xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” รับพัฒนาการศึกษาไม่ได้มาก แต่ต้องดีกว่าเก่า 2 พ.ย.เริ่มลดเวลาเรียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ประยุทธ์” เผย ติดปัญหาพัฒนาการศึกษาไม่ได้มาก สั่ง ศธ. ต้องทำให้ดีกว่าที่ผ่านมา ปลัดศธ. รับสั่งเรื่องได้ทำได้ทำก่อน ลดเวลาเรียนเริ่ม 2 พ.ย. เน้นกิจกรรมเสริมสร้างสมอง สมาร์ทเทรนเนอร์ประเมินผลต่อเนื่อง เล็งเพิ่มข้อสอบอัตนัยมากขึ้น สำรวจความต้องการด้านแรงงาน แจง รมว.ศธ. กำชับต้องไร้โกง ชี้ผลงานเด็กชี้วัดครู “ประจิน - สมคิด” เข้านั่งรอง ปธ. ตามตำแหน่ง

วันนี้ (30 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา พร้อมกล่าวก่อนการประชุม โดยยอมรับว่า ยังไม่สามารถเดินหน้างานพัฒนาการศึกษาได้มากนัก เพราะติดปัญหาและอุปสรรค ซึ่งส่วนตัวมีความเข้าใจดี แต่งานด้านการศึกษา โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเป็นสิ่งจำเป็น ที่กระทรวงศึกษาธิการต้องเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะการบ้านที่มอบให้ ซึ่งต้องทำให้ปี 2558 - 2559 ดีกว่าปีที่ผ่านมาให้ได้

ภายหลังการประชุม รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แถลงว่า ที่ประชุมมีการหารือในเรื่องการแข่งขันด้านการศึกษา โดยนำหลายประเทศที่มีระดับดีกว่าประเทศไทยมาเปรียบเทียบ เพื่อเป็นตัวขับเคลื่อน โดยจะต้องเน้นการสื่อสารภาษาอังกฤษ การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม คณิตศาสตร์ ซึ่งต้องพัฒนาทั้งระบบตั้งแต่ประถมศึกษาเป็นต้นไป ทั้งนี้ ยอมรับว่า ระดับการศึกษาประเทศไทย ไม่เป็นที่น่าพอใจมากนัก โดยนายกรัฐมนตรี เน้นย้ำให้เร่งพัฒนาเพื่อส่งต่อให้รัฐบาลต่อไป และระบุว่า เรื่องใดทำได้ก็ทำไปก่อน สำหรับกรณีการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลาเรียนรู้ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 2 พฤศจิกายน โดยมี 4,100 โรงเรียนในช่วงเริ่มต้น จะเน้นกิจกรรมเสริมสร้างสมอง (Head) ทักษะ (Hand) คุณธรรมจริยธรรม (Hart) รวมทั้งสุขภาพ (Health) ซึ่งสาระความรู้ไม่ได้ด้อยไปจากเดิม แต่นักเรียนจะมีความสุขมากขึ้น มีเวลาคิด วิเคราะห์ ฝึกทักษะ รู้จักการถกแถลง การเขียนเรียงความมากขึ้น โดยมีกระทรวงอื่น ๆ เช่น กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ภาคเอกชน เข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน ทั้งนี้ หลังจากเริ่มปรับลดเวลาเรียน ก็จะมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีการกำกับตรวจสอบตั้งแต่ 2 สัปดาห์แรก หลังการดำเนินโครงการ โดยมีทีมที่เรียกว่าสมาร์ทเทรนเนอร์ ประมาณ 300 ทีมลงไปในพื้นที่เพื่อติดตามประเมินผล ซึ่งในปีการศึกษาใหม่ทุกโรงเรียนในประเทศไทยก็จะดำเนินการเช่นเดียวกันทั้งหมด

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นว่าด้านการศึกษาต้องมีการปรับปรุงหลายเรื่อง เช่นหน่วยงานในการประเมินสถานศึกษา คือ สำนักรับรองมาตรฐาน และคุณภาพการศึกษา (สมศ.) โดยจะมีการปฏิรูปการทดสอบนักเรียนนักศึกษา เพิ่มข้อสอบอัตนัยมากขึ้น นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจความต้องการด้านแรงงาน เพื่อที่จะได้พัฒนาแรงงานตรงกับความต้องการของตลาด โดยกระทรวงศึกษาธิการ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และภาคเอกชน จะมีการหารือเรื่องดังกล่าวต่อไป ส่วนตลาดแรงงานอาชีวศึกษานั้นนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กรมฝีมือแรงงานศึกษาดูว่า ผู้ที่มีฝีมือแรงงานจะได้รับค่าแรงเพิ่มขึ้นหรือไม่

“ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ ได้ปรับภาพลักษณ์ เรื่องของบุคลากรอย่างชัดเจน โดย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ ได้ให้นโยบายชัดเจน ว่า ต้องพัฒนาคนต้องไม่มีปัญหาการทุจริต คอร์รัปชัน ซึ่งการก้าวสู่วิทยฐานะต่าง ๆ ของครูก็กำลังมีการปรับปรุง และผลงานของครูต้องขึ้นอยู่กับผลงานของเด็กซึ่งจะเป็นตัวชี้วัด ถ้าเด็กมีคุณภาพดี ครูถึงจะได้ดี” ปลัดกระทรวงศึกษาฯ กล่าว

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า สืบเนื่องจากการปรับคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ดำรงตำแหน่งรองประธานฯ เป็น พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แทน นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งแต่งตั้งใหม่ สำหรับความก้าวหน้าในเรื่องของการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาอาชีวะที่มีการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน จะมีการจัดการเรียนเพื่อปรับปรุงเฉพาะด้าน ตามความต้องการของภาคเอกชนเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ ใน 7 สาขา ได้แก่ 1. พาณิชย์นาวี 2. การขนส่งระบบราง 3. ปิโตรเคมี 4. การผลิตไฟฟ้า 5. การท่องเที่ยว 6. เทคโนโลยีอาหารปลอดภัย 7. อุตสาหกรรมแม่พิมพ์

“สำหรับการพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค ซึ่งคณะกรรมการมีความเห็นว่า ประเทศในอาเซียนต้องการมีการฝึกบุคลากรที่ขาดแคลนอีกหลายสาขา และประเทศไทยมีศักยภาพที่จะถ่ายทอดความรู้ อาทิ กำลังคนด้านการบริหาร ด้านบัญชี ด้านวิศวกร ตัวอย่างเช่นประเทศสิงคโปร์ที่นำเอาบุคลากรจากต่างประเทศเข้ามาทำหน้าที่ครู จึงทำให้มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ซึ่งเราก็ต้องเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาพัฒนาบุคลากรในประเทศด้วยเช่นกัน ในส่วนของการสร้างคนให้ตรงกับความต้องการนั้น ขณะนี้ประเทศไทยเก็บรวบรวมข้อมูลและจำนวนคนยังไม่ชัดเจน ในที่ประชุมจึงขอให้ไปรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมแรงงาน สำนักงานสถิติแห่งชาติและภาคเอกชนต่างๆ เพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการเห็นภาพและใช้จัดการวางแผนเพื่อเตรียมกำลังคนต่อไป” นายปรเมธี กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น