xs
xsm
sm
md
lg

กรธ.แจงเลือกตั้งระบบจัดสรรปันส่วนผสม ไม่ให้เสียง ปชช.สูญเปล่า ปัดมีธงรัฐบาลผสม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
“มีชัย” เคลียร์ 7 เหตุผลเดินหน้าเลือกตั้งระบบจัดสรรปันส่วนผสม ไม่ให้เสียง ปชช.สูญเปล่า ไม่คิดพรรคใดได้ประโยชน์ เป็นการปรองดองอย่างหนึ่ง ย้อนพวกอ้างไม่มีชาติใดทำ คนไทยก็คิดเองเป็น ดัดหลังเทงบพรรคตัวเอง เอื้อส่งคนดีที่สุดลง ฟัง ปชช.ลดคิดถึงประโยชน์พรรค ไม่สนพรรคอ้างไม่เป็นธรรม ยันไม่ทำฝ่ายใดเสียสิทธิ รับยังไม่ชัดเจนคำนวณอย่างไร ปัดมีเป้าเป็นรัฐบาลผสม เตือนเสี่่ยงตั้งพรรคนอมินี

วันนี้ (2 พ.ย.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงต่อข้อวิจารณ์เกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง คือ ระบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่ให้นำคะแนนคนแพ้มานับเป็นคะแนน ส.ส.สัดส่วน โดยให้เหตุผล 7 ข้อ ดังนี้ 1. การเข้าใจเรื่องนี้ได้ต้องเริ่มต้นที่เราจะเคารพเสียงของประชาชนมากน้อยแค่ไหนที่จะไม่ให้คะแนนประชาชนสูญไปโดยเปล่าประโยชน์ ที่ผ่านมาใช้สองใบ แต่อีกใบหนึ่งนับเพียงส่วนเดียวส่วนที่แพ้จะถูกทิ้งน้ำไปหมด 2. กรรมการคิดเรื่องนี้ ไม่ได้คิดถึงพรรคใดหรือจะเกิดประโยชน์โทษอะไรต่อพรรคการเมือง คิดให้คะแนนประชาชนมีน้ำหนักในการออกเสียงเลือกตั้งเท่าที่จะมากได้ 3. วิธีคิดเป็นวิธีการปรองดองอย่างหนึ่ง คือ ให้คะแนนเฉลี่ยกันไป ทุกพรรคจะได้รับคะแนนตามสมควร

4. นักวิชาการหรือสื่อที่ชอบอ้างว่าไม่มีประเทศไหนทำนั้น ต้องเข้าใจว่าคนไทยมีสติปัญญาที่คิดออกเองที่เหมาะสมกับบริบทประเทศไทย เรียนเมืองนอกไม่ใช่จำตำรามาใช้ ต้องปรับให้เข้ากับประเทศของเรา ในอดีตเคยมีใครกินส้มตำ และต้มยำกุ้งหรือไม่ แต่คนไทยกินจนคนทั้งโลกก็ชอบ

5. ถ้าจะเอาโลกมาเป็นตัวอย่าง ก็ถามว่าเคยมีรัฐบาลไหนที่ไม่จัดสรรงบประมาณให้กับพรรคตัวเอง แต่ประเทศไทยมีเรากำลังแก้ปัญหาไม่ให้เกิดอย่างนั้นขึ้น ทุกจังหวัดจะมีคะแนนเสียงเอื้อต่อทุกพรรคการเมืองจนสามารถพูดได้ว่าคนทั้งประเทศสนับสนุนพรรคการเมืองมากน้อยต่างกัน 6. การเลือกเช่นนี้พรรคจะคัดเลือกคนดีที่สุดไปลงแม้จะรู้ว่าสู้ไม่ได้แต่มีความหวังจะได้คะแนนเพื่อคำนวณในบัญชีรายชื่อ

7. ในการเลือกตั้งปี 2554 มีเขตเลือกตั้ง 375 เขต มี 120 เขตที่คนได้รับเลือกน้อยกว่าคนอื่นโดยยังไม่นับโหวตโน เท่ากับเราไม่รับเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนใช่หรือไม่ ไม่เป็นธรรมต่อประชาชนในเมื่อทุกพรรคมุ่งมั่นว่าต้องฟังเสียงประชาชน ก็ต้องลดการคิดถึงประโยชน์ของพรรคคิดถึงประชาชนให้มากขึ้น

นายมีชัยกล่าวด้วยว่า ผลลัพธ์ของการใช้ระบบนี้ยากจะคำนวณล่วงหน้าได้ว่าพรรคใดจะได้เปรียบเสียเปรียบ แต่การเสนอแนะก็รับฟังว่าอะไรเป็นจุดอ่อนที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมคิดแต่พรรคไม่ได้รับความเป็นธรรมกรรมการจะไม่นำมาคิด

ส่วนกรณีที่มีการมองว่าระบบนี้ทำให้ประชาชนมีสิทธิไม่เท่ากัน เพราะคนที่เลือกได้ ส.ส.เขตจะไม่มีสิทธิเลือก ส.ส.สัดส่วนนั้น นายมีชัยกล่าวว่า ไม่ควรคิดแยกแต่ต้องคิดว่าประชาชนไปลงคะแนนมีสิทธิเลือก ส.ส.โดยเสียงของเขาไม่ถูกทิ้งน้ำ แม้ว่าจะเป็นการลงคะแนน ส.ส.เขตแต่ประชาชนย่อมชอบพรรคการเมืองที่คนเหล่านั้นสังกัดอยู่แล้ว จึงไม่ถือว่าเป็นการตัดสิทธิประชาชนที่ได้ ส.ส.เขตแต่คะแนนจะไม่ถูกนับในระบบสัดส่วน ขณะเดียวกันเสียงที่เลือก ส.ส.เขตแต่แพ้ก็จะไม่ถูกทิ้งนำมาคำนวณเป็น ส.ส.ได้แม้ว่าจะไม่ได้ตัวบุคคลเดียวกับที่เลือกให้เป็น ส.ส.เขตแต่ก็จะได้ ส.ส.จากพรรคการเมืองนั้น ซึ่งไม่ถือว่าทำให้ประชาชนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียสิทธิแต่ทุกคะแนนจะนำมาคำนวณเพื่อเลือก ส.ส.

อย่างไรก็ตาม นายมีชัยยอมรับว่ากรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับรายละเอียดของระบบดังกล่าวว่าจะคำนวณอย่างไร แต่ยืนยันว่าจะเดินหน้าระบบนี้และรับฟังเสียงท้วงติงที่มีเหตุผลเพื่อปรับปรุงต่อไป อีกทั้งยังไม่ทราบด้วยว่าผลลัพธ์จากการใช้ระบบนี้จะทำให้เกิดรัฐบาลผสมหรือไม่ แต่ยืนยันว่าไม่ได้มีเป้าหมายให้เกิดรัฐบาลผสมโดยการเปลี่ยนวิธีการจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดก่อน เพราะเห็นว่าแนวคิดที่จะกำหนดเป้าหมายว่าต้องการได้รัฐบาลแบบใดนั้นเป็นความคิดที่ผิด

นายมีชัยยังยอมรับด้วยว่า กรณีที่มีความเป็นห่วงว่าจะเกิดพรรคนอมินีขึ้นนั้นมีสิทธิ์ที่จะเกิดได้ แต่ถ้าพรรคการเมืองใดคิดทำเช่นนั้นก็มีความเสี่ยงเพราะไม่มีใครรู้ว่าประชาชนจะลงคะแนนอย่างไร อย่าคิดว่าเล่นกับประชาชนได้ง่ายๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น