xs
xsm
sm
md
lg

3พันร.ร.ร่วม”ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (22 ก.ย.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ศธ.ได้รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแนวทางการบริหารจัดการเวลาเรียนตามโครงการ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ซึ่งยืนยันว่า ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่จะปรับปรุงเนื้อหาบางส่วนที่ไม่จำเป็นออกและจัดโครงสร้างเวลาเรียนใหม่ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ซึ่งการปรับโครงสร้างเวลาเรียนนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเรียนในกลุ่มวิชาหลักอย่างแน่นอน และต้องไม่กระทบกับตัวบ่งชี้ที่ใช้ในการออกข้อสอบทั้งของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ที่จัดสอบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และม.6 และการสอบประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือเอ็นที ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
สำหรับโครงสร้างเวลาเรียนระดับประถมศึกษา ปัจจุบันกำหนดให้ไม่น้อยกว่า1,000 ชั่วโมงต่อปี แต่เรียนจริงในห้องเรียน 1,200-1,400 ชั่วโมงต่อปีหรือ 30-35ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ปรับโครงสร้างใหม่ต้องไม่เกิน 1,000 ชั่วโมงต่อปีเรียนในห้องเรียน 22 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วน 8-13 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ที่เหลือใช้จัดกิจกรรมพัฒฯทักษะผู้เรียน และระดับมัธยมศึกษา ปัจจุบันกำหนดไม่น้อยกว่า 1,200 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เรียนจริง 1,400 ชั่วโมงต่อปีหรือ 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่โครงสร้างใหม่ ต้องไม่เกิน 1,200 ชั่วโมงต่อปีเรียนในห้อง 27 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วน 8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ให้จัดกิจกรรรมพัฒนาทักษะผู้เรียน
พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนรูปแบบกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ จะแบ่งออกเป็น 3 หมวดหลัก ได้แก่ หมวดที่ 1.สร้างเสริมสมรรถนะการเรียนรู้ 2.สร้างเสริมคุณลักษณะและค่านิยม และ 3.สร้างเสริมทักษะการทำงาน การดำรงชีพ และทักษะชีวิต ขณะที่แต่ละหมวดจะมีกิจกรรมที่สอดคล้องรวมทั้งสิ้น 13 กลุ่มกิจกรรม อาทิ กิจกรรมพัฒนาการสื่อสาร การคิด การใช้เทคโนโลยี การปลูกฝังรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ การมีจิตสาธารณะ การตอบสนองความถนัดของผู้เรียนแต่ละบุคคล ฝึกทักษะอาชีพ และเพิ่มทักษะการใช้ชีวิตในสังคม เป็นต้น
โดยขณะนี้มีโรงเรียนส่งรายชื่อเข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 2,948 โรงเรียน แบ่งเป็น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 32 เขตจาก 42 เขต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) 137 เขตจาก 183 เขต ยังเหลืออีก56 เขตที่ยังไม่ส่งข้อมูล ซึ่งเชื่อว่าจะมีโรงเรียนโครงการตามเป้าหมายแน่นอน ดังนั้น จากนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะไปดำเนินการให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจัดเวิร์คช็อปการดำเนินงานใน เรื่องนี้อย่างจริงจัง พร้อมตั้งทีมสมาร์ทเทรนเนอร์กว่า 300 ทีมเพื่อช่วยมาเป็นพี่เลี้ยงให้แก่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโดย 1 ทีมรับผิดชอบ 10 โรงเรียน ขณะเดียวกัน จะจัดอบรมครูให้ทราบถึงรูปแบบวิธีการจัดการเรียนรู้ด้วย และจะเริ่มดำเนินการทันทีในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558และกำหนดให้มีการวัดและประเมินผลการดำเนินการระหว่างภาคเรียน 2 ครั้งและหลังปิดภาคเรียน 1 ครั้ง เพื่อให้นำข้อดีข้อเสียมาพิจารณาในการปรับปรุงและขยายผลต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ ส่วนรูปแบบการประเมินผลขณะนี้ได้มอบให้ สพฐ.ไปดำเนินการคิดและนำมาเสนอ และอาจให้หน่วยงานกลางที่เป็นหน่วยงานจากภายนอกเข้ามาช่วยเป็นผู้ประเมินให้ โดยจะกำชับเป็นพิเศษว่าการประเมินต้องสะท้อนถึงผลสัมฤทธิ์ของเด็กอย่างแท้จริงและต้องไม่เพิ่มภาระให้แก่ครูด้วย
“รูปแบบกิจกรรมทั้งหมดจะมีเมนูย่อยลงไปอีก และอาจจะมีเพิ่มจากหน่วยงานอื่น ๆ และการอบรมครูที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยโดยการจัดกิจกรรมทั้งต่าง ๆ จะต้องตอบโจทย์ทำให้ผู้เรียนต้องมีทักษะ 3 ด้านคือ รู้จักใช้สมองคือ ความคิด มีหัวใจ คือจริยธรรมและทัศนคติที่ถูกที่ควร และมีมือ คือฝึกให้มีทักษะ ซึ่งแนวทางนี้สอดคล้องกับแนวพระราชดำริ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เน้นในเด็กต้องเรียนรู้ใน 4 ด้าน พุทธิศึกษา จริยศึกษา หัตถศึกษา และพลศึกษา เชื่อว่าหากเด็กมีทั้งหมดนี้จะทำให้การจัดการศึกษามีความสมบูรณ์ โดยในวันที่ 28 กันยายนนี้ผมจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเข้ามาร่วมจัดกิจกรรม อาทิ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม โอลิมปิก กลุ่มศิลปิน เป็นต้น”พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น