(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
No more Jurassic Park for Chinese SOEs?
By Asia Unhedged
14/09/2015
สื่อทางการจีนเพิ่งเผยแพร่เอกสารคำชี้แนะฉบับหนึ่งที่ออกร่วมกันโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐบาลจีน ระบุถึงวิธีการต่างๆ ที่จะนำมาใช้เพื่อปรับโครงสร้างยกเครื่องบรรดารัฐวิสาหกิจอย่างขนานใหญ่
ปักกิ่งเพิ่งเปิดเผยเอกสารคำชี้แนะฉบับหนึ่งเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งแจกแจงถึงวิธีการที่วาดหวังว่าจะสามารถนำมาใช้ปรับโครงสร้างยกเครื่องประดารัฐวิสาหกิจ (state-owned enterprises ใช้อักษรย่อว่า SOEs) อันใหญ่โตมโหฬารของตน วิธีการเหล่านี้มีอาทิ การแปรรูปกิจการยักษ์ใหญ่เหล่านี้ให้เป็นของเอกชนไปบางส่วน เพื่อช่วยกระตุ้นอัตราเติบโตของประเทศในยามที่เศรษฐกิจจีนกำลังอยู่ในภาวะชะลอตัวดังเช่นเวลานี้
เอกสารคำชี้แนะฉบับนี้ ซึ่งออกร่วมกันโดยคณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และคณะรัฐมนตรีของสาธารณรัฐประชาชนจีน ยังครอบคลุมถึงแผนการต่างๆ ในการชำระสะสางและการควบรวมรัฐวิสาหกิจบางแห่งเข้าด้วยกัน ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวซินหวา ของทางการจีน (ดูรายละเอียดรายงานข่าวนี้ได้ที่ http://news.xinhuanet.com/english/2015-09/13/c_134620039.htm) [1]
รัฐวิสาหกิจทั้งหลายสามารถรับใช้ประเทศจีนได้อย่างน่าชมเชยมาเป็นเวลาหลายสิบปี ในฐานะที่เป็นเสมือนคมมีดเจาะทะลุทะลวงให้แก่เศรษฐกิจของชาติที่ช่วงดังกล่าวชี้นำโดยการส่งออก คุณงามความดีของกิจการเหล่านี้ มีความละม้ายคล้ายคลึงกับความสำเร็จที่พวก “แชโบล” (chaebol) ทำให้แก่เกาหลีใต้ในยุคของประธานาธิบดี ปัก จุงฮี (Park Chung-hee) ถึงแม้มีความแตกต่างฉกรรจ์ๆ ตรงที่ว่า รัฐวิสาหกิจแดนมังกรนั้นมีขนาดใหญ่โตมหึมากว่า แชโบล มาก ขณะที่ แชโบล ในเกาหลีใต้ ไม่ได้เป็นกิจการของรัฐ หากแต่เป็นธุรกิจแบบครอบครัว (ซึ่งได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐ –ผู้แปล) อย่างไรก็ตาม เวลานี้ทั้งจีนและชาติเอเชียอื่นๆ ต่างกำลังเติบโตก้าวเลยล้ำไปจากประดาร่องรอยแห่งเศรษฐกิจยุคควบคุมสั่งการของพวกเขาเหล่านี้แล้ว ยิ่งกว่านั้น พวกรัฐวิสาหกิจที่มีผลประกอบการย่ำแย่ในประเทศจีน ยังกำลังเป็นตัวเพิ่มความหนักหน่วงสาหัสให้แก่ภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจของชาติในปัจจุบันนี้ด้วยซ้ำ
ไม่เพียงเท่านั้น พวกกิจการภาคเอกชนและผู้ประกอบการทั้งหลายในจีน ต่างกำลังกู่ก้องประสานเสียงเรียกร้องรัฐบาลให้ยุติการใช้นโยบายต่างๆ ซึ่งส่งเสริมสนับสนุนให้พวกรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการอุปถัมภ์อุ้มชูจากรัฐบาลตลอดมา สามารถกระโจนพรวดเลยหน้าภาคเอกชนได้ “แทบทุกอย่างที่รัฐบาลทำ ก็เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนรัฐวิสาหกิจพวกนี้แหละ” ผู้บริหารของแบงก์แผ่นดินใหญ่รายหนึ่ง คร่ำครวญกับ เอเชียอันเฮดจ์ ในงานดินเนอร์คราวหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้
ซินหวาระบุว่า เจ้าหน้าที่จีนกำลังให้ความสนใจกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไปสู่ “รูปแบบกรรมสิทธิ์แบบผสม” (mixed ownership) ด้วยการนำภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนอย่างชนิดเป็นกอบเป็นกำ โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2020 เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมหมายความว่ายังมีเวลาอีกหลายปีกว่าจะถึงเส้นตาย ขณะที่ซินหวาบอกว่า รัฐบาลจะไม่บังคับให้ยักษ์ใหญ่เหล่านี้ต้องยอมรับ “รูปแบบกรรมสิทธิ์แบบผสม” นี้อย่างไม่เต็มใจ รวมทั้งพวกนักวางแผนภาครัฐก็ยังไม่ได้มีการกำหนดจัดทำตารางเวลาอันชัดเจน แต่เลือกที่จะคอยเปิดไฟเขียวเมื่อเงื่อนไขต่างๆ ดูพรักพร้อมเหมาะสมแล้วมากกว่า
จากตัวเลขข้อมูลล่าสุดเท่าที่มีการเปิดเผยออกมา รัฐบาลจีนเป็นผู้ดำเนินการรัฐวิสาหกิจส่วนกลาง หรือที่เรียกกันว่า บริษัทส่วนกลางที่อยู่ภายใต้คณะกรรมการกำกับตรวจสอบและบริหารทรัพย์สินของรัฐ (State-owned Assets Supervision and Administration Commission ใช้อักษรย่อว่า SASAC) จำนวนทั้งสิ้น 111 แห่ง ขณะที่พวกรัฐบาลท้องถิ่นต่างๆ เป็นเจ้าของและบริหารรัฐวิสาหกิจอยู่ประมาณ 25,000 แห่ง โดยที่ภาคเศรษฐกิจนี้โดยรวมว่าจ้างพนักงานร่วมๆ 7.5 ล้านคน
ดูเหมือนว่ารัฐบาลจีนมีความหวั่นเกรงว่า หากดำเนินการปฏิรูปยกเครื่องกันอย่างขนานใหญ่ ย่อมหนีไม่พ้นต้องมีการปลดพนักงานเป็นจำนวนมาก และติดตามมาด้วยความไร้เสถียรภาพทางสังคม ดังนั้นจึงยั้งๆ ไว้ไม่เดินหน้าไปถึงขนาดนั้น
ในความเห็นของ เอเชียอันเฮดจ์ นั้น การลงมือทำแบบไม่สุดเช่นนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องดีอะไรเลย แต่ถ้าเราตัดใจและลองหันไปมองสิ่งที่ก่อให้เกิดกำลังใจกันบ้างแล้ว รายงานของสำนักข่าวซินหวาระบุว่า รัฐวิสาหกิจทั้งหลายจะได้รับอนุญาตให้นำเอา “นักลงทุนต่างๆ หลายหลาก” เข้ามา เพื่อช่วยให้การถือครองหุ้นของรัฐวิสาหกิจเหล่านี้มีการกระจายตัวกว้างขวางออกไป ขณะเดียวกัน ก็จะมีรัฐวิสาหกิจมากแห่งยิ่งขึ้น ซึ่งจะถูกผลักดันให้ดำเนินการปรับโครงสร้าง เพื่อเป็นการเตรียมตัวสำหรับการเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์
พวกนักลงทุนเอกชนจะได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้สามารถซื้อหุ้นในรัฐวิสาหกิจ, ซื้อพันธบัตรแปลงสภาพ (convertible bond) ที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจ, หรือทำการแลกหุ้นกับรัฐวิสาหกิจ โดยที่ในกระบวนการปฏิรูปยกเครื่องเช่นนี้ จะมีการวางแผนกำหนดมาตรการต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นด้วย
ทั้งนี้ มีการระบุออกมาแล้วว่า รัฐวิสาหกิจที่อยู่ในภาคน้ำมันและแก๊ส, ไฟฟ้า, รถไฟ, และการสื่อสาร คือพวกที่น่าจะสุกงอมสำหรับต้อนรับการลงทุนระดับจำกัดจากพวกนักลงทุนนอกภาครัฐแล้ว
แผนการนี้อาจจะฟังดูดีเยี่ยมบนแผ่นกระดาษ อย่างไรก็ดี เอเชียอันเฮดจ์ คิดว่า ปักกิ่งจำเป็นที่จะต้องเร่งฝีก้าวให้เร็วยิ่งขึ้น ในช่วงจังหวะเวลาที่เศรษฐกิจกำลังหิวกระหายมาตรการที่สามารถเป็นตัวกระตุ้นได้อย่างแท้จริง อีกทั้งประเทศจีนยังกำลังเปลี่ยนแปลงโยกย้ายจากการเจริญเติบโตโดยอาศัยการส่งออกเป็นตัวชี้นำ มาเป็นการเจริญเติบโตโดยอาศัยอุปสงค์ภายในประเทศ
นอกจากนั้นยังมีอุปสรรคอันใหญ่โตขวางกั้นอยู่ข้างหน้า นั่นก็คือ รัฐบาลส่วนกลางยังจำเป็นต้องเกลี้ยกล่อมโน้มน้าวพวกที่คอยปกป้องผลประโยชน์เดิมๆ ของตนเองอย่างเหนียวแน่น ทั้งในรัฐบาลระดับท้องถิ่น, รัฐบาลระดับมณฑล, และรัฐบาลระดับชาติ ให้ยินยอมสละการควบคุมที่มีเหนือรัฐวิสาหกิจทั้งหลายกันบ้าง ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลแดนมังกรยังจะต้องหาทางดึงดูดล่อใจพวกนักลงทุนให้เข้ามาซื้อหุ้น หลังจากเกิดการดำดิ่งตกฮวบในตลาดหุ้นจีนระลอกเลวร้ายที่สุดระลอกหนึ่ง
เอเชียอันเฮดจ์ ขออวยพรให้พวกเจ้าหน้าที่ซึ่งรับผิดชอบกระทำภารกิจนี้ประสบความโชคดี ทั้งนี้ เราคงไม่จำเป็นต้องพูดซ้ำพูดซากถึงวลีซึ่งถูกกล่าวอ้างอิงกันบ่อยๆ ว่าด้วยการก้าวเดินไปบนเส้นทางแห่งการสูญพันธุ์ของพวกไดโนเสาร์เต่าล้านปีกระมัง?
(จากคอลัมน์ Asia Unhedged ในเอเชียไทมส์)
หมายเหตุผู้แปล
[1] ในรายงานข่าวชิ้นนี้ของสำนักข่าวซินหวา ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจ มีขอเก็บความนำมาเสนอเพิ่มเติมไว้ในที่นี้:
จีนออกคำชี้แนะเพื่อปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ
ปักกิ่ง, 13 ก.ย.(ซินหวา) – เจ้าหน้าที่รับผิดชอบระดับส่วนกลางของจีน เมื่อวันอาทิตย์ได้ออกคำชี้แนะฉบับหนึ่ง เพื่อดำเนินการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจอย่างลงลึกมากยิ่งขึ้น นับเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดของรัฐบาลซึ่งมุ่งปลุกให้รัฐวิสาหกิจที่เฉื่อยเนือยทั้งหลายบังเกิดความกระปรี้กระเปร่า
คำชี้แนะฉบับนี้ ซึ่งออกโดยคณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และคณะรัฐมนตรีจีน ระบุว่าจีนจะทำการปรับปรุงรัฐวิสาหกิจต่างๆ ให้ทันสมัย, เพิ่มทวีการบริหารจัดการทรัพย์สินของภาครัฐ, ส่งเสริมรูปแบบกรรมสิทธิ์แบบผสม และป้องกันไม่ให้ทรัพย์สินของรัฐถูกกัดกร่อนเสียหาย
ทั้งนี้รัฐบาลจะปรับปรุงยกระดับความสามารถของบรรดารัฐวิสาหกิจ และเปลี่ยนให้กิจการเหล่านี้กลายเป็นกิจการแบบผูกพันกับตลาดที่มีความเป็นอิสระอย่างเต็มที่
รัฐบาลมีแผนการที่จะบรรลุการปฏิรูปใหญ่ๆ ในด้านหลักๆ ให้ได้ภายในปี 2020 โดยที่คาดหมายว่าเมื่อถึงเวลานั้น รัฐวิสาหกิจทั้งหลายจะมีความแข็งแกร่งมากขึ้นและมีอิทธิพลเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีความสามารถเพิ่มขึ้นมากในการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆ
“รัฐบาลควรที่จะบ่มเพาะรัฐวิสาหกิจกลุ่มหนึ่งซึ่งมีความริเริ่มสร้างสรรค์ และสามารถเผชิญกับคู่แข่งระดับระหว่างประเทศได้ เมื่อไปถึงเวลานั้น” คำชี้แนะฉบับนี้ระบุ
ตามที่บอกไว้เอกสารคำชี้แนะฉบับนี้ รัฐวิสาหกิจของจีนจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ กิจการเพื่อหากำไร กับกิจการเพื่อสวัสดิภาพของประชาชน
รัฐวิสาหกิจประเภทแรกนั้นจะอิงกับตลาดและยึดมั่นอยู่กับการดำเนินงานเชิงพาณิชย์ โดยควรมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มพูนทรัพย์สินของรัฐและกระตุ้นส่งเสริมเศรษฐกิจ ขณะที่รัฐวิสาหกิจประเภทหลังมีขึ้นมาเพื่อปรับปรุงยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และจัดหาจัดทำสินค้าและบริการสาธารณะต่างๆ
ในแง่ของการปฏิรูปทางด้านรูปแบบกรรมสิทธิ์แบบผสม รัฐบาลควรที่จะนำเอานักลงทุนประเภทต่างๆ หลายหลากเข้ามา เพื่อให้รัฐวิสาหกิจสามารถบรรลุการมีรูปแบบกรรมสิทธิ์แบบผสม และส่งเสริมกิจการเหล่านี้ให้จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ด้วย คำชี้แนะฉบับนี้แจกแจง
การปฏิรูปด้านรูปแบบกรมสิทธิ์แบบผสมนี้ ไม่ได้มีการกำหนดตารางเวลาอย่างเฉพาะเจาะจง แต่คำชี้แนะบอกว่า รัฐบาลควรที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้ดำเนินไปอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป
กิจการที่อยู่นอกภาครัฐ จะได้รับการสนับสนุนให้เข้าร่วมกระบวนการนี้โดยผ่านช่องทางต่างๆ หลายหลาก เป็นต้นว่า การเข้าซื้อหุ้นและพันธบัตรแปลงสภาพจากรัฐวิสาหกิจ หรือดำเนินการแลกเปลี่ยนสิทธิในหุ้นกับรัฐวิสาหกิจ ขณะที่รัฐวิสาหกิจต่างๆ ยังจะได้รับอนุญาตให้ทำการทดลองขายหุ้นให้แก่ลูกจ้างพนักงานของพวกตน
คณะกรรมการบริหารของรัฐวิสาหกิจจะมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ เพิ่มขึ้นกว่าเดิมมาก ขณะที่พวกผู้จัดการจะถูกกำกับตรวจสอบอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น และตามคำชี้แนะฉบับใหม่นี้ จะห้ามไม่ให้หน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลเข้าไปแทรกแซงการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ
คำชี้แนะระบุว่า จะมีการจัดตั้งระบบเงินเดือนค่าตอบแทนที่ยืดหยุ่นและอิงอยู่กับตลาดขึ้นมา เงินเดือนค่าตอบแทนของพนักงานลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจจะสอดคล้องกับระดับที่มีอยู่ในตลาด และตัดสินโดยผลประกอบการของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ นอกจากนั้น รัฐวิสาหกิจยังสามารถว่าจ้างผู้จัดการที่มีความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น
ในอีกด้านหนึ่ง คำชี้แนะบอกว่า จีนจะปรับปรุงยกระดับการกำกับตรวจสอบเรื่องทรัพย์สินของรัฐ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าทรัพย์สินเหล่านั้นมีความมั่นคงปลอดภัย ตลอดจนได้รับผลตอบแทนเงินทุนที่เพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้การกำกับตรวจสอบจะเพิ่มทวีขึ้นทั้งจากภายในและจากภายนอกรัฐวิสาหกิจ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการใช้อำนาจโดยมิชอบ และเกิดการกัดกร่อนเสียหายของทรัพย์สินของรัฐ รวมทั้งจะมีการจัดตั้งกลไกสำหรับไล่เลียงหาผู้รับผิด เพื่อใช้ในการติดตามตรวจสอบการละเมิดต่างๆ เป็นต้นว่า การทุจริตประพฤติมิชอบ และการยักยอกฉ้อฉลต่างๆ
No more Jurassic Park for Chinese SOEs?
By Asia Unhedged
14/09/2015
สื่อทางการจีนเพิ่งเผยแพร่เอกสารคำชี้แนะฉบับหนึ่งที่ออกร่วมกันโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐบาลจีน ระบุถึงวิธีการต่างๆ ที่จะนำมาใช้เพื่อปรับโครงสร้างยกเครื่องบรรดารัฐวิสาหกิจอย่างขนานใหญ่
ปักกิ่งเพิ่งเปิดเผยเอกสารคำชี้แนะฉบับหนึ่งเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งแจกแจงถึงวิธีการที่วาดหวังว่าจะสามารถนำมาใช้ปรับโครงสร้างยกเครื่องประดารัฐวิสาหกิจ (state-owned enterprises ใช้อักษรย่อว่า SOEs) อันใหญ่โตมโหฬารของตน วิธีการเหล่านี้มีอาทิ การแปรรูปกิจการยักษ์ใหญ่เหล่านี้ให้เป็นของเอกชนไปบางส่วน เพื่อช่วยกระตุ้นอัตราเติบโตของประเทศในยามที่เศรษฐกิจจีนกำลังอยู่ในภาวะชะลอตัวดังเช่นเวลานี้
เอกสารคำชี้แนะฉบับนี้ ซึ่งออกร่วมกันโดยคณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และคณะรัฐมนตรีของสาธารณรัฐประชาชนจีน ยังครอบคลุมถึงแผนการต่างๆ ในการชำระสะสางและการควบรวมรัฐวิสาหกิจบางแห่งเข้าด้วยกัน ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวซินหวา ของทางการจีน (ดูรายละเอียดรายงานข่าวนี้ได้ที่ http://news.xinhuanet.com/english/2015-09/13/c_134620039.htm) [1]
รัฐวิสาหกิจทั้งหลายสามารถรับใช้ประเทศจีนได้อย่างน่าชมเชยมาเป็นเวลาหลายสิบปี ในฐานะที่เป็นเสมือนคมมีดเจาะทะลุทะลวงให้แก่เศรษฐกิจของชาติที่ช่วงดังกล่าวชี้นำโดยการส่งออก คุณงามความดีของกิจการเหล่านี้ มีความละม้ายคล้ายคลึงกับความสำเร็จที่พวก “แชโบล” (chaebol) ทำให้แก่เกาหลีใต้ในยุคของประธานาธิบดี ปัก จุงฮี (Park Chung-hee) ถึงแม้มีความแตกต่างฉกรรจ์ๆ ตรงที่ว่า รัฐวิสาหกิจแดนมังกรนั้นมีขนาดใหญ่โตมหึมากว่า แชโบล มาก ขณะที่ แชโบล ในเกาหลีใต้ ไม่ได้เป็นกิจการของรัฐ หากแต่เป็นธุรกิจแบบครอบครัว (ซึ่งได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐ –ผู้แปล) อย่างไรก็ตาม เวลานี้ทั้งจีนและชาติเอเชียอื่นๆ ต่างกำลังเติบโตก้าวเลยล้ำไปจากประดาร่องรอยแห่งเศรษฐกิจยุคควบคุมสั่งการของพวกเขาเหล่านี้แล้ว ยิ่งกว่านั้น พวกรัฐวิสาหกิจที่มีผลประกอบการย่ำแย่ในประเทศจีน ยังกำลังเป็นตัวเพิ่มความหนักหน่วงสาหัสให้แก่ภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจของชาติในปัจจุบันนี้ด้วยซ้ำ
ไม่เพียงเท่านั้น พวกกิจการภาคเอกชนและผู้ประกอบการทั้งหลายในจีน ต่างกำลังกู่ก้องประสานเสียงเรียกร้องรัฐบาลให้ยุติการใช้นโยบายต่างๆ ซึ่งส่งเสริมสนับสนุนให้พวกรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการอุปถัมภ์อุ้มชูจากรัฐบาลตลอดมา สามารถกระโจนพรวดเลยหน้าภาคเอกชนได้ “แทบทุกอย่างที่รัฐบาลทำ ก็เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนรัฐวิสาหกิจพวกนี้แหละ” ผู้บริหารของแบงก์แผ่นดินใหญ่รายหนึ่ง คร่ำครวญกับ เอเชียอันเฮดจ์ ในงานดินเนอร์คราวหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้
ซินหวาระบุว่า เจ้าหน้าที่จีนกำลังให้ความสนใจกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไปสู่ “รูปแบบกรรมสิทธิ์แบบผสม” (mixed ownership) ด้วยการนำภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนอย่างชนิดเป็นกอบเป็นกำ โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2020 เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมหมายความว่ายังมีเวลาอีกหลายปีกว่าจะถึงเส้นตาย ขณะที่ซินหวาบอกว่า รัฐบาลจะไม่บังคับให้ยักษ์ใหญ่เหล่านี้ต้องยอมรับ “รูปแบบกรรมสิทธิ์แบบผสม” นี้อย่างไม่เต็มใจ รวมทั้งพวกนักวางแผนภาครัฐก็ยังไม่ได้มีการกำหนดจัดทำตารางเวลาอันชัดเจน แต่เลือกที่จะคอยเปิดไฟเขียวเมื่อเงื่อนไขต่างๆ ดูพรักพร้อมเหมาะสมแล้วมากกว่า
จากตัวเลขข้อมูลล่าสุดเท่าที่มีการเปิดเผยออกมา รัฐบาลจีนเป็นผู้ดำเนินการรัฐวิสาหกิจส่วนกลาง หรือที่เรียกกันว่า บริษัทส่วนกลางที่อยู่ภายใต้คณะกรรมการกำกับตรวจสอบและบริหารทรัพย์สินของรัฐ (State-owned Assets Supervision and Administration Commission ใช้อักษรย่อว่า SASAC) จำนวนทั้งสิ้น 111 แห่ง ขณะที่พวกรัฐบาลท้องถิ่นต่างๆ เป็นเจ้าของและบริหารรัฐวิสาหกิจอยู่ประมาณ 25,000 แห่ง โดยที่ภาคเศรษฐกิจนี้โดยรวมว่าจ้างพนักงานร่วมๆ 7.5 ล้านคน
ดูเหมือนว่ารัฐบาลจีนมีความหวั่นเกรงว่า หากดำเนินการปฏิรูปยกเครื่องกันอย่างขนานใหญ่ ย่อมหนีไม่พ้นต้องมีการปลดพนักงานเป็นจำนวนมาก และติดตามมาด้วยความไร้เสถียรภาพทางสังคม ดังนั้นจึงยั้งๆ ไว้ไม่เดินหน้าไปถึงขนาดนั้น
ในความเห็นของ เอเชียอันเฮดจ์ นั้น การลงมือทำแบบไม่สุดเช่นนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องดีอะไรเลย แต่ถ้าเราตัดใจและลองหันไปมองสิ่งที่ก่อให้เกิดกำลังใจกันบ้างแล้ว รายงานของสำนักข่าวซินหวาระบุว่า รัฐวิสาหกิจทั้งหลายจะได้รับอนุญาตให้นำเอา “นักลงทุนต่างๆ หลายหลาก” เข้ามา เพื่อช่วยให้การถือครองหุ้นของรัฐวิสาหกิจเหล่านี้มีการกระจายตัวกว้างขวางออกไป ขณะเดียวกัน ก็จะมีรัฐวิสาหกิจมากแห่งยิ่งขึ้น ซึ่งจะถูกผลักดันให้ดำเนินการปรับโครงสร้าง เพื่อเป็นการเตรียมตัวสำหรับการเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์
พวกนักลงทุนเอกชนจะได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้สามารถซื้อหุ้นในรัฐวิสาหกิจ, ซื้อพันธบัตรแปลงสภาพ (convertible bond) ที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจ, หรือทำการแลกหุ้นกับรัฐวิสาหกิจ โดยที่ในกระบวนการปฏิรูปยกเครื่องเช่นนี้ จะมีการวางแผนกำหนดมาตรการต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นด้วย
ทั้งนี้ มีการระบุออกมาแล้วว่า รัฐวิสาหกิจที่อยู่ในภาคน้ำมันและแก๊ส, ไฟฟ้า, รถไฟ, และการสื่อสาร คือพวกที่น่าจะสุกงอมสำหรับต้อนรับการลงทุนระดับจำกัดจากพวกนักลงทุนนอกภาครัฐแล้ว
แผนการนี้อาจจะฟังดูดีเยี่ยมบนแผ่นกระดาษ อย่างไรก็ดี เอเชียอันเฮดจ์ คิดว่า ปักกิ่งจำเป็นที่จะต้องเร่งฝีก้าวให้เร็วยิ่งขึ้น ในช่วงจังหวะเวลาที่เศรษฐกิจกำลังหิวกระหายมาตรการที่สามารถเป็นตัวกระตุ้นได้อย่างแท้จริง อีกทั้งประเทศจีนยังกำลังเปลี่ยนแปลงโยกย้ายจากการเจริญเติบโตโดยอาศัยการส่งออกเป็นตัวชี้นำ มาเป็นการเจริญเติบโตโดยอาศัยอุปสงค์ภายในประเทศ
นอกจากนั้นยังมีอุปสรรคอันใหญ่โตขวางกั้นอยู่ข้างหน้า นั่นก็คือ รัฐบาลส่วนกลางยังจำเป็นต้องเกลี้ยกล่อมโน้มน้าวพวกที่คอยปกป้องผลประโยชน์เดิมๆ ของตนเองอย่างเหนียวแน่น ทั้งในรัฐบาลระดับท้องถิ่น, รัฐบาลระดับมณฑล, และรัฐบาลระดับชาติ ให้ยินยอมสละการควบคุมที่มีเหนือรัฐวิสาหกิจทั้งหลายกันบ้าง ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลแดนมังกรยังจะต้องหาทางดึงดูดล่อใจพวกนักลงทุนให้เข้ามาซื้อหุ้น หลังจากเกิดการดำดิ่งตกฮวบในตลาดหุ้นจีนระลอกเลวร้ายที่สุดระลอกหนึ่ง
เอเชียอันเฮดจ์ ขออวยพรให้พวกเจ้าหน้าที่ซึ่งรับผิดชอบกระทำภารกิจนี้ประสบความโชคดี ทั้งนี้ เราคงไม่จำเป็นต้องพูดซ้ำพูดซากถึงวลีซึ่งถูกกล่าวอ้างอิงกันบ่อยๆ ว่าด้วยการก้าวเดินไปบนเส้นทางแห่งการสูญพันธุ์ของพวกไดโนเสาร์เต่าล้านปีกระมัง?
(จากคอลัมน์ Asia Unhedged ในเอเชียไทมส์)
หมายเหตุผู้แปล
[1] ในรายงานข่าวชิ้นนี้ของสำนักข่าวซินหวา ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจ มีขอเก็บความนำมาเสนอเพิ่มเติมไว้ในที่นี้:
จีนออกคำชี้แนะเพื่อปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ
ปักกิ่ง, 13 ก.ย.(ซินหวา) – เจ้าหน้าที่รับผิดชอบระดับส่วนกลางของจีน เมื่อวันอาทิตย์ได้ออกคำชี้แนะฉบับหนึ่ง เพื่อดำเนินการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจอย่างลงลึกมากยิ่งขึ้น นับเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดของรัฐบาลซึ่งมุ่งปลุกให้รัฐวิสาหกิจที่เฉื่อยเนือยทั้งหลายบังเกิดความกระปรี้กระเปร่า
คำชี้แนะฉบับนี้ ซึ่งออกโดยคณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และคณะรัฐมนตรีจีน ระบุว่าจีนจะทำการปรับปรุงรัฐวิสาหกิจต่างๆ ให้ทันสมัย, เพิ่มทวีการบริหารจัดการทรัพย์สินของภาครัฐ, ส่งเสริมรูปแบบกรรมสิทธิ์แบบผสม และป้องกันไม่ให้ทรัพย์สินของรัฐถูกกัดกร่อนเสียหาย
ทั้งนี้รัฐบาลจะปรับปรุงยกระดับความสามารถของบรรดารัฐวิสาหกิจ และเปลี่ยนให้กิจการเหล่านี้กลายเป็นกิจการแบบผูกพันกับตลาดที่มีความเป็นอิสระอย่างเต็มที่
รัฐบาลมีแผนการที่จะบรรลุการปฏิรูปใหญ่ๆ ในด้านหลักๆ ให้ได้ภายในปี 2020 โดยที่คาดหมายว่าเมื่อถึงเวลานั้น รัฐวิสาหกิจทั้งหลายจะมีความแข็งแกร่งมากขึ้นและมีอิทธิพลเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีความสามารถเพิ่มขึ้นมากในการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆ
“รัฐบาลควรที่จะบ่มเพาะรัฐวิสาหกิจกลุ่มหนึ่งซึ่งมีความริเริ่มสร้างสรรค์ และสามารถเผชิญกับคู่แข่งระดับระหว่างประเทศได้ เมื่อไปถึงเวลานั้น” คำชี้แนะฉบับนี้ระบุ
ตามที่บอกไว้เอกสารคำชี้แนะฉบับนี้ รัฐวิสาหกิจของจีนจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ กิจการเพื่อหากำไร กับกิจการเพื่อสวัสดิภาพของประชาชน
รัฐวิสาหกิจประเภทแรกนั้นจะอิงกับตลาดและยึดมั่นอยู่กับการดำเนินงานเชิงพาณิชย์ โดยควรมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มพูนทรัพย์สินของรัฐและกระตุ้นส่งเสริมเศรษฐกิจ ขณะที่รัฐวิสาหกิจประเภทหลังมีขึ้นมาเพื่อปรับปรุงยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และจัดหาจัดทำสินค้าและบริการสาธารณะต่างๆ
ในแง่ของการปฏิรูปทางด้านรูปแบบกรรมสิทธิ์แบบผสม รัฐบาลควรที่จะนำเอานักลงทุนประเภทต่างๆ หลายหลากเข้ามา เพื่อให้รัฐวิสาหกิจสามารถบรรลุการมีรูปแบบกรรมสิทธิ์แบบผสม และส่งเสริมกิจการเหล่านี้ให้จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ด้วย คำชี้แนะฉบับนี้แจกแจง
การปฏิรูปด้านรูปแบบกรมสิทธิ์แบบผสมนี้ ไม่ได้มีการกำหนดตารางเวลาอย่างเฉพาะเจาะจง แต่คำชี้แนะบอกว่า รัฐบาลควรที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้ดำเนินไปอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป
กิจการที่อยู่นอกภาครัฐ จะได้รับการสนับสนุนให้เข้าร่วมกระบวนการนี้โดยผ่านช่องทางต่างๆ หลายหลาก เป็นต้นว่า การเข้าซื้อหุ้นและพันธบัตรแปลงสภาพจากรัฐวิสาหกิจ หรือดำเนินการแลกเปลี่ยนสิทธิในหุ้นกับรัฐวิสาหกิจ ขณะที่รัฐวิสาหกิจต่างๆ ยังจะได้รับอนุญาตให้ทำการทดลองขายหุ้นให้แก่ลูกจ้างพนักงานของพวกตน
คณะกรรมการบริหารของรัฐวิสาหกิจจะมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ เพิ่มขึ้นกว่าเดิมมาก ขณะที่พวกผู้จัดการจะถูกกำกับตรวจสอบอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น และตามคำชี้แนะฉบับใหม่นี้ จะห้ามไม่ให้หน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลเข้าไปแทรกแซงการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ
คำชี้แนะระบุว่า จะมีการจัดตั้งระบบเงินเดือนค่าตอบแทนที่ยืดหยุ่นและอิงอยู่กับตลาดขึ้นมา เงินเดือนค่าตอบแทนของพนักงานลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจจะสอดคล้องกับระดับที่มีอยู่ในตลาด และตัดสินโดยผลประกอบการของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ นอกจากนั้น รัฐวิสาหกิจยังสามารถว่าจ้างผู้จัดการที่มีความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น
ในอีกด้านหนึ่ง คำชี้แนะบอกว่า จีนจะปรับปรุงยกระดับการกำกับตรวจสอบเรื่องทรัพย์สินของรัฐ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าทรัพย์สินเหล่านั้นมีความมั่นคงปลอดภัย ตลอดจนได้รับผลตอบแทนเงินทุนที่เพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้การกำกับตรวจสอบจะเพิ่มทวีขึ้นทั้งจากภายในและจากภายนอกรัฐวิสาหกิจ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการใช้อำนาจโดยมิชอบ และเกิดการกัดกร่อนเสียหายของทรัพย์สินของรัฐ รวมทั้งจะมีการจัดตั้งกลไกสำหรับไล่เลียงหาผู้รับผิด เพื่อใช้ในการติดตามตรวจสอบการละเมิดต่างๆ เป็นต้นว่า การทุจริตประพฤติมิชอบ และการยักยอกฉ้อฉลต่างๆ