xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ลือกตั้ง"มีชัยโมเดล" เงื่อนไขคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มีชัย ฤชุพันธุ์
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลังจาก คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ได้มีการพิจารณาลงรายละเอียดรายมาตรา ไปหลายหมวดแล้ว แต่เมื่อมาถึงเกี่ยวกับโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติ ก็เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เพราะที่ประชุมกรธ.ได้สรุปเรื่องระบบการเลือกตั้งว่า ในการเลือกตั้งจะใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว เพื่อเลือกส.ส.เขต และให้เอาคะแนนของผู้สมัครที่ไม่ได้รับเลือกให้เป็นส.ส.ระบบเขตไปคำนวนหาจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค

ยกตัวอย่าง เขตเลือกตั้งหนึ่งมีผู้สมัครส.ส. 5 พรรค หากผู้สมัครของพรรค ก. ได้รับคะแนนสูงสุด ให้ถือว่าผู้นั้นได้เป็นส.ส.ระบบเขตทันที แต่คะแนนของผู้สมัครแต่ละพรรคที่เหลือ อีก 4 พรรคนั้น ให้เอาไปคำนวณเพื่อหาจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคต่อไป ขณะที่คะแนนของพรรคที่ได้รับเลือกให้เป็นส.ส.เขตแล้ว จะถูกตัดทิ้ง ไม่เอามาคำนวณหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคนั้นอีก

นอกจากนี้ กรธ. ยังมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าบุคคลที่จะได้รับการเลือกตั้งให้เป็นส.ส. จะต้องมีคะแนนมากกว่า คะแนนของผู้ที่มาใช้สิทธิ์ไม่ประสงค์ลงคะแนน หรือ โหวตโน โดยที่บุคคลนั้นจะไม่มีสิทธิกลับมาลงสมัครอีก เนื่องจากการแพ้คะแนนโหวตโน ย่อมหมายความว่า ประชาชนได้ปฏิเสธบุคคลนั้นแล้ว
 
หลักคิดของ กรธ. คือ คะแนนเสียงของประชาชนทุกคะแนนมีความหมาย เมื่อไม่ได้เป็นส.ส.เขต ก็ยังนำไปคิดเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อได้ส่วนคนที่ได้เป็นส.ส.เขต ก็ถือว่าได้ใช้คะแนนส่วนนั้นไปแล้ว อีกทั้งเป็นการประหยัด ไม่ทำให้ประชาชสนสับสน เพราะใช้บัตรเลือกตั้งแค่ใบเดียว

แต่ในมุมมองของพรรคการเมือง และนักเลือกตั้ง เห็นว่าการกำหนดกติกาเช่นนี้ พรรคใหญ่ที่เคยครองเสียงอันดับ 1 ของส.ส.เขตจะเสียเปรียบพรรคที่รองลงมา และพรรคขนาดกลาง ขณะเดียวกันพรรคเล็กๆ หรือพรรคที่ตั้งใหม่ก็จะเสียเปรียบเช่นกัน เนื่องจากมีเงินน้อย ก็จะส่งผู้สมัครได้น้อย ไม่ครบทุกภาค ทุกเขต เมื่อเป็นเช่นนี้นอกจากจะสู้ในระดับเขตไม่ได้แล้วยังไม่มีคะแนนที่จะมาสู้ในระบบบัญชีรายชื่ออีก ระบบเลือกตั้งแบบนี้เท่ากับปิดฉากพรรคเล็กไปเลย

แน่นอนว่ากติกาที่ว่านี้ พรรคเพื่อไทย ต้องออกมาโวยก่อนเป็นอันดับแรก โดยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. เห็นว่า เจตนาของ กรธ. ชุดนายมีชัยนี้น่าสงสัย เป็นการให้เหตุผลที่ขัดกับข้อเท็จจริง เพราะโดยหลักการแล้วทุกคะแนนมีความหมายในตัวเอง ฝ่ายชนะได้ทำหน้าที่ ส่วนฝ่ายแพ้ก็เห็นมติของประชาชนแล้ว ทั้งฝ่ายแพ้และชนะ มีสิทธิ์แข่งขันกันทำงานในพื้นที่ แสดงบทบาทเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจอีกครั้ง ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป 
 
จึงน่าสงสัยว่าสูตรนี้ กรธ.ห่วงคะแนนฝ่ายแพ้ ส.ส.เขต หรือห่วงพรรคที่ผูกปีแพ้มายาวนานเพื่อให้มีโอกาสชนะ หรือ ลดความห่างของที่นั่งในสภาฯ สร้างอำนาจต่อรองตอนตั้งรัฐบาล เพื่อเปิดทางให้ นายกฯ คนนอกกันแน่

เพราะการที่พรรคการเมืองมีเสียงก้ำกึ่ง ใกล้เคียงกัน ก็จะมีการต่อรองกันมาก โอกาสตั้งรัฐบาลก็สำเร็จยาก เพราะต่างฝ่ายก็จะให้คนของตัวเองเป็นนายกฯ จึงอาจทำให้ใช้เวลายืดเยื้อในการตั้งรัฐบาล หรืออาจนำไปสู่ทางตัน ซึ่งก็จะไปเข้าทางของคสช. ที่ว่าต้องเปิดช่องให้มีนายกฯ คนกลางได้

ส่วนแนวคิดที่ให้ตัดสิทธิ์ผู้สมัครที่แพ้คะแนนโนโหวตนั้น ก็เป็นวิธีคิดที่หลุดโลก เพราะการลงสมัครเลือกตั้งแล้วได้คะแนนน้อยนั้นไม่ใช่ความผิดของผู้สมัคร ที่จะต้องถูกลงโทษรุนแรงถึงขั้นถูกประหารชีวิตในทางการเมือง ซึ่งไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง

ส่วนความเห็นของในซีกพรรคประชาธิปัตย์กับกติกาดังกล่าว จะออกในทางแบ่งรับแบ่งสู้ อย่างนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า ระบบนี้อาจจะได้ ส.ส.ที่ไม่ตรงต่อเจตนารมณ์ของผู้เลือก เพราะประชาชนมาเลือก ส.ส.เขต ส่วนใหญ่จะมีความใกล้ชิดกับตัวบุคคล การเลือกพรรค ก็มักจะเลือกจากนโยบายพรรค ดังนั้นการที่ใช้คะแนนเสียงของส.ส.เขต ที่แพ้เลือกตั้งเพื่อมาคัดเลือกส.ส.บัญชีรายชื่อ มันก็จะไม่ตรงต่อเจตนารมณ์ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ กรธ. ว่าจะเอาอย่างไรก็ได้ หากกรธ. บอกว่าดี ก็ไมได้ว่าอะไร เปรียบไป เราก็รำไปตามที่

เขาเคาะจังหวะ เขาจะเคาะจังหวะตะลุง เราก็เต้นตะลุง เขาจะเคาะจังหวะรุมบ้า เราก็เต้นรุมบ้า ก็ไม่รู้ว่าจะค้านอย่างไร เพราะเป็นระบบที่ไม่เคยใช้มาก่อน

คราวนี้ลองมาดูข้อมูลที่ กรธ.ได้รับจากสำนักงาน กกต. ที่เสนอตารางเปรียบเทียบการคำนวนจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จากคะแนนแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเมื่อ 6 ก.พ. 48 ที่มี ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน โดยที่มีการตัดคะแนนผู้ที่ได้รับเลือกตั้งออกแล้ว พบว่าจะทำให้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ของพรรคการเมืองที่ได้คะแนนมาเป็นที่1 ในระบบการคิดคำนวนบัญชีรายชื่อแบบเดิมได้ ส.ส. ลดลงเกินครึ่ง

กล่าวคือ ผลคะแนนรวมที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เลือกพรรคเพื่อนำมาคำนวนคะแนนส.ส.บัญชีรายชื่อแบบเดิม 25 พรรค ในปี 2548 มีทั้งสิ้น 31,048,223 คะแนน ขณะที่ผลคะแนนรวมของผู้สมัคร ที่ไม่ได้รับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้งของทั้งประเทศ เมื่อปี 2548 ของ 25 พรรค รวม 11,081,047 คะแนน เมื่อนำมาคำนวนกับจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่พึงมี 100 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน จะต้องมีคะแนนเฉลี่ย 100,810 คะแนน

ขณะที่ผลคะแนนแบ่งเขตที่ไม่รวมผู้ได้รับเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ได้ 4,065,059 คะแนน จะได้ ส.ส. 37 คน เพิ่มขึ้นจากการคิดคำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบเดิม ที่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้กับพรรค ซึ่งประชาธิปัตย์ได้ 7,210,742 คะแนนได้ส.ส. เพียง 26 คน พรรคชาติไทย ได้ 2,326,043 คะแนนได้ส.ส. 21 คน เพิ่มขึ้นจากการคิดคำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อแบบเดิม ที่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้กับพรรค ซึ่งพรรคชาติไทยได้ 2,061,559 คนได้ ส.ส.เพียง 7 คน

ส่วนพรรคไทยรักไทย หรือ พรรคเพื่อไทยปัจจุบันได้ 2,151,634 คะแนน จะได้ ส.ส. 20 คน ซึ่งเป็นพรรคเดียวที่จำนวนส.ส.ที่จะได้ลดลง เมื่อเทียบกับการคิดคำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อแบบเดิม ที่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้กับพรรค ซึ่งพรรคไทยรักไทยได้ 18,993,073 คะแนน ได้ส.ส. 67 คน เท่ากับลดลงถึง 47 คน 

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า พรรคเพื่อไทย ซึ่งในช่วงหลังๆนี้ ครองอันดับ 1 มาโดยตลอด จะต้องไม่ยอมรับกติกานี้อย่างแน่นอน เพราะเห็นชัดว่าผลประโยชน์ไปตกอยู่กับ พรรคประชาสธิปัตย์ ซึ่งเป็นคู่แข่งที่สำคัญ

สำหรับในมุมมองของ อดีตกรรมการการเลือกตั้ง อย่าง นางสดศรี สัตยธรรม เห็นว่า เป็นกติกาที่เปิดโอกาสให้พรรคเล็กพรรคน้อย มีโอกาสเข้าไปมีที่นั่งในสภา ป้องกันพรรคการเมืองใหญ่ที่เคยได้เสียงข้างมากใน สภาดำเนินการได้อย่างสะดวก จึงเชื่อว่าพรรคใหญ่คงไม่ยอมรับแนวคิดนี้แน่ เพราะทำให้เขาจัดตั้งรัฐบาลลำบาก อาจจะกลายเป็นรัฐบาลผสม 10 พรรค การเลือกนายกรัฐมนตรีก็เป็นได้ยาก เราอาจจะเห็นรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอกได้ ถ้าไม่สามารถเลือกนายกฯที่มาจากการเลือกตั้งได้

ยิ่งมีแนวคิดที่ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส. ต้องมีคะแนนมากกว่า โหวตโน ถึงจะได้เป็นส.ส. และถ้าหากแพ้คะแนนเสียง โหวตโน จะไม่มีสิทธิกลับมาลงสมัครอีกนั้น นานาประเทศเขาไม่ทำกัน เพราะจะทำให้เกิดความวุ่นวาย เชื่อว่าบรรดานักการเมืองคงไม่เห็นด้วย 
 
ต้องไม่ลืมว่า บรรดานักการเมือง นักเลือกตั้ง มีความใกล้ชิดกับประชาชน ถ้าออกกฎ กติกา ที่นักการเมืองไม่เอาด้วย ก็จะต้องเกิดการล็อบบี้ให้โหวต คว่ำร่างรัฐธรรมนูญแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น