคนอมินี หรือจับมือกันระหว่างพรรคใหญ่กับพรรคเล็ก ส่วนปัญหาว่าบุคคลที่ได้รับการเสนอเป็นนายกในบัญชีรายชื่อจำเป็นต้องเป็น ส.ส. หรือไม่ เพราะ ณ วันที่เลือกยังไม่มีใครได้เป็น ส.ส. เพราะยังไม่ได้มีการเลือกตั้ง คำถามต่อไป คือ แล้วต้องมีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อหรือเป็นผู้สมัครหรือไม่ คิดว่าไม่จำเป็นต้องบังคับ เพราะประชาชนก็เห็น ประชาชนเป็นคนตัดสินใจ ถ้าใช้แนวทางที่ 3 แล้วคิดรายละเอียดให้ดี บางทีอาจเป็นวิธีทางที่ทำให้บ้านเมืองก้าวเข้าไปข้างหน้า” นายมีชัย กล่าว

หลังการอภิปราย นายมีชัย เปิดให้สื่อมวลชนซักถาม เริ่มจากประเด็น การป้องกันการเสนอบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีซ้ำกันของแต่ละพรรค เพื่อไม่ให้เอื้อต่อการจัดตั้งพรรคนอมินี หรือการฮั้วกันของพรรคใหญ่กับพรรคเล็ก ตอนเลือกนายกรัฐมนตรี นายมีชัย กล่าวว่า การเสนอบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรค ต้องเป็นไปตามมติของพรรค คนที่ถูกเสนอชื่อก็ต้องยินยอม หากจะมีพรรคการเมืองอื่นเสนอบัญชีรายชื่อเดียวกัน ก็ต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลนั้น แล้วก็เป็นสิ่งที่พรรคใหญ่เสนอรายชื่อก่อนจะต้องหารือกับอีกพรรค เพื่อป้องกันไม่ให้เอาชื่อบุคคลเดียวกันไปใช้โฆษณาหาเสียงแข่งกัน ซึ่งพรรคที่เสนอจะยอมให้ทำอย่างนั้นหรือไม่ เพราะอาจเป็นการแย่งคะแนนกัน พรรคการเมืองต้องระวังกันเอง อย่างไรก็ตามหากยอมให้เสนอชื่อคนเดียวกันก็อาจถูกมองว่า ฮั้วกันได้

“ผมขอถามว่า ถ้าไม่ใช้ระบบนี้แล้วมีการฮั้วกันหรือไม่ แต่ถ้าใช้แบบนี้ก็ไม่แน่ว่าจะฮั้วกันได้ เพราะก่อนเลือกตั้งจะมีการชิงไหวชิงพริบ คงไม่มีพรรคไหนยอมกันง่าย ๆ ระบบเลือกตั้งที่ผ่านมาเราไม่มีทางรู้เลยว่าตกลงจะเอาใครเป็นนายก แต่วิธีนี้จะทำให้เรารู้ก่อนว่าใครจะเป็น เราไม่ได้ตั้งใจจะเปิดช่องให้มีนายกฯคนนอก แต่ตั้งใจจะให้คนเห็นก่อนเลือกตั้งว่า ใครจะมีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีบ้าง จะได้ไม่มีการงุบงิบ เอาไอ้โม่ง หรือม้ามืด โผล่มาทีหลัง” นายมีชัย กล่าว

เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีรูปแบบนี้ เปิดช่องให้รัฐบาลทหารมีโอกาสสืบทอดอำนาจหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า “ไม่ ถ้าเจ้าตัวเขาไม่เอา แต่ถ้าเจ้าตัวเอาด้วย เขาก็ต้องเปิดเผยออกมาให้เห็นตั้งแต่ประกาศบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรค แล้วถ้าผลออกมาเขาชนะถล่มทลาย ก็คงทำอะไรเขาไม่ได้ หรือผมถามว่า หากผู้มีอำนาจอยู่ในตอนนี้ เขาไปตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาตอนนี้เลย จะทำอะไรได้” นายมีชัย กล่าว และว่า ถ้ามีนายกรัฐมนตรีคนนอก จะไม่ทำให้เกิดวิกฤตเหมือนพฤษภาฯ 35 เพราะครั้งนี้ประชาชนจะรู้ก่อนว่าใครจะมาเป็นนายกฯ


กำลังโหลดความคิดเห็น