xs
xsm
sm
md
lg

ภาค ปชช.บุกยื่นจดหมาย โวยสรรหา กสม.ไม่โปร่งใสตามหลักปารีส สากลไม่ยอมรับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ภาคประชาชน 4 กลุ่มเข้ายื่นจดหมายต่อ กสม. ติงการสรรหาไม่โปร่งใส ขาดการมีส่วนร่วม ไม่เป็นไปตามหลักปารีส การลงคะแนไม่มีการให้เหตุผล ผู้ที่ถูกเลือกจึงไม่ใช่ผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม ทำให้ไม่เป็นที่ยอมรับของสากล กระทบสิทธิประชาชน จี้ กก.สรรหารับผิดชอบ

วันนี้ (16 ก.ย.) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.), สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.), มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, ศูนย์เผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา (ผสพ.) และสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) พร้อมพวกรวม 45 ราย ได้มีจดหมายเปิดผนึกถึงประธานกรรมการสรรหาและกรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เรื่องการสรรหากรรมการ กสม.ชุดที่สาม (รอบสอง) โดยเห็นว่า หลังจาก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อจากคณะกรรมการสรรหา กสม.ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จำนวน 5 คน และมีมติไม่เห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อจำนวน 2 คน และได้ส่งรายชื่อดังกล่าวกลับมายังคณะกรรมการสรรหาฯเพื่อให้ดำเนินการต่อไป โดยคณะกรรมการสรรหาฯได้มีมติให้มีการเปิดรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็น กสม.จำนวน 2 คนนั้น ทางกลุ่มดังกล่าวเห็นว่ากระบวนการสรรหา กสม.ของคณะกรรมการสรรหาฯ ที่ผ่านมานั้นได้รับการท้วงติงจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและสากลว่ากระบวนการสรรหาฯ ไม่เปิดเผยและโปร่งใส ขาดกระบวนการการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่เป็นตามหลักการปารีสซึ่งเป็นหลักการของสหประชาชาติเกี่ยวกับสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ต้องเป็นผู้แทนที่หลากหลายของพลังทางสังคมหรือภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

นอกจากนั้น กระบวนการสรรหาก็ไม่ได้มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการตรวจสอบคุณสมบัติบุคคลที่มีประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ และการเลือกด้วยการลงคะแนนของกรรมการสรรหาแต่ละบุคคลที่ไม่มีการให้เหตุผล หรืออภิปรายร่วมกันเพื่อตัดสินใจ ดังนั้น ผู้ที่ได้รับการสรรหาส่วนใหญ่จึงไม่ใช่ผู้ที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมและมีผลงานการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเป็นที่ประจักษ์ และการสรรหาไม่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล และไม่สามารถตอบได้ว่าบุคคลที่กรรมการสรรหาฯ เลือกมามีคุณสมบัติเป็นไปตามเจตนารมณ์และบทบัญญัติของกฎหมาย ทั้งนี้หากกระบวนการสรรหายังมีแนวปฏิบัติดังที่ผ่านมา จะยิ่งทำให้ความน่าเชื่อถือต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสม.ชุดนี้ไม่เป็นที่ยอมรับในทางสากลทั้งภายในและต่างประเทศ และมีแนวโน้มที่จะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนต่อไป ดังนั้นจึงขอให้คณะกรรมการสรรหาฯ และสถาบันที่กรรมการสรรหาฯเป็นผู้แทนรับผิดชอบต่อความเสียหายดังกล่าว

“ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสรรหาฯ ดำเนินการสรรหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง กสม.โดยให้มีกระบวนการสรรหา คือ 1. ให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานโดยมีองค์ประกอบขององค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน 2. ให้มีการคัดเลือกผู้สมัครให้เหลือไม่น้อยกว่าสองเท่าของจำนวนที่ต้องการจริง 3. ขอให้เปิดเผยรายชื่อและวิสัยทัศน์ของผู้ที่ผ่านการพิจารณาในชั้นต้น เพื่อให้สังคมร่วมตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่ผ่านการพิจารณา และ 4.ขอให้ผู้ที่ผ่านพิจารณาทุกคน นำเสนอวิสัยทัศน์โดยวาจา และให้ประชาชนสามารถเข้าร่วมรับฟังการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้ที่ผ่านการพิจารณาทุกคน และเพื่อให้การสรรหาเป็นไปอย่างเปิดเผยและโปร่งใส” จดหมายดังกล่าวระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น