xs
xsm
sm
md
lg

การศึกษาแนวพุทธ : การพัฒนากายกับใจควบคู่กัน

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

คำว่า สิกขาในภาษาบาลีหรือคำว่า ศึกษาในภาษาสันสกฤตมีความหมายว่าให้รู้ ซึ่งมีอยู่ 3 ประการตามแนวทางแห่งคำสอนในพุทธศาสนาคือ

1. สีลสิกขา คือศึกษาหรือให้เรียนรู้เกี่ยวกับศีลเพื่อพัฒนากาย และวาจาเพื่อพัฒนากายกับวาจาให้มีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะป้องกันกิเลสอย่างหยาบ อันได้แก่ กายทุจริต และวจีทุจริตไหลเข้าสู่จิตใจโดยทางกายและวาจา

2. สมาธิ คือการพัฒนาใจ โดยการปฏิบัติสมถกัมมัฏฐาน และวิปัสสนากรรมฐานเพื่อให้ใจมีความเข้มแข็งพอที่จะต่อสู้กับกิเลสอย่างกลางที่ผ่านเข้ามาทางอายตนะ 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รวมถึงกิเลสที่เกิดขึ้นจากใจเองด้วย

3. ปัญญา คือความรู้ ความเข้าใจในสรรพสิ่งบรรดามีหรือที่เรียกว่า สังขารตามความเป็นจริงคือมีอย่างไร เป็นอย่างไร รู้อย่างนั้น หรือที่เรียกว่า ยถาภูตัง ยถาทัสสนัง

โดยสรุปการศึกษา 3 ประเภทนี้คือการพัฒนากายควบคู่ไปกับจิตใจ จึงจะทำให้ความเป็นคนมีความสมบูรณ์ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ โดยให้ร่างกายมีความแข็งแรงปราศจากโรคภัย และในขณะเดียวกัน จิตใจมีคุณธรรม ในทางกลับกัน ถ้าร่างกายอ่อนแอและถูกโรคภัยเบียดเบียน การที่จะทำให้จิตใจแข็งแรงเพื่อให้บรรลุคุณธรรมเป็นไปได้ยาก ดังจะเห็นได้ในการบำเพ็ญทุกรกิริยาของเจ้าชายสิทธัตถะ โดยการทรมานตนเองให้ได้รับความลำบากตามแนวทางของการแสวงหาโมกขธรรม แต่สุดท้ายแล้วเจ้าชายสิทธัตถะได้เลิกการบำเพ็ญทุกรกิริยาตามแนวทางนี้ จึงได้บรรลุธรรมขั้นสูงสุดคือโลกุตตรธรรม และได้ปฏิเสธการแสวงหาโมกขธรรมด้วยการทรมานตนว่ามิใช่ทางแห่งการตรัสรู้ ดังที่ปรากฏในธัมมจักกัปปวัตนสูตรที่ว่า “เทฺวเม ภิกฺขเว นเสวิตพฺพา กามสุขลฺลิกานุโยโค อัตตกิลมถานุโยค” ซึ่งแปลโดยใจความว่า ภิกษุไม่พึงเสพหรือไม่พึงปฏิบัติในแนวทางคือ การหมกมุ่นอยู่ในกาม และการทำเองให้ลำบาก

จากคำสอนดังกล่าวข้างต้น สอนให้ชาวพุทธ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักบวชผู้มุ่งแสวงหาความหลุดพ้นจากกิเลส ควรงดเว้นการแสวงหาด้วยสองแนวทางนี้ และสอนให้แสวงหาความหลุดพ้นด้วยการปฏิบัติตามมรรค 8 หรือแนวทางซึ่งประกอบด้วยองค์ 8 หรือที่เรียกว่า ทางสายกลางคือไม่ตึงเกินไปอันได้แก่ อัตตกิลมถานุโยค และไม่หย่อนเกินไปอันได้แก่ กามสุขัลลิกานุโยค

ถึงแม้ว่า พระพุทธศาสนาได้สอนให้มีการพัฒนาทางกายและใจควบคู่กันไปเป็นเวลา 2,500 กว่าปีมาแล้ว และคนไทยได้รับคำสอนของพระพุทธองค์มาแล้วเป็นเวลา 1,700 กว่าปี ทั้งนี้อนุมานจากประวัติการทำสังคายนาในสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งเมืองเชียงใหม่ เมื่อครั้งที่ยังเป็นเมืองอิสระในปี พ.ศ. 845

แต่การศึกษาของไทยในปัจจุบัน มิได้เป็นไปตามแนวทางแห่งคำสอนของพุทธศาสนาเท่าที่ควรจะเป็น ทั้งๆ ที่คำสอนของพุทธศาสนาสามารถนำมาประยุกต์เข้ากับวิชาสมัยใหม่ได้ในหลายสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองการปกครอง และประชากรส่วนใหญ่ของประเทศนับถือพระพุทธศาสนา

แต่ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. การศึกษาของไทยในปัจจุบัน ยึดรูปแบบของประเทศตะวันตกซึ่งมีพื้นฐานมาจากปรัชญาวัตถุนิยม และบริโภคนิยม ทั้งนี้จะเห็นได้จากการมุ่งเน้นการผลิตและการขายเพื่อหารายได้หรือผลตอบแทนทางด้านการเงินเป็นหลัก และในขณะเดียวกัน ใช้เป็นฐานในการประเมินความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ อันเป็นเหตุให้เกือบทุกครัวเรือนในระดับรากหญ้า หรือแม้กระทั่งในระดับกลางมีหนี้สินกันถ้วนหน้า ซึ่งไม่สอดคล้องกับคำสอนของพุทธศาสนาที่ว่า การเป็นหนี้เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม และไม่สอดคล้องกับคำสอนเกี่ยวกับการใช้ทรัพย์ที่ให้แบ่งทรัพย์ที่หามาได้เป็น 4 ส่วนหรือที่เรียกว่า โภควิภาค 4 คือ

1. เอเกน โภเค ภุญเชยฺย คือ 1 ส่วนหรือเท่ากับ 25% ใช้เลี้ยงตน เลี้ยงคนที่ควรบำรุงและทำประโยชน์

2-3 ทฺวีห กมฺมํ ปโยชเย คือ 2 ส่วนหรือเท่ากับ 50% ใช้ลงทุนประกอบการงาน

4. จตุตฺถญฺจ นิธาเปยฺย คือ 1 ส่วนหรือ 25% สุดท้ายเก็บไว้ใช้ในคราวจำเป็น

นอกจากมุ่งเน้นการแสวงหาวัตถุแล้ว การศึกษาในปัจจุบันยังไม่ให้ความสำคัญหรือให้ความสำคัญแก่การพัฒนาทางด้านจิตใจน้อย จึงทำให้การปลูกฝังคุณธรรมด้อยลงไป จะเห็นได้จากชั่วโมงเรียนและคะแนนที่ให้ในวิชาศีลธรรม เมื่อเทียบกับวิชาที่มุ่งเน้นด้านวัตถุนิยม และบริโภคนิยม จึงเป็นเหตุให้คนโลภ และเห็นแก่ตัว

2. บทบาทของภิกษุสงฆ์ต่อการศึกษาในปัจจุบันลดน้อยลง เมื่อเทียบกับอดีต ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

2.1 ในอดีตก่อนที่การศึกษาในรูปแบบตะวันตกเข้ามา การศึกษาของไทยอยู่กับวัดโดยมีพระสงฆ์เป็นผู้สอน เด็กจึงมีความใกล้ชิดกับศาสนาได้รับการพัฒนาทางด้านจิตใจไปพร้อมๆ กับการเรียนวิชาแขนงอื่นๆ

2.2 แต่เมื่อการศึกษาจากประเทศตะวันตกได้เข้ามา วิชาการแขนงต่างๆ มีมากขึ้น พระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้สอนมาแต่เดิมไม่มีความรู้ในวิชาการเหล่านี้ ทั้งในวิชาบางสาขาไม่เหมาะแก่เพศและภาวะของนักบวชที่ไปเรียน และนำมาสอนประกอบกับสตรีได้เริ่มเข้าสู่ระบบการศึกษาในโรงเรียนเพื่อเรียนวิชาต่างๆ นอกเหนือจากที่เคยเรียนอยู่กับบ้าน จึงเป็นอุปสรรคที่พระสงฆ์จะมาเป็นผู้สอนโรงเรียนนอกวัดจึงได้เกิดขึ้น และทำให้พระสงฆ์มีบทบาทต่อการศึกษาลดลง หรือพูดได้ว่าหมดไปจะเหลืออยู่บ้างก็แค่การสอนในโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ซึ่งบางวัดได้จัดตั้งขึ้นแต่ก็ไม่เพียงพอที่จะเป็นช่องทางให้ผู้คนในสังคมเข้าถึงคำสอนของพุทธศาสนา

2.3 การเรียนการสอนของภิกษุสงฆ์ในปัจจุบัน ทั้งในหลักสูตรของนักธรรม และบาลีหรือเปรียญธรรมไม่สอดคล้องกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ จึงทำให้มีผู้มาเรียนน้อย ทั้งจบไปแล้วก็ไปสอนคนรุ่นใหม่ได้ยากด้วย

ดังนั้น ในโอกาสที่ประเทศไทยปฏิรูปการศึกษาในยุคของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และมีพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เป็น รมว.กระทรวงศึกษาธิการซึ่งมีนโยบายปรับปรุงคุณภาพการศึกษา ควรจะได้นำคำสอนของพุทธศาสนามาประยุกต์กับวิชาการสมัยใหม่ในบางสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ทั้งนี้เพื่อสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการจะได้ความรู้ และแนวทางการพัฒนาทางด้านจิตใจ โดยการปลูกฝังคุณธรรมควบคู่ไปกับความรู้แขนงต่างๆ อันเป็นการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีความรู้ และมีคุณธรรมกำกับการได้ความรู้ควบคู่กันไป
กำลังโหลดความคิดเห็น