xs
xsm
sm
md
lg

ทำธุรกิจในประเทศไทย ยากหรือง่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


Doing Business เป็นรายงานผลการศึกษาเพื่อจัดอันดับความยาก-ง่ายในการเข้าไปประกอบธุรกิจในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งธนาคารโลกจัดทำขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2004

สำหรับในประเทศไทย ธนาคารโลกเริ่มเข้ามาสำรวจในปี ค.ศ. 2005 ปัจจุบัน มีจำนวนประเทศที่ธนาคารโลกดำเนินการสำรวจทั้งสิ้น 189 ประเทศ โดยรายงานดังกล่าวเป็นการศึกษาเกี่ยวกับขั้นตอนและระยะเวลาการให้บริการ การอำนวยความสะดวก ต้นทุนค่าใช้จ่าย และกฎหมาย กฎ ระเบียบต่าง ๆ ของรัฐว่ามีส่วนสนับสนุน หรือเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจอย่างไร โดยมุ่งเน้นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งมีตัวชี้วัดในการศึกษา 10 ด้าน ครอบคลุมพื้นฐานของวงจรธุรกิจตั้งแต่การเริ่มต้นจัดตั้งธุรกิจนถึงการปิดกิจการ ได้แก่

การเริ่มต้นธุรกิจ การขออนุญาตก่อสร้าง การขอใช้ไฟฟ้า การจดทะเบียนทรัพย์สิน การได้รับสินเชื่อ การคุ้มครองผู้ลงทุน การชำระภาษี การค้าระหว่างประเทศ การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง และ การแก้ปัญหาการล้มละลาย

โดยมีเกณฑ์การพิจารณา 4 เรื่องหลัก ได้แก่ ขั้นตอนในการดำเนินการที่ง่าย (Easier) ระยะเวลาในการดำเนินการที่รวดเร็ว (Faster) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่ต่ำ (Cheaper) และกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เอื้อต่อการดำเนินการ (Smarter Regulations)

รายงานความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business 2016) ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 49 ที่มีความสะดวกในการประกอบธุรกิจทั่วโลก และติดอันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน เมื่อเปรียบเทียบกับลำดับที่ 46 ในปี 2015 ซึ่งได้นำระเบียบวิธีใหม่มาปรับปรุงลำดับเพื่อการเปรียบเทียบที่สมบูรณ์ขึ้น

สำหรับอันดับ 1 คือ สิงคโปร์ ซึ่งเป็นที่ 1 ของโลกติดต่อกัน 10 ปี ส่วนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ที่ติด 20 อันดับแรกได้แก่ นิวซีแลนด์ (2) เกาหลีใต้ (4) เขตปกครองพิเศษฮ่องกง (5) ไต้หวัน (11) ออสเตรเลีย (13) และมาเลเซีย (18)

ประเทศจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกได้รับการจัดอันดับมากเป็นอันดับ 2 ในกลุ่ม 20 ประเทศแรกในด้านความสะดวกในการประกอบธุรกิจ รองจากภูมิภาคยุโรป

นอกจากนี้ ประเทศในภูมิภาคดังกล่าวยังได้มีการปฏิรูปเพื่อช่วยปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจที่เอื้อต่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในช่วงปีที่ผ่านมาร้อยละ 52 ของ 25 ประเทศในภูมิภาคนี้ได้มีการปฏิรูป 27 รายการเพื่อให้การประกอบธุรกิจง่ายขึ้น

ในกลุ่มประเทศที่ได้ทำการปฏิรูปกฎระเบียบนั้นพบว่า เวียดนาม (5) เขตปกครองพิเศษฮ่องกง (4) อินโดนีเซีย (3) เป็นผู้นำการปฏิรูปในภูมิภาคนี้ อาทิ อินโดนีเซียได้มีการนำระบบการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมมาใช้และอำนวยความสะดวกในการชำระภาษีผ่านระบบออนไลน์ ในเวียดนาม ผู้กู้สามารถตรวจสอบข้อมูลสินเชื่อของตัวเองได้ และได้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อขยายฐานข้อมูลของผู้กู้ให้ครอบคลุมมากขึ้น

ปัจจุบัน ธุรกิจขนาดเล็กในเวียดนามที่มีประวัติทางการเงินดีมีโอกาสที่จะได้รับการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินสามารถประเมินความน่าเชื่อถือทางการเงินได้อย่างเหมาะสม

การจัดตั้งธุรกิจเป็นหัวข้อที่มีการปฏิรูปมากที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา เมียนมาร์ได้มีการปรับปรุงเรื่องการจัดตั้งธุรกิจครั้งใหญ่ระดับโลก โดยการลดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำของบริษัทในประเทศ และปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินงานจัดตั้งธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งหมดนี้ได้ช่วยให้วิสาหกิจขนาดเล็กประหยัดเวลาและทรัพยากรอันมีค่า

บรูไนเดรุซาลามก็ได้มีการปฏิรูปขั้นตอนการจัดตั้งนิติบุคคลด้วยเช่นกัน ทำให้การใช้เวลาในการจัดตั้งธุรกิจลดลงเหลือเพียง 14 วันจากเดิมที่ต้องใช้เวลา 104 วันเมื่อปีที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากการปรับปรุงการดำเนินงานระบบออนไลน์ การทำให้ขั้นตอนการลงทะเบียนและกระบวนการหลังการจดทะเบียนง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะได้มีการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อก้าวไปสู่แนวปฏิบัติที่ดีเลิศแล้วก็ตาม หากแต่ยังคงมีความท้าทายในเรื่องการแก้ไขปัญหาล้มละลาย การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง และการจดทะเบียนทรัพย์สิน ตัวอย่างเรื่องการจดทะเบียนทรัพย์สิน ผู้ประกอบการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกใช้เวลาเฉลี่ย 74 วันในการถ่ายโอนทรัพย์สินเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของโลกที่ใช้เวลา 48 วัน



กำลังโหลดความคิดเห็น