xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” หนุนหลักการเลือกตั้งระบบจัดสรรปันส่วนผสม รับมีทั้งข้อดีข้อเสีย ชี้ของเก่าใช้มาหลายสิบปียังมีปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิษณุ เครืองาม (แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ เห็นด้วยในหลักการระบบจัดสรรปันส่วนผสม ไม่ทำให้เสียงตกน้ำ รับมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่แบบเดิมใช้มา 70-80 ปีก็ยังมีปัญหา จึงต้องชั่งน้ำหนักให้ดี

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีที่มีเสียงวิจารณ์เรื่องวิธีการเลือกตั้งของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่า การโยนหินถามทางเรื่องให้เปลี่ยนจากวิธีการเลือกตั้งแบบเดิมมาเป็นแบบจัดสรรปันส่วนผสม โดยให้คะแนนทุกคะแนนเสียงที่ลงไปของประชาชนมีผลนำไปใช้ประโยชน์ได้นั้น ในหลักการแล้วตนเห็นด้วย และยังไม่เห็นมีใครค้าน ทุกประเทศในโลกเขาก็คิดกัน ตนเห็นว่ามีหลายวิธีในการคิดแต่ไม่ขอพูดในขณะนี้

“กรธ.ต้องการให้มีการพูดคุยเพื่อดูสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อนำไปดำเนินการต่อไป จากที่เห็นนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่วิเคราะห์เรื่องการเลือกตั้งระบบจัดสรรปันส่วนผสม ไม่มีเสียงตกน้ำ ทำให้มองเห็นข้อดีและข้อเสียได้ชัดเจน การเขียนรัฐธรรมนูญจะเอาความเป็นไทยที่เหมาะสมกับประเทศโดยไม่ทิ้งหลักสากล แต่ปัญหาของเราไม่เหมือนกับประเทศอื่น บางครั้งต้องยอมรับว่าของบางอย่างไม่เฉพาะวิธีเลือกตั้ง แต่ยังมีเรื่องอื่นที่มีทั้งข้อดีและเสีย ใครยกข้อเสียขึ้นมาก็เป็นข้อเสียที่เห็นกันทั้งนั้น แต่ต้องมองว่าข้อเสียจะมีน้ำหนักมาทำลายข้อดีจนยกเลิกไปหรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่ต้องคิดและต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยากในการร่างรัฐธรรมนูญ บางครั้งคิดว่าการเลือกโดยใช้วิธีคิดว่าใครได้คะแนนสูงสุดเป็นผู้ชนะ ส่วนคะแนนน้อยให้ตัดทิ้งตามที่เคยชิน โดยคิดว่าดีแต่ยังมีข้อเสียอยู่ แต่เมื่อเทียบข้อดีกับข้อเสียอย่างอื่นที่มีแล้วชั่งน้ำหนักเห็นข้อดีมากกว่าถึงได้ทนกับระบบนี้มาเป็นเวลา 70-80 ปี”

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วันนี้เราคิดว่าจะไม่ควรทนกับข้อเสียของระบบเก่า เพราะข้อเสียรุนแรง และชัดเจนกว่าข้อดี จึงเกิดสูตรพิสดารที่จะนำคะแนนไปนับรวมกับอย่างอื่น ดังนั้น คนที่ไม่เห็นด้วยก็ต้องชี้ข้อเสียเรื่องนี้ออกมาว่าการนับแบบใหม่มีข้อเสียเกินกว่าที่จะรับได้ ส่วนข้อเสนอให้ใช้ระบบเดิมที่ประชาชนคุ้นเคยแต่ไปแก้ไขเรื่องระบบการตรวจสอบให้เกิดความเข้มแข็งมากขึ้นจะเหมาะสมกว่านั้น สามารถคิดได้ 2-3 แบบ คือ ทำในสิ่งที่เคยชินมาแล้ว และคิดใหม่ทำใหม่ และแบบที่เคยชินอาจยังไม่ดีที่สุดจึงนำไปผสมกับแบบอื่นเพื่อลดข้อเสียลง

นายวิษณุกล่าวว่า ตนได้ฟังคำพูดของนายลิขิต ธีระเวคิน ราชบัณฑิต ที่พูดในเรื่องซึ่งไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ แต่ตนเห็นด้วยกับคำพูดดังกล่าวว่า เมื่อใดที่เราคิดอย่างเดิมทำอย่างเดิมจะได้ผลอย่างเดิม เมื่อรู้ว่าผลไม่พึงปรารถนา ง่ายนิดเดียวก็อย่าไปคิด อย่าไปทำแบบเดิม เพื่อให้เกิดผลใหม่ จึงควรดูว่าผลที่เกิดขึ้นในวงการเมืองของไทยนั้นเราพอใจหรือไม่ หากพอใจก็คิด ทำ และเขียนอย่างเดิม แต่ถ้าเมื่อไหร่รู้สึกว่าได้ผลไม่ปรารถนา เช่น นำไปซึ่งการซื้อสิทธิขายเสียง นำมาสู่ความไม่เป็นธรรม ต้องกลับไปคิดอีกแบบและทำเพื่อให้เกิดผลอีกแบบหนึ่ง

“หลัง 14 ตุลา 16 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช รณรงค์วิธีการเลือกตั้งแบบด็องเป็นอย่างมาก โดยเสนอว่าทำอย่างไรไม่ให้คะแนนเสียงที่แพ้ต้องเสียไป มิเช่นนั้นคนจะหมดกำลังใจเพราะออกจากบ้านมาเลือกแล้วยังแพ้จนไม่อยากเลือก จึงคิดว่าทำอย่างไรที่จะเอาคะแนนที่แพ้มาคิด เรียกว่าระบบสัดส่วน และตอนนี้มีการดัดแปลงเป็นการจัดสรรปันส่วน ซึ่งมี 10 กว่าวิธี ซึ่งยังไกลจากระบบด็องที่มีการใช้ในยุโรป เช่น เยอรมนี แต่อยู่บนตรรกะเดียวกันทำอย่างไรที่จะเคารพไม่ให้คะแนนเสียไป ของเรานำมาผสมคือเอาคะแนนของคนที่แพ้มาบวกเข้าไปในปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งอาจจะไม่เหมือนกับที่ไหนก็ได้”

นายวิษณุกล่าวว่า ที่ห่วงว่าวิธีนี้อาจขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชนที่ไปลงคะแนน หากใครไม่เห็นด้วยสามารถไปคิดอีกแบบหนึ่งได้ ไม่เป็นไร

เมื่อถามว่าแม่น้ำ 5 สาย ต้องการให้มีปรับวิธีการเลือกตั้งแบบใหม่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เรื่องนี้นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเคยถามว่าต้องการให้เป็นแบบใหม่หรือไม่ คำตอบคือ เมื่อเราจะปฏิรูปคือการเปลี่ยนรูปแบบใหม่ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง รัฐธรรมนูญ ดังนั้นต้องคิดอะไรให้ใหม่กว่าเดิม เพราะผลของเดิมก่อนหน้านั้นไม่พึงปรารถนา แต่ไม่ได้เจาะจงทุกเรื่อง เพราะบางเรื่องหากดีแล้วก็หยุดแล้วไปทำเรื่องอื่นให้ใหม่ก็เป็นได้ ซึ่ง คสช.เคยตอบไปแล้วต้องการเห็นการปฏิรูป และขอให้เขียนรัฐธรรมนูญออกมาใหม่ แต่ไม่ใช่เถรตรงไปเขียนใหม่ทุกมาตรา หากหลักของเดิมดีอยู่แล้วไม่ต้องไปยุ่ง เช่น ประเทศไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวผู้ใดแบ่งแยกไม่ได้ จะไปเขียนใหม่ เป็นประเทศไทยเป็นหลายรัฐ เป็นต้น ดังนั้นไม่ว่าจะตอบรับหรือปฏิเสธก็ถูกทั้งหมด

ผู้สื่อข่าวถามว่า ครม.ได้ให้ความเห็นและข้อเสนอในการร่างรัฐธรรมนูญไปที่ กรธ.เพิ่มเติมจากที่เคยส่งไปหรือยัง รองนายกฯ กล่าวว่า ยัง หากพบว่ามีเรื่องใดที่ต้องการเสนอจะส่งไปอีก และยังไม่มีหน่วยงานใดที่เสนอความเห็นมาที่ ครม.เพื่อส่งให้ กรธ. เพราะการที่เราให้คิดจากศูนย์เริ่มจากความฝันจะคิดยาก เพราะคนไทยถนัดเป็นฝ่ายค้านให้ทำมาให้ดูก่อนแล้วจะบอกว่าไม่ดีอย่างไร แต่ประเภทที่ให้บอกมาก่อนแล้วเราจะทำให้ก็ไม่บอก ต่อข้อถามถึงข้อเสนอแนะของพรรคเพื่อไทย เสนอให้รัฐบาลใหม่ ตั้ง สสร.ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากการเลือกตั้ง 180 วัน นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นหนึ่งในข้อเสนอของเขาที่เรารับฟังไว้ และไม่มีอะไรไปวิจารณ์

ผู้สื่อข่าวถามว่าระบบเลือกตั้งใหม่จะช่วยแก้ปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงของนักการเมืองได้จริงหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ฟังจากการวิเคราะห์ของนายสมบัติ คิดว่าไม่น่าจะแก้ได้ แต่ได้ประโยชน์ที่เป็นการเคารพเสียงของประชาชนมากกว่า ไม่มีคะแนนตกน้ำ แต่ไม่ตอบโจทย์เรื่องซื้อสิทธิขายเสียง หากจะแก้ตรงนั้นต้องมีมาตรการอื่นมาใช้ เช่น การห้าม ส.ส.เป็นรัฐมนตรี ใครจะเป็นต้องลาออก เพื่อกันการซื้อสิทธิขายเสียงเพื่อมาเป็นส.ส.ต่อไปเป็นรัฐมนตรีแล้วถอนทุนให้คุ้มกับที่ซื้อ เมื่อตัดตรงนี้ถามว่าการซื้อเพื่อมาเป็น ส.ส.จะคุ้มหรือ เพราะ ส.ส.เงินเดือน ประมาณ 1 แสน ปีละ 1.2 ล้านบาท หักภาษีเหลือไม่ถึงล้านบาท แล้วยังเสี่ยงต่อการยุบสภา ฉะนั้นถามว่าจะซื้อไปทำไม 10 -20 ล้านบาท เป็นต้น แต่ยังมีข้อเสียเรื่องอื่นจึงต้องชั่งใจ

ส่วนที่นายสมบัติระบุว่าการนำคะแนนคนแพ้มารวมกับปาร์ตี้ลิสต์ ไม่ใช่การสะท้อนความนิยมของประชาชนต่อพรรคการเมือง รองนายกฯ กล่าวว่า ตนได้อ่านและเห็นว่าวิเคราะห์ได้ดี ยืนยันว่าการนำเสียงมารวมนั้นเป็นการเคารพเสียงประชาชนส่วนหนึ่ง ขณะที่ส่วนหนึ่งอาจไม่ตรง แต่การที่ประชาชนไม่เอาไม่ได้แปลว่าเกลียดแต่เขาเลือกเท่านี้ หากเลือกได้มากกว่านี้อาจจะเลือกก็ได้ จึงพูดยากว่าไปเอาคนที่ประชาชนปฏิเสธเพราะคนที่ชนะเลือกตั้งแล้วบอกว่าประชาชนเขาเลือก หากเอาคะแนนคนที่แพ้ลำดับที่ 1, 2, 3, 4 มารวม อาจจะมากกว่าหมายเลขหนึ่งก็เป็นได้ แล้วทำไมไม่พูดกลับกันว่าคนที่ได้ที่หนึ่งคือคนที่ประชาชนเขาปฏิเสธ ซึ่งเยอรมนี เนเธอแลนด์ ลักเซมเบิร์ก เขาเคยให้เหตุผลในลักษณะนี้มาก่อน

ส่วนที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เสนอให้นับคะแนนของผู้ที่ชนะด้วย นายวิษณุกล่าวว่า ก็รับฟังและคิดว่าหากเป็นอย่างนั้นน่าจะประนีประนอม เพราะยังไม่เป็นไร เพราะเมื่อเป็นรัฐบาลที่ไม่ผสมก็เป็นเผด็จการเสียงข้างมาก พอผสมก็บอกว่ายุ่งจนเกินไป เพราะเราเจอมาหมดแล้ว ซึ่งแต่ละแบบมีข้อดีข้อเสียต่างกันไป

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากนำระบบการเลือกตั้งใหม่มาใช้จริง ผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ที่แพ้เลือกตั้งจะถูกมองเป็น ส.ส.อกหักหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า มีทั้งคนที่อกหักและไม่อกหักปนกัน และหากจัดดีไม้รู้ว่าใครอกหัก สมมติตนลงสมัครปาร์ตี้ลิสต์ ต่อให้ไม่เอาคะแนนพวกที่สอบตกมารวมตนก็ยังได้ จะบอกว่าเป็น ส.ส.อกหักได้อย่างไร มิเช่นนั้นพรรคที่ชนะ ส.ส.เขตจะมีโอกาสมี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ได้อย่างไร

ต่อข้อถามถึงจำนวน ส.ส.ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะกำหนดให้มีจำนวน 500 คน อาจจะมากเกินไป นายวิษณุกล่าวว่า เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงร่างฯฉบับนายบวรศักดิ์ และรัฐธรรมนูญก่อนหน้านั้น กำหนดไว้ 470 คน ซึ่งตัวเลขไม่สำคัญ ทั้งนี้ร่างแรกจะออกมาในเดือน ก.พ. 2559 เพื่อส่งให้หน่วยงานต่างๆ ดูเพื่อวิจารณ์ จากนั้น กรธ.นำกลับไปพิจารณาต่อ โดยขั้นตอนจะอยู่ในกรอบเวลา 6 เดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น