xs
xsm
sm
md
lg

คกก.สรรหาเลือกเลขาฯ ศาล รธน. เบียด “จิระ” นั่ง ตลก.คนใหม่แทน “สุพจน์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ปัญญา อุดชาชน เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
ประชุมลับ คกก.สรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เลือกลูกหม้อศาลรัฐธรรมนูญเบียด “จิระ” นั่งตำแหน่งแทน “สุพจน์” ที่อายุครบ 70 ปี พร้อมชง สนช.สอบประวัติก่อนเห็นชอบ

วันนี้ (28 ก.ย.) ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการประชุมคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีนายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฏีกา เป็นประธานเพื่อพิจารณาเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่น จำนวน 1 คน หลังนายสุพจน์ ไข่มุกต์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ครบวาระการดำรงตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ โดยคัดเลือกจากผู้ที่สนใจเข้ารับการสรรหาจำนวน 10 คน มีผู้มาสมัครทั้งสิ้น 10 คน ประกอบด้วย 1. นายสมภพ ระงับทุกข์ อดีตรองปลัดกรุงเทพมหานคร 2. พล.อ.ชนะทัพ อินทามระ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก และหัวหน้าสำนักงานผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 3. นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ 4. นายรัฐกิจ มานะทัต อดีตอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ 5. พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ และอดีต สปช. 6. นายจรัส สุวรรณมาลา อดีตคณะบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทลัย อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 7. นายสามารถ วราดิศัย ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา 8. นายสุชาติ เวโรจน์ อดีตเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง 9. นายปัญญา อุดชาชน เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และ 10. นายเชาวนะ ไตรมาส ที่ปรึกษาด้านวิชาการ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และอดีตเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ประชุมใช้เวลาในการพิจารณาลับกว่า 30 นาที ผลปรากฏว่าที่ประชุมได้ลงมติเลือก นายปัญญา อุดชาชน เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยได้รับคะแนนเสียงจำนวน 2 คะแนน ขณะที่ พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ และอดีต สปช. เป็นผู้ที่มีคะแนนเป็นอันดับรองลงมา โดยได้รับเพียง 1 คะแนนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้ คณะกรรมการสรรหาฯ จะนำรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเสนอต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อทำการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อก่อนที่จะส่งต่อให้ที่ประชุม สนช.พิจารณาให้เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น