xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : ระบบเลือกตั้งใหม่ฉบับ “มีชัย” ... “แบ่งสรรปันส่วนผสม”...ดีจริงหรือไม่?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)
อมรรัตน์ ล้อถิรธร....รายงาน

กระแสวิพากษ์วิจารณ์ระบบเลือกตั้งแบบใหม่ “แบ่งสรรปันส่วนผสม” ที่ กรธ. ชุด “มีชัย ฤชุพันธุ์” โยนหินถามทางขึ้นมา ยังคงดังอย่างต่อเนื่อง โดยหนักไปทางคัดค้าน แม้จะมีกระแสหนุนบ้างประปรายแต่ก็ไม่เต็มปาก ก่อนที่ กรธ. จะเคาะว่าเอาแน่หรือไม่กับระบบเลือกตั้งแบบใหม่นี้ ลองมาฟังมุมมองของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และผู้มีส่วนร่าง รธน.ฉบับที่ผ่านๆ มา ไม่ว่าจะ รธน. ปี 40 - 50 หรือฉบับนายบวรศักดิ์ ที่เพิ่งตกไปหมาด ๆ กันดูว่า จะเห็นด้วยหรือไม่กับระบบนี้

คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายงานพิเศษ : ระบบเลือกตั้งใหม่ฉบับ “มีชัย” ... “แบ่งสรรปันส่วนผสม”...ดีจริงหรือไม่?

กลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในหมู่นักการเมือง และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง กรณีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ผุดแนวคิดนำระบบเลือกตั้งใหม่มาใช้ เรียกว่า “ระบบแบ่งสรรปันส่วนผสม” โดยให้ประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งในบัตรใบเดียว คือ ในระบบเขตเลือกตั้ง หากผู้สมัคร ส.ส. คนใดชนะ ก็ได้เป็น ส.ส. ทันที ส่วนคะแนนของผู้แพ้ ก็จะนำไปคำนวณเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค ซึ่งต่างจากเดิม ที่ประชาชนต้องเลือกตั้งในบัตร 2 ใบ ใบหนึ่งระบบเขต อีกใบบัญชีรายชื่อ

ทั้งนี้ กรธ. ให้เหตุผลสนับสนุนระบบเลือกตั้งแบบแบ่งสรรปันส่วนผสม ว่า เพื่อให้ทุกคะแนนที่ประชาชนเลือกมีความหมาย ไม่สูญเปล่า ไม่ถูกทิ้งไปเช่นที่ผ่านมา ทั้งยังเป็นระบบเลือกตั้งที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน และส่งเสริมการปรองดองอีกด้วย เพราะคะแนนของแต่ละพรรคจะเฉลี่ยกันไป ไม่ผูกขาดอยู่ที่พรรคหนึ่งพรรคใด พร้อมยืนยันว่า ระบบเลือกตั้งใหม่นี้ คิดขึ้นโดยไม่ได้เข้าข้างพรรคใด หรือต้องการช่วยพรรคใดทั้งสิ้น แต่คิดขึ้นบนพื้นฐานการเคารพเสียงของประชาชน

แต่เสียงคัดค้านระบบเลือกตั้งดังกล่าวดังขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากพรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย โดย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ชี้ว่า การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ประชาชนก็เลือก ส.ส. ได้ทั้ง 2 ระบบ คือ ระบบเขตและบัญชีรายชื่อ การที่ กรธ. จะให้ลงคะแนนในบัตรเลือกตั้งใบเดียว แล้วนำคะแนนในระบบเขตไปเป็นคะแนนในบัญชีรายชื่อ นอกจากจะมั่วเจตนารมณ์ของประชาชนแล้ว ยังเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนที่จะได้เลือกตั้งทั้ง 2 ระบบ จึงน่าสงสัยว่า ระบบเลือกตั้งสูตรนี้ กรธ. ห่วงคะแนนฝ่ายที่แพ้ ส.ส. เขต หรือห่วงพรรคที่ผูกปีแพ้มายาวนาน ให้มีโอกาสชนะ หรือลดความห่างของที่นั่งในสภาฯ สร้างอำนาจต่อรองตอนตั้งรัฐบาล เพื่อเปิดทางให้นายกฯ คนนอกกันแน่

ขณะที่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงระบบเลือกตั้งแบบใหม่ของ กรธ. ว่า อาจจะทำให้ได้ ส.ส. ไม่ตรงต่อเจตนารมณ์ของผู้เลือก เพราะประชาชนมาเลือก ส.ส. เขต ส่วนใหญ่จะมีความใกล้ชิดกับตัวบุคคล ส่วนการเลือกพรรค มักจะเลือกจากนโยบายพรรค ดังนั้น การใช้คะแนนเสียงของ ส.ส. เขตที่แพ้เลือกตั้ง เพื่อมาคัดเลือก ส.ส. บัญชีรายชื่อ มันค่อนข้างจะผิดฝาผิดตัว ไม่ตรงต่อเจตนารมณ์ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่ถ้า กรธ. บอกว่าดี ตนก็ไม่ว่าอะไร ไม่รู้จะค้านอย่างไร เพราะเป็นระบบเลือกตั้งที่ไม่เคยใช้มาก่อน

ส่วนท่าทีของพรรคเล็ก เช่น พรรคคนไทย นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย ก็ไม่เห็นด้วยกับระบบเลือกตั้งแบบแบ่งสรรปันส่วนผสมของ กรธ. ที่จะให้ลงคะแนนเลือก ส.ส. เขตเพียงใบเดียว แล้วนำคะแนนของผู้แพ้แต่ละเขตไปคำนวณจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ เพราะในความเป็นจริง ประชาชนต้องการลงคะแนนให้กับบุคคล แต่กลับถูกนำไปยัดใส่เป็นคะแนนพรรค ซึ่งไม่ตรงกับความตั้งใจของประชาชนในการลงคะแนน

สำหรับมุมมองของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง มองว่า ระบบเลือกตั้งแบบแบ่งสรรปันส่วนผสมของ กรธ. ถ้ามองในเชิงการออกแบบ ถือเป็นหลักการที่ดี เพราะเป็นเป็นความพยายามในการทำให้ทุกคะแนนเสียงของประชาชนมีความหมาย วิธีการสะดวก และไม่ซับซ้อน เพราะกาบัตร ส.ส. ระบบเขตเพียงใบเดียว ช่วยประหยัดงบประมาณค่าบัตรเลือกตั้งได้กว่า 100 ล้านบาท โดยรวมเห็นว่า กรธ. น่าจะมาถูกทาง เพราะเป็นการออกแบบที่อาจจะเหมาะสมกับประเทศไทย แต่ระบบดังกล่าวก็มีจุดอ่อน คือ พรรคการเมืองขนาดเล็กจะเสียเปรียบ เพราะถ้าพรรคเล็กอยากได้คะแนนในส่วนนี้ไปคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ก็ต้องส่งผู้สมัครในระบบเขตเลือกตั้งให้มากที่สุด

ก่อนที่ กรธ. จะเคาะว่าจะเอาระบบเลือกตั้งแบบ “แบ่งสรรปันส่วนผสม” ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ลองมาฟังความเห็นของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ รวมทั้งผู้ที่เคยมีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ ดูว่า จะเห็นด้วยหรือไม่กับระบบเลือกตั้งแบบใหม่ หรือที่หลายคนเรียกว่า ฉบับนายมีชัย

ศ.ดร.สุจิต บุญบงการ ศาสตราจารย์กิตติคุณแห่งสาขารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะอดีตรองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุด นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 2540 มองระบบเลือกตั้งแบบแบ่งสรรปันส่วนผสม ว่า ในแง่หลักการถือว่าดี แต่จะมีปัญหา เพราะทำให้หลักการของ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ซึ่งเน้นเรื่องพรรค หายไป ซึ่งส่วนตัวแล้ว อยากให้ใช้ระบบสัดส่วนผสม (Mixed-Member Proportional : MMP) ที่ตน และ กมธ. ยกร่างฯ ชุดที่แล้วร่างไว้แต่ตกไป โดยประชาชนยังคงเลือกตั้งในบัตร 2 ใบ คือ ระบบเขตเลือกตั้ง 1 ใบ และบัญชีรายชื่อ 1 ใบ แต่เวลานับคะแนน ให้นำเสียงข้างน้อยที่ไม่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาคิดคำนวณจำนวน ส.ส. ด้วย

“คือ หลักการทั่วไปดี หมายความว่า ต้องการให้เสียงทุกเสียงที่ลงคะแนนมีความหมาย เหมือนกับที่สมัยที่ผมยกร่างอยู่เนี่ย ที่เราเอา mmp (ระบบสัดส่วนผสม) มาใช้เนี่ย เพราะต้องการจะให้เสียงทุกเสียงมีความหมาย เพราะฉะนั้นไอเดียของการจะจัดตั้งระบบการเลือกตั้งใหม่เนี่ย ในแง่หลักการดี แต่ทีนี้ในแง่ของการเอามาผสมกัน แบ่งสรรปันส่วนผสมเนี่ย มันมีปัญหาในทัศนะส่วนตัวของผม ก็คือ เอาเสียงข้างน้อยที่ไม่ได้รับเลือกตั้งมาคำนวณเป็นบัญชีรายชื่อ ดังนั้น มันจึงคล้าย ๆ กับว่า คนที่ไม่ได้รับเลือกตั้งเนี่ย คล้าย ๆ ว่า มีน้ำหนักสูงกว่าคนที่ได้รับเลือกตั้ง จริง ๆ แล้วมันมีหลักการหลายระบบที่ต้องการที่จะให้เสียงข้างน้อย - ข้างมาก มีความเท่าเทียมกัน อย่างที่ อ.ปริญญา (เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มธ.) พูดถึง และผมรู้มาก่อนก็คือเรื่องของการจัดการเลือกตั้งที่เป็นแบบสัดส่วน หรือที่เรียกกันว่า Propotional Representation มันจะทำให้เสียงค่อนข้างจะเป็นธรรม ประเทศที่ใช้อยู่ก็เช่น อิสราเอล เป็นต้น แต่ทีนี้เราอาจจะไม่ชินกับมัน ดังนั้นเวลาผมยกร่างฯ เนี่ย ผมก็ยอมรับระบบ mmp”

“ทีนี้พอมาใช้ระบบนี้ (ระบบแบ่งสรรปันส่วนผสม) มันมีปัญหาตรงที่ว่า เวลาเราจะเลือก เราเลือกตัวบุคคลตามเขตอย่างหนึ่ง และเวลาเลือกบัญชีรายชื่อ เราก็อาจจะมีไอเดียอีกอย่างหนึ่ง ส่วนมากเวลาลงคะแนนตามบัญชีรายชื่อ จะคำนึงถึงพรรคใช่มั้ย ถ้าเป็นตัวบุคคล ก็จะคำนึงถึงตัวบุคคลมากกว่าพรรคก็ได้ ทีนี้พอเราเอาเสียงข้างน้อยของเขตที่ไม่ได้รับเลือกตั้งเนี่ย มาคำนวณเป็นสัดส่วนในคะแนนตรงนี้ได้ของบัญชีรายชื่อ มันก็ทำให้หลักการของบัญชีรายชื่อที่เน้นเรื่องพรรค มันก็หายไป เรียกว่าเน้นที่พรรค อาจจะได้คนที่มีความรู้ความสามารถ แต่ไม่มีฐานในเขตเลือกตั้ง ก็สามารถเป็น ส.ส. ได้ หลักอันนี้ก็หายไป และทำให้เสียงข้างน้อยสามารถที่จะได้เสียงทัดเทียมกับเสียงข้างมาก หรือบางทีมีความสำคัญมากกว่าเสียงข้างมาก (ถาม - ถ้า อ.เสนอได้ ก็คือเลือกแบบเดิมน่ะดีแล้ว 2 ใบ?) ใช่ แต่คิดคะแนนก็คือ คิดให้เสียงข้างน้อยที่ไม่ได้รับเลือกตั้งเนี่ยถูกผลักเข้ามาในการคิดคำนวณด้วย แต่ในการคิดคำนวณที่นั่งเนี่ย มันจะต้องมีหลักว่า จริง ๆ แล้วผมอยากจะให้เอาเสียงข้างมากกับเสียงกับเสียงข้างน้อยมารวมกันคิด เพื่อจะให้ได้บัญชีรายชื่อ ซึ่งอันนี้ก็อาจจะทำให้พรรคใหญ่ได้เปรียบ หรือพรรคที่มีเสียงข้างมากได้เปรียบ ซึ่งอันนี้โดยหลักแล้วก็ต้องยอมรับความจริง”


ด้าน ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พูดถึงระบบเลือกตั้งแบบแบ่งสรรปันส่วนผสมของ กรธ. ว่า ดูแล้วน่าสนใจ แต่ในทางรัฐศาสตร์ยังมีข้อกังขาอยู่ว่า ระบบที่เอาคะแนนของคนแพ้ในระบบเขตมานับเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ จะสะท้อนเสียงของประชาชนที่แท้จริงได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวแล้ว คิดว่าเป็นระบบใหม่ที่น่าลองใช้ดู

“ในความเห็นส่วนตัว ก็อยากทดลอง คืออยากจะเห็นระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ ๆ ที่ผมคิดว่าน่าสนับสนุนก็มีอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ เป็นการเลือกตั้งที่ดูง่ายดี ตรงไปตรงมา คือคะแนนมาก ชนะไปเลย ส่วนคะแนนที่แพ้ ก็เอามาวัดเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ ไม่ต้องเลือกตั้ง 2 ใบ ให้ซ้ำซ้อน และอีกอันหนึ่งที่คิดว่าน่าสนใจ คือที่ อ.มีชัย ท่านว่า 1. ลดการผูกขาดอย่างหนึ่ง การทุ่มเทเพื่อที่จะเอาชนะเลือกตั้ง แบบเอาเป็นเอาตาย มันก็ไม่จำเป็นแล้ว เราก็หาเสียงไปตามปกติ แล้วก็วัดดวงกันตอนเลือกตั้ง คะแนนออกมาก็ยังมีความหมาย เอาไปจัดสรรปันส่วนเป็นบัญชีรายชื่อได้ แต่ที่ผมได้ยิน อ่านข่าวที่ท่าน อ.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ท่านให้สัมภาษณ์ว่า ระบบนี้มันตั้งนอมินีก็ได้ ในการลงแข่งก็อาจจะมีพรรค ก. เป็นพรรคหลัก พรรค ข. เป็นพรรค 2 - 3 รองลงไป ซึ่งเมืองไทยทำได้อยู่แล้ว และพร้อมที่จะเป็นอย่างนั้น อย่างที่พรรคไทยรักไทยทำมา พลังประชาชน จนถึงเพื่อไทย เขาก็ใช้ระบบนี้เพื่อที่จะดึงพรรคอื่น ๆ เข้ามาสนับสนุนเป็นรัฐบาลกัน แต่ที่ผมว่ามันจะเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้น น่าสนใจมาก ๆ ก็คือ มันจะสามารถสร้างการมีส่วนร่วมและการตื่นตัวได้จริงหรือไม่ อันนี้ อ.มีชัย ท่านพูดเอาไว้ชัดเจนว่า ผลดีข้อดีของระบบนี้ ก็คือ จะทำให้คนมาเลือกตั้งมากขึ้น ถ้ามันได้จริงนะ โดยไม่ต้องบังคับแบบ รธน.40 ที่บอกว่าให้ไป ต้องไปเลือกตั้ง เลือกตั้งเป็นหน้าที่ ผมว่าถือว่าเป็นประโยชน์มหาศาล เพราะในทางรัฐศาสตร์ถือว่า นั่นล่ะคือเป้าหมายสำคัญของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย คือ ประชาชนต้องสนใจ เอาใจใส่ และมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ผมคิดว่าถ้ามันได้นะ อย่างอื่นผมไม่สนใจเลย ถ้าคนมาเลือกตั้งมาก โดยไม่ต้องซื้อเสียง ไม่ต้องใช้อามิสสินจ้างเนี่ย ผมคิดว่านี่คือสุดยอดของการเลือกตั้งระบบนี้”

ขณะที่ นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในฐานะอดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 2550 และ ส.ส.ร. 2540 กล่าวว่า ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อใช้มาตั้งแต่ปี 2540 เพื่อแบ่งกลุ่มที่สมัคร ส.ส. เป็นอีกกลุ่มหนึ่ง คือ นอกจากมี ส.ส. พื้นที่ ก็ให้มี ส.ส. บัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นคนกลุ่มที่ไม่ใช่นักเลือกตั้ง แต่เป็นผู้ที่มีความสามารถในการสนับสนุนพรรค โดยการลงคะแนน ก็เลือกบัตร 2 ใบ แยก ส.ส. เขต กับ ส.ส. บัญชีรายชื่อ แต่พอมาปี 2550 การเลือกตั้ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ อาจมีปัญหากรณีบัญชีรายชื่อที่ถูกกำหนดไว้ เหมือนกับเป็นการเลือกนายกฯ โดยตรง จึงเปลี่ยนมาเป็นเขต เป็นภาค โดยแบ่งออกเป็นกลุ่ม 6 กลุ่ม ซึ่งเป็นวิวัฒนาการของ ส.ส. เขต และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ตามสภาพปัญหาที่เกิดในเวลานั้น

ส่วนระบบเลือกตั้งใหม่แบบแบ่งสรรปันส่วนผสมของ กรธ. นายเสรี กล่าวว่า การให้เลือกตั้ง ส.ส. เขตในบัตรใบเดียว แล้วนำคะแนนของผู้แพ้มาคำนวณเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อนั้น จะมีปัญหาในแง่ ทำให้ได้ ส.ส. ไม่ตรงกับเจตนาของคนเลือกตั้ง ซึ่งส่วนตัวแล้ว มองว่า ขณะนี้เมืองไทยไม่จำเป็นต้องมี ส.ส. บัญชีรายชื่อก็ได้ แค่ ส.ส. เขตอย่างเดียวก็เพียงพอ โดยควรเป็นแบบเขตใหญ่ เลือกได้คนเดียว

“ในแนวความคิดของผมเองนะ แต่พรรคการเมืองอาจจะไม่ชอบก็ได้ เพราะผมมีแนวความคิดว่า สิ่งที่เราต้องการ เราต้องการอะไรในช่วงที่ผ่านมา สิ่งที่เราต้องการคือ เราต้องการตัวแทนของชาวบ้าน เป็นปากเป็นเสียงชาวบ้าน ต้องการคนที่ดูแลทุกข์สุขชาวบ้าน คนที่เห็นปัญหาชาวบ้าน และเป็นตัวแทน แล้วมาแก้ไขปัญหาในสภา เป็นนโยบายของรัฐบาล หรือเข้ามาบริหารประเทศ ดังนั้น ส.ส. ที่จะเกิดขึ้น ผมมองว่า น่าจะเป็น ส.ส. เขตอย่างเดียวก็พอ และ ส.ส. เขต ควรจะเป็นเขตใหญ่ ซึ่งหากเราต้องการสะท้อนความต้องการของประชาชน ว่า เมื่อลงคะแนนให้ใครแล้ว คนของเขาจะต้องได้รับเลือกเป็นตัวแทนของเขาเนี่ย ใน ส.ส. เขตใหญ่เนี่ย ก็ให้ประชาชนลงคะแนนเลือกได้คนเดียว คนที่ชนะก็ได้รับเลือกตั้งไป คนที่ 2 นาย ก. ได้รับไป คนที่คะแนนรองลงมา นาย ข. ก็ยังได้รับ นาย ข. ก็ยังเป็นตัวแทนของคนอีกกลุ่มหนึ่ง นาย ค. ซึ่งเป็นผู้สมัคร มีคนลงคะแนนให้ ซึ่งอาจจะคะแนนน้อยกว่าคนอื่น ก็ยังเป็นตัวแทนของชาวบ้านในกลุ่มนั้น อย่างนี้มันจะสะท้อนให้เห็นว่า เวลาเลือกตั้ง เราได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนของชาวบ้านจริง ๆ”

“ทีนี้ พอเราเสนอบอกว่า อย่างนั้น ได้ตัวแทนโดยตรงแล้ว มันไม่เห็นมีเหตุผลอะไรเลยจะต้องไปเอาบัญชีรายชื่อมาอีก งั้นก็เห็นควรว่าไม่ต้องมีบัญชีรายชื่อ แต่ตรงนี้ ส.ส.ปัจจุบัน พรรคการเมืองปัจจุบัน อดีต ส.ส. ไม่อยากได้หรอกวิธีนี้ เพราะมันเคยตัวแล้วไง เพราะลงเลือกตั้งในบัญชี ก็เอาบัญชีเนี่ยส่งให้ทั้งประเทศ คนก็ลงคะแนนเลือก ส.ส. ในบัญชี เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องเหนื่อยแล้ว แล้วก็จะได้ ส.ส. ในบัญชีมาอีกส่วนหนึ่ง แต่อย่างที่บอกว่า จะยกเลิกบัญชีพรรค พรรคก็ไม่อยากจะเห็นด้วยเท่าไหร่ แต่ถ้าพูดถึงความจำเป็น ผมดูแล้วมันไม่ค่อยจำเป็นแล้วล่ะ แต่คราวนี้ สิ่งที่ กรธ.เขากำลังคิดว่า คนที่ได้รับเลือกตั้งในเขตนั้น อันนี้ก็คงจะเป็นเขตเดียวคนเดียว พอคนที่ชนะได้รับเลือกตั้งไปแล้ว คนแพ้ก็จริงอยู่ คนแพ้ก็คือคนที่ไม่ได้รับเลือกตั้ง แต่คะแนนเขาจะไปเป็นคะแนนบัญชีพรรคการเมือง ปัญหาก็คือ คนที่แพ้เนื่องจากอะไร เนื่องจากคะแนนเขาน้อยกว่า แต่ชาวบ้านเขาอยากได้นาย ข. อ่ะ นาย ข. กลับไม่ได้รับเลือก แต่บอกคะแนนยังมีผล ก็เลยเอาคะแนนของนาย ข. ไปเป็นคะแนนเสียงในบัญชีรายชื่อ ซึ่งบัญชีรายชื่อจะมีนาย A นาย B นาย C ไป ๆ มา ๆ คนเจตนาจะให้คะแนนนาย ข. แต่คะแนนไปอยู่กับนาย A อย่างนี้มันก็ไม่ตรงกับเจตนาคนเลือกใช่มั้ย ผมว่ามันก็ยังเป็นปัญหาอยู่”


เมื่อถามว่า ถ้า กรธ. เดินหน้าบรรจุระบบเลือกตั้งแบบแบ่งสรรปันส่วนผสมไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คิดว่าจะผ่านประชามติหรือไม่? นายเสรี ตอบทันทีว่า คิดว่าคราวนี้ยังไงก็ผ่าน เพราะนักการเมือง ไม่ว่าท้องถิ่นหรือระดับชาติ พอถึงจุด ๆ หนึ่ง ก็อยากเลือกตั้ง เพราะฉะนั้น หาก กรธ. ของ อ.มีชัย คิดว่าระบบแบ่งสรรปันส่วนผสม ดีที่สุดแล้ว ก็ตัดสินใจทำไป ส่วน ส.ส. ก็ต้องยอมลดบ้าง ไม่ใช่จะเอาแต่ใจตัวเองตลอด ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาปัญหาอยู่ที่ใคร ก็อยู่ที่นักการเมือง ดังนั้น ต้องยอมรับในบางเรื่อง เพื่อให้ประเทศเดินต่อได้!!
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.และอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
 นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ศ.ดร.สุจิต บุญบงการ  อดีตรองประธาน กมธ.ยกร่าง รธน.ชุดนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และอดีต ส.ส.ร.2540
ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล คณบดีคณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สปท.และอดีตรองประธาน ส.ส.ร. 2550 และ ส.ส.ร.2540
กำลังโหลดความคิดเห็น