ประธาน กรธ.เผยคงเจตนารมณ์กระจายอำนาจท้องถิ่น รับไม่ต้องการเขียน รธน.ให้ผูกมัด การแก้ปัญหาใส่ในกฎหมายลูก ป้องกันทุจริตต้องเข้มเหมือนระดับชาติ โกงถูกตัดสิทธิ แจง รับฟังความเห็นเปิดกว้างไม่เจาะเฉพาะประเด็น แย้ม ส.ส.ไม่เกิน 500 คน ยังนึกวิธีป้องกันพรรคนอมินีไม่ออก แต่ต้องคิดถึงบริบทไทย
วันนี้ (3 พ.ย.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการปรับโครงสร้างองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นว่าจะคงเจตนารมณ์ต้องกระจายอำนาจท้องถิ่นอยู่ เพราะประเทศไทยมาไกลเกินกว่าจะไปรวมแล้ว ส่วนเมื่อกระจายอำนาจแล้วมีปัญหาเกิดขึ้นต้องไปพิจารณา แต่ในรัฐธรรมนูญจะไปเขียนไว้ไม่ได้ เพราะสถานการณ์มีความเปลี่ยนแปลงจึงไม่ต้องการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อให้ผูกมัดไว้ ดังนั้น รายละเอียดจะไปเขียนไว้ในกฎหมายลูก เช่น ปัญหาการกระจายอำนาจที่เมื่อกระจายเรื่องใดไปก็ไปทีเดียวหมดทุกท้องถิ่น ทั้งที่มีท้องถิ่นที่พร้อมและไม่พร้อม หรือความพร้อมที่ไม่เท่ากัน ทำให้เรื่องคาราคาซัง ดังนั้นหากทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำพื้นที่ที่พร้อม จะทำให้เดินหน้าไปเรื่อย ไม่ติดขัด
ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้ สปช.และสนช.เสนอให้ควบรวม อบต.ที่ไม่มีความพร้อม นายมีชัยกล่าวว่า ตนไม่รู้เรื่องข้อเสนอนั้น แต่ในการเขียนรัฐธรรมนูญจะไม่ระบุว่ามีอะไรไว้บ้าง แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ส่วน สปท.จะคิดไปแก้กฎหมายนั้น พ้นวิสัยที่จะรู้ โดยปัญหาทุจริตในท้องถิ่นจะมีกลไกป้องกัน โดยต้องเข้มขึ้นเหมือนกับระดับชาติ ตอนนี้กฤษฎีกากำลังแก้กฎหมายของท้องถิ่นอยู่ ซึ่งต้องใช้มาตรฐานใกล้เคียงกันระดับชาติที่คนทุจริตต้องถูกตัดสิทธิ
เมื่อถามว่าความเห็นของบางพรรคการเมืองมีเนื้อหาที่แย้งต่อระบบเลือกตั้งที่ กรธ.กำลังพิจารณา นายมีชัยกล่าวว่า ต้องรับฟังและพิจารณาว่ามีความเห็นอะไรที่มันเป็นจุดที่คิดต่อก็จะนำมาคิดต่อ หรือหากเขาไม่เข้าใจก็อธิบายให้เข้าใจ ส่วน ครม.และ คสช.ยังไม่ได้ส่งความเห็นมา ทั้งนี้การรับฟังคามเห็นเปิดกว้างเท่ากันหมด จะไม่ถามเฉพาะประเด็น เพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจไขว้เขวได้ว่าเรื่องอื่นเสนอไม่ได้
นายมีชัยกล่าวว่า ในส่วนของประเด็นระบบบริหารคาดว่าอีก 2 สัปดาห์จะเข้าที่ประชุม กรธ. โดยล่าสุดการพิจารณาเรื่องที่มา ส.ส.จบแล้ว โดยหลักการ ส.ส.ต้องมาจากการเลือกตั้ง จำนวน ส.ส. คงมีไม่เกิน 500 คน เหตุที่ใช้หลัก 500 คนนั้นเพราะเป็นหลักที่คุ้นกันมาแล้ว ส่วนจะแบ่ง ส.ส.เขตเท่าใด ส.ส.บัญชีรายชื่อเท่าใดนั้นกำลังพิจารณา ส่วนเกณฑ์คุมพรรคการเมืองนอมินียังนึกไม่ออกว่าจะตั้งอย่างไร จะแตกต่างจากเดิมๆ ที่ตั้งไว้หรือไม่ ก็กำลังฟังๆ อยู่ แม้ที่ผ่านมาบางพื้นที่พรรคใหญ่ก็เอาพรรคอื่น หรือใครก็ได้มาลงเพื่อเอาคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่าคนจะอยากให้เขาได้รับเลือกตั้ง เพราะเมื่อแบ่งไปแบ่งมาคนอื่นก็อาจเอาไปกินได้ กรณีเว้นแต่สามารถเอาประชาชนเข้าแถวแล้วตัดตอนเสียงเพราะพอแล้วเท่านั้น ประเด็นนี้หากจับไม่ได้ ก็ต้องยกให้เขาไป
“การตรวจสอบนอมินีต้องคิดล่วงหน้าว่าจะทำกันอย่างไร เพราะเราไม่สามารถเอารูปแบบสากลที่ไหนมาได้ เพราะสากลไม่มี ดังนั้นเวลาคิดต้องคิดถึงบริบทไทยเสมอว่าเกิดอะไร ต้องแก้ปัญหาได้อย่างไร ไม่เช่นนั้นก็ไม่ได้ปฏิรูปอะไร ส่วนการกำหนดให้แข่งขันการเลือกตั้งที่เป็นธรรมระหว่างพรรคการเมืองจะไปเขียนไว้ในกฎหมายลูก เพราะรัฐธรรมนูญจะไปเขียนไม่ได้ เนื่องจากสามารถพลิกแพลงไปเรื่อย” ประธาน กรธ.ระบุ