xs
xsm
sm
md
lg

"มีชัย"ยืนยันเลือกตั้งจัดสรรปันส่วน แจง7ข้อดี-ช่วยปรองดอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชี้แจงต่อข้อวิจารณ์เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ตามระบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่ให้นำคะแนนคนแพ้มานับเป็นคะแนน ส.ส.สัดส่วน โดยให้เหตุผล 7 ข้อ ดังนี้
1. การเข้าใจเรื่องนี้ได้ ต้องเริ่มต้นที่เราจะเคารพเสียงของประชาชนมากน้อยแค่ไหนที่จะไม่ให้คะแนนประชาชนสูญไปโดยเปล่าประโยชน์ ที่ผ่านมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่อีกใบหนึ่งนับเพียงส่วนเดียว ส่วนที่แพ้จะถูกทิ้งน้ำไปหมด
2. กรธ.คิดเรื่องนี้ ไม่ได้คิดถึงพรรคใด หรือจะเกิดประโยชน์โทษอะไรกับพรรคการเมือง คิดให้คะแนนประชาชนมีน้ำหนักในการออกเสียงเลือกตั้งเท่าที่จะมากได้
3. วิธีคิดเป็นวิธีการปรองดองอย่างหนึ่ง คือให้คะแนนเฉลี่ยกันไป ทุกพรรคจะได้รับคะแนนตามสมควร
4. นักวิชาการหรือสื่อ ที่ชอบอ้างว่าไม่มีประเทศไหนทำนั้น ต้องเข้าใจว่า คนไทยมีสติปัญญาที่คิดออกเอง ที่เหมาะสมกับบริบทประเทศไทย เรียนเมืองนอกไม่ใช่จำตำรามาใช้ ต้องปรับให้เข้ากับประเทศของเรา ในอดีตเคยบมีใครกินส้มตำ และต้มยำกุ้งหรือไม่ แต่คนไทยกินจนคนทั้งโลกก็ชอบ
5. ถ้าจะเอาโลกมาเป็นตัวอย่าง ก็ถามว่าเคยมีรัฐบาลไหนที่ไม่จัดสรรงบประมาณให้กับพรรคตัวเอง แต่ประเทศไทยมีเรากำลังแก้ปัญหาไม่ให้เกิดอย่างนั้นขึ้น ทุกจังหวัดจะมีคะแนนเสียงเอื้อต่อทุกพรรคการเมือง จนสามารถพูดได้ว่า คนทั้งประเทศสนับสนุนพรรคการเมืองมากน้อยต่างกัน
6. การเลือกเช่นนี้พรรคจะคัดเลือกคนดีที่สุดไปลง แม้จะรู้ว่าสู้ไม่ได้ แต่มีความหวังจะได้คะแนนเพื่อคำนวณในบัญชีรายชื่อ
7. ในการเลือกตั้งปี 2554 มีเขตเลือกตั้ง 375 เขต มี 120 เขต ที่คนได้รับเลือกน้อยกว่าคนอื่นโดยยังไม่นับ โหวตโน เท่ากับเราไม่รับเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนใช่หรือไม่ ไม่เป็นธรรมกับประชาชน ในเมื่อทุกพรรคมุ่งมั่นว่าต้องฟังเสียงประชาชน ก็ต้องลดการคิดถึงประโยชน์ของพรรค คิดถึงประชาชนให้มากขึ้น
นายมีชัย กล่าวด้วยว่า ผลลัพธ์ของการใช้ระบบนี้ยากจะคำนวณล่วงหน้าได้ว่า พรรคใดจะได้เปรียบเสียเปรียบ แต่การเสนอแนะก็รับฟังว่าอะไรเป็นจุดอ่อนที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม คิดแต่พรรคไม่ได้รับความเป็นธรรม กรรมการจะไม่นำมาคิด
ส่วนกรณีที่มีการมองว่า ระบบนี้ทำให้ประชาชนมีสิทธิไม่เท่ากัน เพราะคนที่เลือกได้ ส.ส.เขต จะไม่มีสิทธิเลือก ส.ส.สัดส่วนนั้น นายมีชัย กล่าวว่า ไม่ควรคิดแยก แต่ต้องคิดว่าประชาชนไปลงคะแนนมีสิทธิเลือกส.ส.โดยเสียงของเขาไม่ถูกทิ้งน้ำ แม้ว่าจะเป็นการลงคะแนนส.ส.เขต แต่ประชาชนย่อมชอบพรรคการเมืองที่คนเหล่านั้นสังกัดอยู่แล้ว จึงไม่ถือว่าเป็นการตัดสิทธิประชาชนที่ได้ ส.ส.เขต แต่คะแนนจะไม่ถูกนับในระบบสัดส่วน ขณะเดียวกันเสียงที่เลือกส.ส.เขต แต่แพ้ก็จะไม่ถูกทิ้ง ยังนำมาคำนวณเป็นส.ส.ได้ แม้ว่าจะไม่ได้ตัวบุคคลเดียวกับที่เลือกให้เป็นส.ส.เขต แต่ก็จะได้ส.ส.จากพรรคการเมืองนั้น ซึ่งไม่ถือว่าทำให้ประชาชนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียสิทธิ แต่ทุกคะแนนจะนำมาคำนวณเพื่อเลือกส.ส.
อย่างไรก็ตาม นายมีชัย ยอมรับว่า กรธ. ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับรายละเอียดของระบบดังกล่าว ว่าจะคำนวณอย่างไร แต่ยืนยันว่า จะเดินหน้าระบบนี้ และรับฟังเสียงท้วงติงที่มีเหตุผลเพื่อปรับปรุงต่อไป อีกทั้งยังไม่ทราบด้วยว่า ผลลัพธ์จากการใช้ระบบนี้จะทำให้เกิดรัฐบาลผสม หรือไม่ แต่ยืนยันว่าไม่ได้มีเป้าหมายให้เกิดรัฐบาลผสมโดยการเปลี่ยนวิธีการจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดก่อน เพราะเห็นว่า แนวคิดที่จะกำหนดเป้าหมายว่าต้องการได้รัฐบาลแบบใดนั้น เป็นความคิดที่ผิด
นายมีชัย ยังยอมรับด้วยว่า กรณีที่มีความเป็นห่วงว่าจะเกิดพรรคนอมินีขึ้นนั้น ก็มีสิทธิที่จะเกิดได้ แต่ถ้าพรรคการเมืองใดคิดทำเช่นนั้นก็มีความเสี่ยง เพราะไม่มีใครรู้ว่าประชาชนจะลงคะแนนอย่างไร อย่าคิดว่าเล่นกับประชาชนได้ง่ายๆ

** "นพดล"หวังกรธ.นำข้อเสนอไปทบทวน

นายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ กรธ. ระบุว่าจะใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสมในการเลือกตั้ง ว่า ข้อเสนอของ กรธ.อาจจะขัดกับหลักความศักดิ์สิทธิในการแสดงเจตจำนงของประชาชน ที่เป็นหลักการพื้นฐานของการเลือกตั้ง ที่ประชาชนได้แสดงเจตจำนงทางการเมืองว่า จะเลือกบุคคลใด หรือพรรคใดเป็นตัวแทนของตน เช่น ผู้เลือกตั้งเลือกผู้สมัครในเขตเพื่อให้พรรคที่ชอบมีจำนวน ส.ส.มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาล และให้หัวหน้าพรรคที่มักจะเป็นผู้สมัครลำดับ 1 ในระบบบัญชีรายชื่อให้ได้เป็นส.ส.ด้วย แต่ระบบจัดสรรปันส่วนผสมอาจทำให้เจตจำนงของประชาชนไม่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ เพราะถ้ากาบัตรเลือกผู้สมัครพรรคที่ตนชอบมากจนชนะเลือกตั้งในเขต คะแนนที่หวังว่าจะไปช่วยให้หัวหน้าพรรคที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ จะถูกตัดทิ้งทันที ซึ่งถือว่าขัดเจตจำนงของประชาชน ดังนั้นถ้าต้องการให้มีคะแนนเหลือนำไปคำนวณ ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ หรือช่วยหัวหน้าพรรคให้ได้เป็น ส.ส. ผู้เลือกตั้งต้องกาบัตรอย่างไรไม่ให้ ส.ส.ในเขตชนะ จึงจะเอาคะแนนไปช่วยผู้สมัครบัญชีรายชื่อ คำถามจึงตามมาว่า เรากำลังออกแบบวิธีเลือกตั้งที่คาดหมายสิ่งที่เป็นไปไม่ได้จากประชาชน หรือระบบที่เคารพความศักดิ์สิทธิ์ของเจตจำนงประชาชนแล้วหรือไม่
" หวังว่า กรธ.จะนำความเห็นของฝ่ายต่างๆไปพิจารณา เพราะที่เสนอไม่ใช่กลัวว่าพรรคใดจะได้เปรียบ หรือเสียเปรียบ แต่ต้องการให้การเลือกตั้งนั้น เสรีและเป็นธรรมกับทุกพรรค และเป็นระบบที่อธิบายได้ด้วยตรรกะและเหตุผล กรธ. เป็นผู้มีความรู้และคงจะใจกว้างรับฟังความเห็นต่าง" นายนพดล กล่าว

**ปชป.เตือนระวังติดหล่มรัฐธรรมนูญ

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง การร่างรัฐธรรมนูญว่า เวลามีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เราก็กระดี๊กระด๊ากันยกใหญ่ทุกครั้ง ผู้ร่างก็ชอบใจที่ได้แสดงภูมิรู้ ได้ออกทีวี ได้นั่งอ่านข่าวของตัวเองในหนังสือพิมพ์ แล้วชี้ให้คนอื่นดู หรือได้ผูกไท ใส่สูท ไปปาฐกถาในโรงแรมเกณฑ์คนมาฟัง ให้ประชาชนเถียงกันเรื่องรัฐธรรมนูญ แล้วตัวเองได้แสดงภูมิ ตอบคำถามนั้นอย่างกะผู้รู้ สอนคนให้บรรลุธรรม ทั้งนี้เห็นว่าสำหรับคนใหม่ๆ ที่ไม่มีโอกาสผ่านการเลือกตั้งก็ดูดี แล้วท่านได้มีโอกาสร่างกติกา แม้ว่าตนจะไม่รังเกียจ แต่ก็รู้สึกไม่ชื่นชมบางท่าน-บางคน ซึ่งมันก็เป็นสิทธิของตน
"ร่างแล้วคว่ำ, คว่ำแล้วร่าง วนเวียนกันไปอย่างนี้ บางคนร่างมากับมือ กลับภูมิใจที่ได้คว่ำสิ่งที่ตนทำมากับมือ แล้วดีใจที่ได้กลับมาร่างใหม่อีก แต่สิ่งที่ผู้ร่างไม่บอกประชาชนเลย คือ ทำไมประเทศอังกฤษที่เป็นต้นแบบของระบอบประชาธิปไตย เขาไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร ลองตอบหน่อยเป็นไร มีทีวีหลายช่องขอให้ผมไปวิเคราะห์รัฐธรรมนูญที่กำลังร่าง แต่ผมปฏิเสธไปทุกช่องอย่างเสมอภาคกัน เพราะไม่อยากพูดถึงเรื่องนี้อีกแล้ว เรากำลังติดหล่มรัฐธรรมนูญครับ เหมือนชาวต่างชาติที่ไปติดหล่มโคลนดูดที่จังหวัดกระบี่นั่นแหละ ยิ่งดิ้นมันก็ยิ่งดูด แล้วใครจะช่วยเราออกจากหล่มรัฐธรรมนูญได้" รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

**กรธ.ถกเลือกตั้งเป็นสิทธิ หรือหน้าที่

นายนรชิต สิงหเสนี โฆษก กรธ. แถลงว่า กรธ.ยังคงพิจารณาหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐอย่างต่อเนื่อง สรุปสาระสำคัญ คือ บทบัญญัติที่ให้รัฐคุ้มครอง บริหารจัดการการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน ในการบริหารจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติ ให้รัฐจัดให้เกษตรกร และผู้ใช้แรงงาน ได้รับความปลอดภัยมนการทำงาน และสวัสดิการที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ ให้รัฐจัดระบบเศรษฐกิจให้ประชาชนมีโอกาสได้รับประโยชน์จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกันอย่างทั่วถึง และเป็นธรรม ส่งเสริมให้ผู้บริโภครวมกลุ่มกันเพื่อปกป้องสิทธิของตน จัดให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อประกอบการตัดสินใจของรัฐในการจัดทำนโยบายสาธารณะ ที่ประทบสถานะทางการเงิน และการคลังของประเทศ ส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการจัดให้มีสาธารณูปโภค และการจัดทำบริการสาธารณะตามความเหมาะสม
นอกจากนี้ กำหนดให้รัฐพัฒนาระบบการบริหารราชการแผ่นดิน และงานอื่นของรัฐให้เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ขจัดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาบุคลากรของรัฐให้มีความรู้ ความสามารถ
ที่ประชุมยังได้หารือประเด็นการทำโพลสำรวจเรื่องการลงคะแนนการเลือกตั้งว่า จะให้เป็นสิทธิ หรือหน้าที่ ซึ่งกรธ.ได้อภิปรายในประเด็นดังกล่าวมานานแล้ว เห็นว่าตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ปี 34 –57 ได้ระบุให้เป็นหน้าที่ ที่ประชาชนต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่มีผู้สังเกตว่า ถ้าระบุให้เป็นหน้าที่ จะมีบทลงโทษอย่างไร เท่าที่ดูจะเป็นลักษณะของการตัดสิทธิมากกว่า
อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์และผลิตสื่อ ได้แจ้งต่อที่ประชุม กรธ.ว่า ขณะนี้ทางนิด้าโพล พร้อมให้ความร่วมมือกับกรธ. ในการทำโพล ถ้ากรธ.ต้องการสำรวจความเห็นของประชาชนในประเด็นใด ก็สามารถแจ้งประเด็น และกรอบเวลาไปยังนิด้าโพล ได้ทันที โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น