“บรรจง นะแส” นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลสันติประชาธรรม ประจำปี 2558 ซึ่งมีการประกาศอย่างเป็นทางการไปสดๆ ร้อนๆ สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ญาติมิตร และเครือข่ายภาคประชาชนที่ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกับนายบรรจง นะแส ในการปกป้องทรัพยากร และต่อสู้ต่อความอยุติธรรมทุกรูปแบบ
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะทำงานโครงการเตรียมงานรำลึก 100 ปีชาตกาลศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดย นายเดช พุ่มคชา ประธานคณะกรรมการพิจารณารางวัลสันติประชาธรรม ประจำปี 2558 ได้ส่งหนังสือเรื่องการพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับรางวัลสันติประชาธรรม ประจำปี 2558 มายังเลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้
โดยระบุที่มาที่ไปว่า ด้วยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดตั้ง “รางวัลสันติประชาธรรม” สำหรับบุคคลผู้อุทิศตนเพื่อสังคมตามแนวทางของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ และคุณงามความดีของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ตามแนวคิดสันติประชาธรรม ไปสู่อนุชนรุ่นหลัง จึงได้จัดให้มีการคัดเลือกบุคคลที่ทำงานเพื่อสังคมตามแนวทางสันติประชาธรรม เพื่อรับรางวัลสันติประชาธรรม
คณะกรรมการพิจารณารางวัลสันติประชาธรรม ได้พิจารณาคัดเลือกบุคคลผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมในการรับรางวัลสันติประชาธรรม ตามหลักเกณฑ์การพิจารณา ซึ่งผลของการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ผู้ที่ได้รับรางวัลสันติประชาธรรม เงินจำนวน 500,000 บาท และโล่เกียรติยศ 1 รางวัล ได้แก่ นายบรรจง นะแส และผู้ได้รับรางวัลเกียรติยศสันติประชาธรรม โล่เกียรติยศ 2 รางวัล ได้แก่ นายสนั่น ชูสกุล และนายบำรุง คะโยธา
เส้นทางชีวิตของ “บรรจง นะแส” ในมุมมองของผู้เสนอชื่อเข้าชิงรางวัล
ประวัติการศึกษา / ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ปี 2524 จบการศึกษารัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต (การปกครองท้องถิ่น) จากคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
ปี 2541 จบการศึกษาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (การจัดการสิ่งแวดล้อม) จากคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
ประวัติการทำงาน และหลักการที่ยึดถือในการทำงานตั้งแต่จบการศึกษาปริญญาตรี ในปี พ.ศ.2524 เขาได้ทำงานแก้ปัญหาของชุมชนประมงขนาดเล็กจนถึงปัจจุบันรวมเวลาในการทำงานกับพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านมากว่า 34 ปี โดยมีประวัติการทำงาน ดังนี้
2524-2528 เจ้าหน้าที่สนามโครงการพัฒนาชุมชนประมงบ้านปากบางนาทับ
อ.จะนะ จ.สงขลา
2528-2539 ผู้ประสานงานโครงการพัฒนาชุมชนประมงขนาดเล็ก จ.สงขลา (มูลนิธิส่งเสริมทรัพยากรมนุษย์เพื่อการพัฒนาชุมชน)
2539-ปัจจุบัน ผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย
เกียรติประวัติ ผลงานที่ทำเพื่อส่วนรวม 1.เป็นผู้รวบรวมพี่น้องที่ทำงานพัฒนาในภาคใต้จัดตั้งเป็นชมรมเพื่อนร่วมพัฒนาภาคใต้ และได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิกให้เป็นประธานชมรมเพื่อนร่วมพัฒนาชุมชนภาคใต้ในปี 2526
2.ในปี 2528 องค์กรที่ทำงานพัฒนาชนบทได้รวมตัวกันเป็นองค์กรพัฒนาตามภูมิภาคต่างๆ ได้รับเลือกตั้งจากสมาชิกให้เป็นประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้ ในปี 2532-2 534)
3.ทำงานด้านพัฒนาด้านพัฒนาชนบทโดยเฉพาะกับกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านมาตั้งแต่ปี 2524 อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทำให้เห็นปัญหาของการประกอบอาชีพ การเสียสิทธิ เสียโอกาส ตลอดถึงการถูกละเมิดสิทธิของกลุ่มเกษตรที่เป็นประมงพื้นบ้านตลอด 2 ชายฝั่งในพื้นที่ 13 จังหวัดในภาคใต้เป็นอย่างดี สร้างองค์กรชาวประมงพื้นบ้านจากระดับชุมชนเล็กๆ ในรูปของชมรมชาวประมงพื้นบ้านในระดับพื้นที่ จนพัฒนาองค์กรของชุมชนขึ้นเป็นสมาคมชาวประมงพื้นบ้านที่มีการบริหารจัดการมีฐานะทางนิตินัย และเป็นปากเสียงแทนพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านรวม 17 สมาคมฯ 1 สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศ มีผู้นำมีความรู้ความสามารถ มีรูปธรรมของงานอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งในหลายพื้นที่ ผู้นำได้รับการยกย่องได้รับการยอมรับให้เข้าไปมีบทบาทในสถาบันการศึกษา ตลอดจนเป็นกรรมาธิการในการยกร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องต่อการประมงเป็นต้น
4.เขาเป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติ โดยเฉพาะพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องต่อการประมงปี 2490 ตลอดถึงประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฉบับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อการประมงที่ส่งผลต่อการทำลายทรัพยากรพันธุ์สัตว์น้ำ และทรัพยากรชายฝั่ง และการละเมิดสิทธิของการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านเป็นอย่างดี มีงานเขียนในเชิงบทความที่สะท้อนปัญหาของชุมชนประมงชายฝั่ง และทางออกปรากฏแก่สาธารณะจำนวนมาก ฯลฯ และเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการร่าง พ.ร.บ.ประมงฉบับใหม่ที่เพิ่งประกาศใช้
5.ปัจจุบันทำหน้าที่บริหารองค์กรในตำแหน่งนายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย
6.เคยได้รับการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะในการทำงานมาตลอดเช่นปี 2527 ดูงานด้านสหกรณ์ประมง ประเทศอิตาลี
7.ปี 2529 ศึกษาดูงานด้านพัฒนาชนบท ประเทศบังกลาเทศ/อินเดีย
8.ปี 2538 ศึกษาดูงานด้านพัฒนาชนบท ประเทศตูนิเซีย (แอฟริกา)
9.ปี 2532 ได้รับคัดเลือกเข้าฝึกอบรมในฐานะผู้นำร่วมกับนักพัฒนาของประเทศต่างๆ ในโครงการASIAN NGO LEADERSHIP IDR.BOSTON, U.S.A.
10.ปี 2532 ศึกษาดูงานด้านพัฒนาชนบท ประเทศแคนาดา/ญี่ปุ่น
11.ปี 2541 ศึกษาดูงานด้านพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ประเทศเดนมาร์ก/อังกฤษ/เยอรมนี
12.ปี 2543 ได้รับการคัดเลือกเข้าอบรม THE INTERNATIONAL PROGRAMMES ON THE MANAGEMENT OF SUSTAINABILITY.2543 ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์
- ศิษย์เก่าดีเด่นด้านการพัฒนาสังคมในรอบ 10 ปี ของคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปี 2529
- ศิษย์เก่าดีเด่นพัฒนาสังคมในรอบ 20 ปี ของคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปี 2539
- คณะกรรมการส่งเสริมกิจการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา
- องค์ปาฐก ประจำปี 2546 ของมูลนิธิโกมลคีมทองในหัวข้อเรื่อง “งานพัฒนาคือการปลดปล่อย”
- บุคคลดีเด่นที่มีผลงานด้านพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ของสภาทนายความแห่งประเทศไทย ปี 2548
- บุคคลดีเด่น ด้านพิทักษ์สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ปี 2549
- คณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำชายฝั่งและแร่ ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
- คณะกรรมการสภาวิทยาลัยชุมชนสงขลา
- กรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัดสงขลา
- ศิษย์เก่าดีเด่นด้านสร้างคุณประโยชน์แก่สังคม และสถาบัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประจำปี2557
5.อุดมการณ์ ความเชื่อ ความประพฤติ คุณธรรม จริยธรรม “บรรจง นะแส” เป็นผู้ที่ยืนหยัดในการทำงานอย่างต่อเนื่องชนิดกัดไม่ปล่อย เป็นคนไม่ยอมจำนนต่อปัญหา และอุปสรรค แสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ก้าวผ่านปัญหานั้นๆ ไป มีความกล้าหาญต่อภัยคุกคามอันเป็นผลจากการการทำงาน หรือในยามที่พี่น้องที่เขาทำงานด้วยต้องได้รับผลกระทบ และไม่ได้รับความเป็นธรรม เคยถูกทำร้าย ปองร้าย รวมไปถึงต้องถูกดำเนินคดีจากอำนาจรัฐ แต่เขาก็ไม่ย่อท้อ ไม่ทอดทิ้งพี่น้องจนกาลเวลาได้พิสูจน์ข้อเท็จจริง ว่า การต่อสู้ของพี่น้องนั้นอยู่ในแนวทางของสันติวิธี แต่ก็ไม่ยอมจำนนแม้จะถูกทำร้ายจับกุมคุมขัง ทั้งในกรณีเรือปั่นไฟจับปลากะตัก ในปี 2542 หรือโครงการโรงแยกแก๊ซและท่อส่งแก๊ซไทย-มาเลย์ ซึ่งมีการต่อสู้ในขบวนการยุติธรรม กว่า 10 ปี
การยืนหยัดดังกล่าว รวมทั้งไม่เคยละเลยการเข้าร่วมการเคลื่อนไหวต่างๆ ทั้งในแง่ของการแก้ไขปัญหาของพี่น้องผู้ด้อยโอกาสในสังคมในสาขาอาชีพอื่นๆ หรือเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้างของสังคมตลอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เขายังไม่เปลี่ยนแปลงในการทำงานเพื่อพี่น้องผู้ด้อยโอกาส และผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบในสังคม คุณสมบัติดังกล่าวจึงถือว่าเขาเป็นคนหนึ่งที่มีอุดมการณ์ มีความเชื่อในการใช้ชีวิตเพื่ออุทิศตนเองเพื่อสังคมมาอย่างยาวนานจนเป็นที่ประจักษ์
6.ความเห็นอื่นๆ ของผู้เสนอแสดงให้เห็นว่า ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้สมควรได้รับรางวัล
นอกเหนือจากที่กล่าวมา บรรจง นะแส ยังเป็นนักเคลื่อนไหวที่ไม่หยุดนิ่ง เขาคิดค้นรูปแบบต่างๆ ในการใช้การสื่อสาร หรือเชื่อมต่อกับสาธารณชนเพื่อให้เห็นปัญหาของสังคมที่ดำรงอยู่ในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างน่าทึ่ง การรณรงค์ให้คนในสังคมหันมาสนใจเรื่องปัญหาของทะเล และทรัพยากรชายฝั่ง เขาใช้วิธีการนำเสนอทั้งงานวิชาการที่เขาศึกษาค้นคว้า แต่ที่น่าทึ่งก็คือ เขาแปรงานข้อมูลออกมาในรูปแบบต่างๆ ที่ทำให้คนตระหนัก และเข้าใจปัญหา และทางออกอย่างง่ายๆ โดนใจ เช่น การนำเสนอกรณีการทำการประมงแบบทำลายล้างทะเล การสร้างรูปธรรมในพื้นที่แล้วนำเสนอรูปธรรมของความสำเร็จออกมาอย่างต่อเนื่อง การรุกคืบจัดกิจกรรมที่สังคมสามารถสัมผัสของจริงได้อย่างกิจกรรม “รวมพลคนกินปลา” ที่เขาผลักดันให้เกิดขึ้น ทั้งในระดับพื้นที่ และในระดับประเทศ มีสำคัญที่ทำให้สังคมวงกว้างได้ตื่นตัว และหันมาสนใจปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรในทะเลไทยอย่างกว้างขวาง
การใช้สื่อที่สอดคล้องต่อยุคสมัยก็เป็นอีกเรื่องที่ บรรจง นะแส ให้ความสำคัญ และนำมันมารับใช้งาน และการเคลื่อนไหวของเขาได้อย่างมีพลัง กรณีการสร้างเว็ปเพจที่ชื่อว่า “รวมพลคนกินปลา” ที่วันนี้มีสมาชิกมากกว่า 80,000 คน นับเป็นความสำเร็จที่ทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักต่อปัญหาทรัพยากรในทะเล และวิถีประมงพื้นบ้านที่เขาทำมากว่า 30 ปี การแก้วิกฤตของทรัพยากรทะเลที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากการทำงานจัดตั้งจนเกิดเป็นองค์กรของพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านที่เข้มแข็ง และมีการขยายตัวไปในหลายๆ จังหวัดทั่วประเทศ มีส่วนทำให้พี่น้องประมงพื้นบ้านในพื้นที่ชายฝั่ง 22 จังหวัด ได้มีปากเสียง มีที่ยืน มีตัวตนในสังคมที่ยากจะปฏิเสธได้
โดย นายบรรจง นะแส จะเข้าพิธีรับรางวัลสันติประชาธรรม ประจำปี 2558 ในวันที่ 16 ส.ค.นี้ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์