xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ถก กรธ.แนะให้อำนาจเลื่อนเลือกตั้งได้ ใช้เครื่องโหวต คงสิทธิ์ฟันผู้สมัคร ผุดศาล ลต.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คณะกรรมการการเลือกตั้ง แจง กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 5 ประเด็น แนะให้มีอำนาจเลื่อนเลือกตั้ง, สั่งการข้าราชการช่วงโหวต และดำเนินการวินัยกับพวกไม่เป็นกลางได้ ชงนับคะแนนที่หน่วย ใช้เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ทำป้ายหาเสียงให้ มีบทบัญญัติให้พรรคมีมาตรฐาน ขอคงใบเหลือง - แดง - ส้ม ก่อนประกาศผล มีสิทธิ์ถอนชื่อผู้สมัครโกง มีอำนาจเหมือนพนักงานสอบ มีศาลเลือกตั้ง ให้วาระ 7 ปีเฉพาะรายคน กก.สรรหา ไม่มีตัวแทนการเมือง ด้าน กรธ. เล็งเชิญ ครม., สนช., หอการค้า คุย



วันนี้ (15 ต.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยมี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานในที่ประชุม ซึ่งเป็นการรับฟังความเห็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อประกอบเป็นข้อมูลในการยกร่างรัฐธรรมนูญ

โดย นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ข้อเสนอของ กกต. ต่อ กรธ. ในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง มี 5 ประการ คือ 1. การทำให้การเลือกตั้งสัมฤทธิ์ผล คือ ให้ กกต. มีอำนาจในการเลื่อนวันเลือกตั้งได้ เหตุเนื่องจากกรณีที่มีวิกฤตการณ์ทางการเมือง ให้มีอำนาจในการควบคุม สั่งการ บังคับบัญชา ข้าราชการในช่วงการเลือกตั้ง ในกรณีที่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ให้ความร่วมมือกับ กกต. หรือมีพฤติการณ์ไม่เป็นกลาง ซึ่งควรให้ กกต. มีอำนาจในการควบคุม หรือสั่งการและดำเนินการทางวินัยโดยตรง เพื่อแก้ปัญหาได้ทันท่วงที และให้คงอำนาจควบคุมและดำเนินการจัดการเลือกตั้ง

2. กระบวนการเลือกตั้ง ทาง กกต. เสนอให้มีการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง เว้นแต่มีความจำเป็นเฉพาะท้องที่หรือมีเหตุอันสมควรอื่น ๆ การใช้เครื่องลงคะแนนเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปใช้สิทธิลงคะแนนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และประหยัดงบประมาณ ให้สำนักงาน กกต. เป็นผู้จัดทำป้ายโฆษณาหาเสียง มีมาตรการป้องกันการใช้ทรัพยากรของรัฐเพื่อให้ได้เปรียบในการเลือกตั้ง และพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นสถาบัน จึงสมควรให้มีบทบัญญัติที่รองรับการดำเนินของพรรคการเมืองให้มีความเป็นมาตรฐาน เป็นประชาธิปไตยและให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม

3. การเลือกตั้งที่สุจริตและยุติธรรม โดย กกต. เสนอว่า ให้คงอำนาจให้ใบแดง ใบเหลือง ใบส้ม ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง เพื่อให้ผู้สมัครและพรรคการเมือง เกิดความเกรงกลัวในการกระทำผิด และหากมีการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง เพราะเหตุจากที่ผู้สมัครรายเดิมได้รับประโยชน์ เนื่องจากพยานหลักฐานการทุจริตไม่เชื่อมโยงกับผู้สมัคร กกต. ก็ควรจะมีอำนาจถอนชื่อผู้สมัครรายนั้นออกได้ด้วย ให้บุคคลที่ กกต. แต่งตั้งในการสืบสวนสอบสวนการทุจริตฯ มีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวน ให้มีศาลเลือกตั้ง เพื่อพิจารณาคดีเลือกตั้งโดยเฉพาะ ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหยุดปฏิบัติหน้าที่เมื่อ กกต. ยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้อำนาจหน้าที่ที่มีผลต่อการพิจารณาคดี และกำหนดให้ผู้สมัครที่ต้องชำระค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้ง แต่มิได้ชำระให้ครบถ้วนเป็นผู้ต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกตั้ง

4. การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยให้คงอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และ 5. ที่มาของ กกต. โดยให้องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาฯ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2550 แต่หากกรรมการสรรหาฯ ไม่มีตัวแทนของฝ่ายการเมือง จะให้การสรรหามีความน่าเชื่อถือและปลอดจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองอย่างแท้จริง และให้มีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี แต่เปลี่ยนวาระเป็นการเฉพาะตัว เพื่อให้การทำงานของ กกต. ต่อเนื่องไม่ขาดตอน

ทั้งนี้ นายบุญส่ง น้อยโสภณ กรรมการการเลือกตั้งด้านการสืบสวนสอบสวน เสนอให้พนักงานสืบสวนสอบสวนของ กกต. มีอำนาจออกหมายเรียก จับกุม ตรวจค้น ยึดเอกสาร ทรัพย์สิน หรือพยานหลักฐาน เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัยชี้ขาด เทียบเท่าพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีการพิจารณาคดีอาญา เพื่อให้ง่ายต่อการเก็บหลักฐานในการทำผิด และสามารถให้ศาลนำสำนวนคดีของ กกต. เป็นหลักในการพิจารณาคดีและวินิจฉัยชี้ขาดเรียกค่าเสียหายทางแพ่งและดำเนินคดีอาญาในคราวเดียวกัน เพื่อลดระยะเวลาในการทำงานให้สั้นลง

ด้าน นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงว่า กรธ. ได้พิจารณารายมาตราในหมวด 3 สิทธิ และเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ที่จะกำหนดหลักการกว้างๆไว้ เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญออกมาสั้นกระชับ ไม่มีปัญหาเรื่องการตีความ โดยหลักการที่บัญญัติในหมวดนี้ เกี่ยวกับการรับรองเสรีภาพโดยรวมของประชาชน ที่จะละเมิดไม่ได้ เว้นแต่การใช้เสรีภาพที่กระทบต่อสังคม ความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย และกระทบต่อผู้อื่น ทั้งนี้ การกำหนดกฎหมายที่จะจำกัดเสรีภาพของประชาชน จะต้องไม่ขัดต่อหลักการที่รัฐธรรมนูญได้รับรองเสรีภาพไว้ และต้องไม่กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และจะต้องไม่จำกัดจนเกินกว่าเหตุ ส่วนกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมที่ได้ออกบังคับใช้ก่อนหน้านี้ ก็มีการกำหนดเงื่อนไขไว้ หากจะมีการชุมนุม จึงไม่ถือว่าเป็นการจำกัดเสรีภาพี่เกินกว่าเหตุ

โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ส่วนพิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ตัวแทนได้นำเสนอต่อที่ประชุมกรธ.เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา ยังมีการเสนอเพิ่มเติมในบางประเด็นเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น กำหนดมาตรการป้องกันความเสียหายต่อรัฐบาล โดยกำหนดการป้องกันความเสี่ยงในโครงการต่าง ๆ และมีการประกันความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต เพิ่มมาตรการคุ้มครองการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตำแหน่งต่าง ๆ รวมทั้งอนุกรรมการไต่สวน และพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อเป็นหลักประกันการทำงานที่เป็นอิสระและปราศจากการแทรกแซง

ทางด้าน นายภัทระ คำพิทักษ์ กรธ. ฐานะ อนุกรรมการรับฟังและสรุปความคิดเห็นที่มีผู้เสนอแนะ กล่าวว่า ที่ประชุมอนุกรรมการมีข้อตกลงให้นำผลการสำรวจความเห็นของประชาชน ซึ่งอดีตกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมูญ ได้จัดรับฟังความเห็นของประชาชน ทั้งในรายละเอียดภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญ และประเด็นเฉพาะมาประกอบการพิจารณาเขียนบทบัญญัติเป็นรายมาตราในร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. ทั้งนี้ ได้นำมาพิจารณาทั้งหมดว่าความเห็นของประชาชนส่วนใดที่เขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาบ้าง ทั้งการคำนึงถึงสัดส่วนเพศตรงข้ามในการส่งสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ประชาชนแสดงความเห็นอาจไม่นำมาบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญทุกประเด็น เพราะต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของที่ประชุม กรธ. อีกครั้ง

รายงานข่าวจากที่ประชุม กรธ. แจ้งว่า ในการรับฟังความคิดเห็นของบุคคลหรือองค์กรต่าง ๆ ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น เบื้องต้นมีมติที่จะเชิญคณะบุคคลและองค์กรภาคเอกชนเข้ามาให้ความเห็นต่อ กรธ. ในการประชุมสัปดาห์หน้าและสัปดาห์ต่อ ๆ ไป อาทิ คณะรัฐมนตรี, สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), หอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นต้น โดยประเด็นสำคัญที่จะขอความเห็นคือประเด็นที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานและข้อเสนอแนะที่ต้องการให้ปรับปรุงเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน









กำลังโหลดความคิดเห็น